In Thailand
อธิบดีปภ.ปิดการฝึกป้องกันฯเหตุฉุกเฉิน ทางนิวเคลียร์และรังสีระดับชาติปี2567
ปราจีนบุรี-อธิบดี ปภ.เป็นประธานพิธีปิดการฝึกป้องกันและบรรเทาสาธารภัยฯภัย กรณีเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีระดับชาติประจำปี 2567 (C-MEX 24) ในระหว่างวันที่ 11 - 14 มิถุนายน 2567
วันนี้ 14 มิ.ย. 67 ผู้สื่อข่าว จ.ปราจีนบุรีรายงานว่า ได้รับแจ้ง ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 3 ปราจีนบุรี ต.คำโตนด อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นประธานพิธีปิดการฝึกป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรณีเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีระดับชาติประจำปีพ.ศ. 2567
พร้อมชมการสาธิตการฝึกป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฯ และ มอบนโยบายเสริมประสิทธิภาพการจัดการสาธารณภัยแบบบูรณาการ โดยมีผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย 5 ประเทศ ผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ นายรณรงค์ นครจินดา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี และ นายสหรัฐ วงศ์สกุลวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และผู้แทนหน่วยงานภาคีเครือข่าย เข้าร่วมรับชมการแสดงสาธิตฯ ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 3 ปราจีนบุรี
นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ โดยมุ่งส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคน ซึ่งการลดความเสี่ยงและผลกระทบจากสาธารณภัยผ่านกลไกการฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยถือเป็นอีกหนึ่งมิติในการสร้างคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีให้กับพี่น้องประชาชน
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ร่วมกับสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติจัดการฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรณีเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีระดับชาติ ประจำปี พ.ศ. 2567 ภายใต้การฝึกการบริหารวิกฤตการณ์ระดับชาติ ประจำปี 2567 (C-MEX 24) ในระหว่างวันที่ 11 - 14 มิถุนายน 2567 ณ จังหวัดปราจีนบุรี โดยมีหน่วยงาน 180 หน่วยงาน ทั้งฝ่ายพลเรือน ทหาร ตำรวจ ภาคีเครือข่าย และจังหวัดปราจีนบุรี เข้าร่วมการฝึกฯ กว่า 1,000 คน เพื่อทดสอบการยกระดับการจัดการสาธารณภัย ขนาดใหญ่ (ระดับ 3) และสาธารณภัยร้ายแรงอย่างยิ่ง (ระดับ 4) พร้อมเชื่อมโยงกลไกการจัดการสาธารณภัยภายใต้ระบบบัญชาการเหตุการณ์และโครงสร้างองค์กรปฏิบัติในภาวะฉุกเฉินให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
“ขอขอบคุณหน่วยงานทุกภาคส่วนที่มีความมุ่งมั่นผนึกกำลังอย่างเป็นหนึ่งเดียวในการฝึกฯ ในทุกกิจกรรม และขอให้นำแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) และปัญหาอุปสรรคมาพัฒนาการจัดการสาธารณภัยแบบบูรณาการที่สอดรับกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสอดคล้องกับแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในทุกระดับ ทั้งระดับชาติจังหวัด และท้องถิ่น
โดยเฉพาะระดับจังหวัด ขอให้เชื่อมโยงการฝึกฯ แบบบูรณาการบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในพื้นที่ อีกทั้งขอให้หน่วยงานทุกภาคส่วนให้ความสำคัญการตรวจสอบเครื่องมือ อุปกรณ์ ระบบการสื่อสาร เครื่องจักรกลสาธารณภัยให้พร้อมใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นด้านการจัดการสาธารณภัยและการความปลอดภัยจากสาธารณภัยของภาครัฐให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว” อธิบดี ปภ. กล่าว
ด้านนายสหรัฐ วงศ์สกุลวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า การฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรณีเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีระดับชาติ ประจำปี พ.ศ. 2567 เป็นการฝึกฯ อย่างเต็มรูปแบบครอบคลุมทั้งการบรรยายให้ความรู้ (Academic Session) การฝึกซ้อมเฉพาะหน้าที่(Functional Exercise: FEX) การฝึกปฏิบัติ (Drill) และ การสาธิตการปฏิบัติการ (Demonstration) ภายใต้การจำลองสถานการณ์ภัยซ้ำซ้อนเหตุอุทกภัย สารเคมีรั่วไหล และการตรวจพบวัตถุอันตรายนิวเคลียร์และรังสีในห้วงเวลาเดียวกัน
เพื่อให้ทุกหน่วยงานได้ซักซัอมการปฏิบัติที่สอดคล้องกับภารกิจ แผนและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการฝึกซ้อมเฉพาะหน้าที่ (Functional Exercise: FEX) เป็นการเชื่อมโยงการทำงานของกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ศูนย์ข้อมูลข่าวสารร่วม (Joint Information Centre: JIC)ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด (ศบจ.) ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อำเภอ (ศบอ.) และศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินท้องถิ่น (ศปฉ.ท้องถิ่น) ในการยกระดับการจัดการสาธารณภัย การวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ การสั่งการ อำนวยการ ควบคุม และประสานการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกันในทุกระดับ
สำหรับการฝึกปฏิบัติ (Drill) เป็นการฝึกฯ ที่มุ่งเสริมสร้างศักยภาพการจัดการในภาวะฉุกเฉินให้กับเจ้าหน้าที่ ตั้งแต่การเผชิญเหตุ การค้นหาและกู้ภัย การชำระล้างและเก็บกู้รังสี การปฏิบัติการทางแพทย์ การบริหารจัดการศูนย์พักพิงชั่วคราว และการเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยในพื้นที่เข้าถึงยากด้วยอากาศยานประกอบด้วย สถานีการชำระล้างรังสีและเก็บกู้รังสี สถานีอัคคีภัยและการชำระล้างสารเคมี สถานีการแพทย์ สถานีการบริหารจัดการศูนย์พักพิง และสถานีการเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยโดยอากาศยาน
“การฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรณีเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี ระดับชาติ เป็นการทดสอบกลไกการจัดการในภาวะฉุกเฉินแบบบูรณาการของหน่วยงานทั้งระดับชาติ ระดับจังหวัด และระดับท้องถิ่น รวมถึงยังเสริมสร้างศักยภาพของเจ้าหน้าที่ให้พร้อมปฏิบัติงานตามโครงสร้างและหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็นอีกกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564 – 2570 ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงตอบโจทย์การพัฒนาระบบการเตรียมพร้อมแห่งชาติตามแผนเตรียมพร้อมแห่งชาติและแผนบริหารวิกฤตการณ์ พ.ศ. 2566 – 2570” รองอธิบดี ปภ. กล่าว
มานิตย์ สนับบุญ-ข่าว/ทองสุข สิงห์พิมพ์-ภาพ/ปราจีนบุรี