In Thailand

กระแสทุเรียนวังโป่งดังไกลจนล้งจันทบุรี มาเหมาซื้อยกสวน 



เพชรบูรณ์-ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ “สวนลุงยาว” ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 บ้านซับเปิบ ตำบลซับเปิบ อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งได้ทำการปลูกไม้ผลยอดฮิต ทั้งทุเรียน และ เงาะ ไว้ในพื้นที่ ราว 5 ไร่เศษ ปัจจุบันไม้ผลดังกล่าว ต่างกำลังออกผลผลิต ดกเต็มต้น เตรียมพร้อมสำหรับเก็บจำหน่ายตามฤดูกาล โดยเฉพาะ ทุเรียน ของที่นี่ พบว่ามีความโดดเด่น ในด้านรสชาติ จนทุกคนที่ได้ลิ้มลอง ต่างติดอกติดใจ จนกลายเป็นของดีอำเภอวังโป่ง ที่ต้องมาลิ้มลอง จับจองกันทั้งปี เลยทีเดียว

โดย นายทองเลื่อน ขันโท อายุ 47 ปี อาศัยอยู่เลขที่ 224 หมู่ 8 บ้านซับเปิบ ต.ซับเปิบ อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ เจ้าของ “สวนลุงยาว” เปิดเผยว่า เดิมทีครอบครัวของตน มีอาชีพทำการเกษตร ปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพด และต่อมา ได้หันมาปลูกหน่อไม้ฝรั่ง แต่ก็ยังต้องประสบปัญหาทุกปี จึงได้เปลี่ยนแนวคิด หันมาปลูกไม้ผลยืนต้น โดยปรับพื้นที่ราว 5 ไร่เศษ แบ่งสัดส่วนปลูก ต้นทุเรียน พันธ์หมอนทอง รวม 110 ต้น และ ปลูกต้นเงาะโรงเรียน จำนวน 50 ต้น พร้อมวางระบบน้ำอย่างทั่วถึงตลอดทั้งแปลง หมั่นดูแลรักษาเป็นอย่างดี จนย่างเข้าปีที่ 6 ก็เริ่มให้ผลผลิตสมบูรณ์เต็มที่ ซึ่งในปีนี้ก็เข้าปีที่8 สามารถเก็บผลผลิตจำหน่าย สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว  โดยเฉพาะทุเรียนในปีนี้ให้ผลผลิตดกเต็มต้น มากกว่าปีที่แล้ว ซึ่งสวนฯ เปิดจำหน่ายในราคาเดียว คือ กิโลกรัมละ 130 บาท ในราคาส่งให้พ่อค้าคนกลาง เหมาทั้งสวนเลย

นายทองเลี่อน ขันโท (ลุงยาว) กล่าวต่อว่า ผลไม้ที่สวนของตน มักได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก เพราะปลูกอยู่ในพื้นที่เหมาะสม สภาพอากาศเอื้ออำนวย และมีการบริหารจัดการ ดูแลสวนเป็นอย่างดี ทำให้ผลผลิตที่ได้ มีความโดดเด่น และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น เงาะโรงเรียน จะมีความหวาน กรอบ อร่อย เปลือกบาง และโดยเฉพาะ ทุเรียน ต่างได้รับการยืนยันจากทุกคนที่ได้ชิมแล้วว่า มีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ หวาน มัน กลมกล่อม และมีกลิ่นหอม จนมีพ่อค้าจากจังหวัดจันทบุรีมาเหมาสวนกันเลยทีเดียว ทำให้ปีนี้ผลผลิตที่ออกมา ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ลูกค้าที่ต้องการต่างผิดหวัง แต่เจ้าของสวนก็ยิ้มได้กับรายได้ที่ได้รับ ถึงกับบอกว่าปีหน้ามาจองใหม่นะจะแบ่งต้นทุเรียนให้คนวังโป่งทาน 

ด้าน นายวิชิต  ใจเฉื่อย  เกษตรอำเภอวังโป่ง กล่าวว่า ทางเกษตรอำเภอวังโป่งได้มีการส่งเสริมให้ปลูกทุเรียนปี 60 61 ประมาณ 150 ไร่เกษตรกรลงโครงการ 50 ราย ตอนนี้ก็ก็เริ่มได้ผลผลิตแล้วตอนนี้ก็มีแนวทางการส่งเสริมก็คือจะพัฒนาให้ทุเรียนบ้านเรามีมาตรฐาน gap ในส่วนปีนี้ก็มีกรมวิชาการทางการเกษตรเข้ามาร่วมด้วย

ส่วน นางสาวเพ็ญรัตน์ เทียมเพ็ง  นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบูรณ์ กรมวิชาการเกษตร เผยว่า ทางกรมวิชาการการเกษตรโดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบูรณ์ปีนี้จะได้นำทุเรียนของอำเภอวังโป่งซึงดูพื้นที่ปลูกให้ผลผลิตให้มากที่สุดของพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์จะได้นำไปวิเคราะห์คุณภาพเพื่อนำไปเป็นทุเรียนอัตลักษณ์ประจำจังหวัดจังหวัดเพชรบูรณ์มีคุณภาพทุเรียนพันธุ์หมอนทองรสชาติยังไงความเด่นยังไงและนำผลผลิตทุเรียนไปวิเคราะห์ที่กรมวิชาการเกษตรที่กรุงเทพฯ

เดชา มลามาตย์  ภาพข่าว