In Bangkok
กทม.เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์โควิด19 ในกลุ่มผู้สูงอายุและสถานศึกษา
กรุงเทพฯ-นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงแนวโน้มสถานการณ์ผู้ป่วยโควิด 19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มเด็กนักเรียนในสถานศึกษา รวมทั้งการประสานความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 9 - 15 มิ.ย. 67 พบผู้ป่วยโควิด 19 รายใหม่ 7,126 คน ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 419 คน ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 500 คน เสียชีวิต 2 คน ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยทำงาน มีผู้ป่วยวัยเรียนประมาณร้อยละ 10 ของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด ทั้งนี้ สนอ. ได้ประสานขอความร่วมมือเฝ้าระวังป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้แก่ การคัดกรองเด็กก่อนเข้าโรงเรียน วิธีปฏิบัติเมื่อพบเด็กป่วย วิธีการจัดการภายในโรงเรียน การปฏิบัติตัวเมื่อป่วย ไปยังศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ทุกแห่ง สำนักการศึกษา สำนักพัฒนาสังคม สำนักงานเขต พร้อมทั้งเฝ้าระวังสถานการณ์โรคโควิด 19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ จากรายงานของสถานพยาบาลต่าง ๆ เพื่อติดตาม ประเมินสถานการณ์ และเตรียมความพร้อมรับมือการระบาดของโรคตั้งแต่ระยะเริ่มต้น
นอกจากนี้ สำนักงานโรคติดต่อทางสาธารณสุข สนอ. และศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ทั้ง 69 แห่ง ได้ติดตามสถานการณ์และจัดทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) เพื่อให้บริการสอบสวนและควบคุมโรคกรณีเกิดการระบาดของโรคโควิด 19 รวมทั้งเตรียมความพร้อมยาและเวชภัณฑ์ในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด 19 และโรคระบบทางเดินหายใจต่าง ๆ อีกทั้งได้ประสานความร่วมมือสถานศึกษาในพื้นที่ให้ความรู้และสุขศึกษาแก่บุคลากรของสถานศึกษา เพื่อประชาสัมพันธ์ความรู้ให้สุขศึกษาแก่นักเรียน ผู้ปกครอง ครูและบุคลากรที่ปฏิบัติงานในโรงเรียนในการดูแลรักษาสุขภาพ ป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากเชื้อโควิด 19 ทุกสายพันธุ์ ด้วยการสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี หมั่นล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงสถานที่แออัดที่มีคนรวมตัวจำนวนมาก ตลอดจนให้คำแนะนำวิธีปฏิบัติกรณีติดเชื้อโควิด 19 สนับสนุนสื่อประชาสัมพันธ์ความรู้โรคติดต่อและการป้องกัน เช่น โปสเตอร์ แผ่นพับ แผ่นปลิว สื่ออินเทอร์เน็ตให้ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ส่วนสถานศึกษา ได้มีมาตรการสำหรับนักเรียน ครู และบุคลากร ดังนี้ (1) จัดจุดคัดกรองเด็กนักเรียน ครู บุคลากรก่อนเข้าสถานศึกษา เช่น วัดอุณหภูมิร่างกาย ให้นักเรียนล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจล รวมทั้งคอยสังเกตอาการป่วยของเด็กนักเรียน หากพบเด็กป่วยด้วยอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ปวดศีรษะ ไข้ ไอ น้ำมูกไหล หายใจลำบาก เจ็บคอ เป็นต้น ให้ตรวจคัดกรองด้วยชุดตรวจ ATK แยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ ไม่ให้คลุกคลีและใช้สิ่งของร่วมกับเด็กปกติ โดยจัดให้อยู่ในห้องแยก ห้องพยาบาลจัดจุดเด็กป่วย หรือสถานที่ที่เตรียมไว้โดยแจ้งผู้ปกครองมารับทันทีและพาไปพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยตรวจรักษา และให้หยุดเรียนรักษาตัวที่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ (2) ปฏิบัติตามมาตรการหลัก (DMHT) ได้แก่ เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล (Distancing) อย่างน้อย 1 - 2 เมตร สวมหน้ากากอนามัย (Mask) กรณีเข้าไปในสถานที่ที่มีคนแออัด พื้นที่ปิด โดยเฉพาะผู้ป่วย หมั่นล้างมือ (Hands Washing) ด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย (Temperature check) และสังเกตอาการ (3) จัดให้มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาด เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ อย่างเพียงพอ (4) ทำความสะอาดห้องเรียน พื้นผิวสัมผัส หรือพื้นที่ใช้งานร่วมกันบ่อย ๆ ทุกวัน อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง โดยใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ หรือน้ำยาซักผ้าขาวผสมในอัตราส่วน 1 ส่วน/น้ำสะอาด 20 ส่วน (5) ควรจัดสถานที่ที่มีการเรียนการสอนให้ระบายอากาศที่ดี หากมีข้อจำกัดควรเน้นย้ำให้นักเรียนและบุคลากรในห้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการติดเชื้ออื่น ๆ และ (6) หากพบเด็กป่วยสงสัยติดเชื้อโควิด 19 ให้เข้ารับการรักษาสถานพยาบาลตามสิทธิการรักษาพยาบาล หรือหากพบเด็กป่วยเป็นกลุ่มก้อนควรเฝ้าระวังและสังเกตอาการป่วย หากพบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อน (Cluster) หรือตั้งแต่ 5 รายขึ้นไปประสานพยาบาลอนามัยโรงเรียน ศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อสอบสวนโรคและเฝ้าระวังป้องกันไม่ให้โรคระบาดในวงกว้าง