In Bangkok
ใน30มิ.ย.นี้ยกเลิกผู้ค้าหน้าตลาดสะพาน2 ชมแยกขยะโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์
กรุงเทพฯ-นับถอยหลัง 30 มิ.ย.นี้ ยกเลิกผู้ค้าหน้าตลาดสะพาน 2 สุ่มวัดฝุ่นจิ๋วรอบ 2 ไซต์ก่อสร้างบางกอกสาทรโฮเทล ชมคัดแยกขยะโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ เทียบอัตราค่าธรรมเนียมกำจัดขยะ ปั้นสวนหย่อมทางลงทางพิเศษสาทร
(25 มิ.ย.67) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตสาทร ประกอบด้วย
ตรวจการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณหน้าตลาดสะพาน 2 ถนนจันทร์ ซึ่งเป็นการติดตามความก้าวหน้าในการจัดระเบียบต่อเนื่องจากวันที่ 8 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งจุดดังกล่าวอยู่ในกลุ่มเป้าหมายที่เขตฯ จะดำเนินการยกเลิกพื้นที่ทำการค้า ผู้ค้าส่วนใหญ่จำหน่ายอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน และสินค้าเบ็ดเตล็ด โดยเขตฯ ได้เชิญผู้ค้ามาประชุมสร้างความเข้าใจในการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า พร้อมทั้งจัดหาสถานที่ใกล้เคียงเพื่อรองรับผู้ค้าในจุดดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว ผู้ค้ายังคงทำการค้าได้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2567 จากนั้นจะย้ายผู้ค้าทั้งหมดเข้าไปทำการค้าในจุดที่เขตฯ จัดเตรียมไว้รองรับต่อไป ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 8 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 184 ราย ดังนี้ 1.ตลาดเจซี ถนนจันทน์ ผู้ค้า 42 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 12.00-20.00 น. 2.ถนนสาทรใต้ ซอย 11 ผู้ค้า 15 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-16.00 น. 3.หน้าตลาดกิตติ ถนนเซนต์หลุยส์ ผู้ค้า 46 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-14.00 น. 4.หน้าถนนสวนพลู ผู้ค้า 14 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-18.00 น. 5.หน้าตึกทีพีไอ ถนนจันทน์ ผู้ค้า 15 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-14.00 น. 6.หน้าตลาดสะพาน 2 ผู้ค้า 14 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-14.00 น. 7.หน้าโรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย ผู้ค้า 11 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-18.00 น. และ 8.ถนนพระรามที่ 4 (สะพานลอยคู่) ผู้ค้า 27 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-20.00 น. เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา เขตฯ ดำเนินการยกเลิกจุดทำการค้าแล้ว จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1.ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ซอย 11 ผู้ค้า 5 ราย 2.ถนนสาทรใต้ ซอย 13 ผู้ค้า 12 ราย ซึ่งในปี 2567 เขตฯ จะดำเนินการยกเลิกจุดทำการค้าเพิ่มเติมอีก 3 จุด ได้แก่ 1.หน้าถนนสวนพลู ผู้ค้า 14 ราย 2.หน้าตลาดสะพาน 2 ผู้ค้า 14 ราย 3.ถนนพระรามที่ 4 (สะพานลอยคู่) ผู้ค้า 27 ราย กำหนดยกเลิกตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2567 เป็นต้นไป
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการบางกอก สาทร โฮเทล ดำเนินการโดย บริษัท สยามมัลติคอน จำกัด ซึ่งเป็นการก่อสร้างอาคารความสูง 35 ชั้น ชั้นใต้ดิน 1 ชั้น จำนวน 1 อาคาร ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่เมื่อเดือนมีนาคม 2567 รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการให้ล้างทำความสะอาดล้อรถบรรทุกและรถโม่ปูนก่อนออกจากโครงการ เปิดเครื่องฉีดพ่นละอองน้ำบริเวณโดยรอบตลอดเวลาการทำงาน ตรวจวัดค่าควันดำตามรอบที่กำหนดอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งผู้ประกอบการได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ให้ผู้ประกอบการติดตั้งเครื่องตรวจวัดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กเพิ่มเติม พร้อมจอแสดงผลให้เห็นเด่นชัดบริเวณด้านหน้าทางเข้าออกโครงการ พร้อมทั้งมอบหมายให้เขตฯ จัดทำแผนปฏิบัติการและลงพื้นที่ตรวจสอบสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง อาทิ สถานประกอบการ/โรงงาน 25 แห่ง สถานที่ก่อสร้าง 6 แห่ง การตรวจวัดควันดำในสถานที่ต้นทาง 3 แห่ง รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ป้องกันไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ มีบุคลากร 1,400 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล คัดแยกทิ้งใส่ถังขยะสำหรับขยะรีไซเคิล เช่น แก้วพลาสติก กระป๋อง กล่องกระดาษ 2.ขยะอินทรีย์ คัดแยกเศษอาหารใส่ถังขยะรองรับเศษอาหาร 3.ขยะอันตราย คัดแยกทิ้งในถังขยะที่รองรับขยะอันตราย เช่น หลอดไฟ ยาหมดอายุ 4.ขยะทั่วไป คัดแยกใส่ถังขยะสำหรับขยะทั่วไป นำไปไว้ห้องพักขยะรวม เพื่อรอเขตฯ เข้าจัดเก็บ ในส่วนของปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 3.95 ลูกบาศก์เมตร/วัน หลังคัดแยก 3 ลูกบาศก์เมตร/วัน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 700 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 250 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 300 กิโลกรัม/เดือน ขยะติดเชื้อหลังคัดแยก 6,000 กิโลกรัม/เดือน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำในการคัดแยกประเภทต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งปริมาณขยะที่คัดแยกจะมีผลต่ออัตราค่าธรรมเนียมในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย สำหรับอัตราค่าธรรมเนียมในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย ตามร่างข้อบัญญัติฯ ค่าธรรมเนียม พ.ศ. ... (ฉบับใหม่) ดังนี้ 1.ปริมาณขยะไม่เกิน 20 ลิตร/วัน หรือไม่เกิน 4 กิโลกรัม/วัน ไม่คัดแยกขยะ คิดค่าธรรมเนียมเต็ม 60 บาท/เดือน ถ้าคัดแยกขยะและลงทะเบียนตามเงื่อนไขที่กรุงเทพมหานครกำหนด คิดค่าธรรมเนียมขั้นต่ำ 20 บาท/เดือน 2.ปริมาณขยะเกิน 20 ลิตร/วัน แต่ไม่เกิน 1 ลูกบาศก์เมตร/วัน หรือเกิน 4 กิโลกรัม/วัน แต่ไม่เกิน 200 กิโลกรัม/วัน คิดเป็นหน่วยๆ ละ 20 ลิตร หรือ 4 กิโลกรัม อัตราค่าธรรมเนียม 120 บาท/หน่วย 3.ปริมาณขยะเกิน 1 ลูกบาศก์เมตร/วัน หรือเกิน 200 กิโลกรัม/วัน คิดเป็นหน่วยๆ ละ 1 ลูกบาศก์เมตร หรือ 200 กิโลกรัม อัตราค่าธรรมเนียม 8,000 บาท/หน่วย
สำรวจสวน 15 นาที สวนหย่อมทางลงทางพิเศษสาทร ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) ซึ่งเขตฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์พัฒนาให้มีความร่มรื่นสวยงาม จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1.สวนหย่อมและลานกีฬาใต้ทางด่วนซอยอยู่ดี พื้นที่ 7 ไร่ 84 ตารางวา 2.สวนหย่อมเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา พื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน 42 ตารางวา สวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ 1.สวนสวยในสุสานแต้จิ๋ว พื้นที่ 86 ไร่ 2 งาน 38 ตารางวา 2.สวนหลังตลาดแสงจันทร์ พื้นที่ 1 ไร่ 11 ตารางวา 3.ศูนย์เรียนรู้เขตสาทร (โครงการโคกหนองนา ใจกลางเมือง) พื้นที่ 2 ไร่ 2 งาน 4.สวนหย่อมสี่แยกถนนเจริญราษฎร์ตัดถนนจันทร์ (Dog Park) พื้นที่ 3 งาน 17 ตารางวา 5.ลานอเนกประสงค์ ศูนย์การค้าวรรัตน์ พื้นที่ 2 งาน 31 ตารางวา 6.สวนหย่อมทางลงทางพิเศษสาทร พื้นที่ 1 ไร่ 95 ตารางวา อยู่ระหว่างปลูกต้นไม้ 7.สวนสุขใจ @ บ้านแบบ พื้นที่ 1 ไร่ 88 ตารางวา ซึ่งเป็น 1 ใน 72 สวนหย่อมขนาดเล็กในรูปแบบ Pocket Park อยู่ระหว่างจัดทำสวน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่เพื่อจัดทำสวน 15 นาที ออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในสวนให้ตรงกับความต้องการของชุมชน โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับอย่างแท้จริง
ในการนี้มี นายชาติชาย กุละนำพล ผู้อำนวยการเขตสาทร พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตสาทร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล