Think In Truth

'พระสุธนมโนราห์' ตำนาน...แห่งการจัดระเบียบสังคม โดย : ฟอนต์ สีดำ



"พระสุธน มโนราห์" หรือในละครโทรทัศน์บางเวอร์ชั่นสะกดว่า "พระสุธน มโนราห์" เป็น นิทานพื้นบ้านที่มีเค้าโครงเรื่องมาจากชาดกเรื่อง สุธนชาดก ชาดกย่อยเรื่องหนึ่งใน ปัญญาสชาดก โดยตัวละครเอกของเรื่องนี้คือเรื่อง พระสุธน โอรสของท้าวอาทิตยวงศ์แห่งเมืองอุดรบัญจาลนคร ที่ออกผจญภัยเพื่อตามหา นางมโนราห์ ราชินีชาวกินรีที่หนีออกจากเมือง ตามคำสาปแช่งของนางมโนราห์ที่สาปแช่งไว้ในอดีตชาติ ครั้งที่กำเนิดเป็น พระรถเสน และ นางเมรี ซึ่งเรื่องนี้เป็นวรรณกรรมที่นิยมมากในอดีต ซึ่งมีหลักฐานปรากฎว่าว่าถูกนำไปดัดแปลงเป็นการแสดงหลากหลายรูปแบบ อาทิเช่น ละครนอกในสมัยอยุธยา, ละครชาตรีในสมัยปัจจุบัน เป็นต้น

เรื่องย่อของพระสุธน มโนราห์ มีดังนี้ พระเจ้าอาทิตยวงศ์ กษัตริย์แห่งเมืองอุดรบัญจาลนคร พระมเหสีชื่อพระนางจันทราเทวี ต่อมาพระมเหสีประสูติพระราชโอรส ก็บังเกิดขุมทองสี่ขุมขึ้นที่มุมปราสาทสี่มุม พระเจ้าอาทิตยวงศ์จึงประทานนามว่า " พระสุธน " (แปลว่ามีทรัพย์อันประเสริฐ) บ้านเมืองก็เจริญรุ่งเรืองเป็นอันมาก พระสุธนราชกุมารก็ศึกษาวิชาการ มีฝีมือทางการยิงธนู

วันหนึ่งนายพรานบุณฑริกชาวเมืองปัญจาลนครเข้าไปล่าสัตว์ในป่าลึก พบกลุ่มนางกินนรพี่น้องเจ็ดตนมาเล่นน้ำที่สระอโนดาต นายพรานแอบเก็บปีกหางของนางกินนรไว้ชุดหนึ่ง เมื่อนางกินนรทั้งเจ็ดเมื่อเล่นน้ำเสร็จก็กลับขึ้นมาใส่ปีกใส่หาง นางมโนราห์น้องสาวคนสุดท้องหาปีกหาหางของตนไม่พบจึงไม่สามารถบินกลับได้ พี่ ๆ ทั้งหกก็จำต้องทิ้งนางไป

พรานบุณฑริกจึงนำบ่วงมาคล้องนางไปและนำไปถวายพระสุธน พระสุธนยินดีมากจึงประทานทองคำและแก้วแหวนเงินทองให้แก่นายพราน พระเจ้าอาทิตยวงศ์และนางจันทราเทวีก็จัดงานอภิเษกสมรสพระสุธนกับนางมโนราห์

ต่อมามีข้าศึกยกมาตีเมืองปลายเขตแดน พระสุธนจึงต้องยกทัพไปปราบ พราหมณ์ปุโรหิตผู้หนึ่งซึ่งเคยคุ่นเคืองใจกับพระสุธนก็แกล้งเพ็ดทูลพระเจ้าอาทิตยวงศ์ว่านางมโนราห์เป็นกาลกิณี ควรจะจัดบูชายัญเพื่อให้บ้านเมืองเป็นสุข พระเจ้าอาทิตยวงศ์ไม่เต็มพระทัย เพราะทรงทราบว่าดีนางมโนราห์เป็นที่รักอย่างยิ่งของพระสุธน แต่ขัดข้อเสนอแนะของเสนาอำมาตย์ไม่ได้ จึงจำพระทัยจัดพิธีบูชายัญ นางมโนราห์เมื่อทราบก็ยินยอมให้ฆ่าบูชายัญ แต่ขอปีกขอหางมาประดับเพื่อร่ายรำบูชา พระนางจันทราเทวีก็รีบนำปีกและหางของนางกินนรซึ่งพระสุธนฝากไว้มาให้ นางมโนราห์ร่ายรำแล้วบินหนีบินกลับไปยังเขาไกรลาสถิ่นที่อยู่

ระหว่างทางมโนราห์ได้แวะมากราบพระฤๅษีกัสสปในป่า และฝากผ้ากัมพลและพระธำมรงค์ ผงวิเศษ และใบไม้วิเศษไว้ให้พระสุธน และได้ฝากความไปถึงพระสุธนว่าไม่ควรตามนางไปเพราะหนทางยากลำบากมาก แล้วนางมโนราห์ก็กราบลาพระฤษีบินกลับไปยังเขาไกรลาส ท้าวทุมราชบิดาของนางถึงแม้จะยินดีที่นางกลับมาแต่เนื่องจากนางไปอยู่โลกมนุษย์เป็นเวลานาน จึงให้นางอยู่ในปราสาทแยกไปต่างหาก และเมื่อครบเจ็ดวันตามเวลาของเขาไกรลาสก็จะทำพิธีมงคลชำระสระสรงเพื่อให้นางมดกลิ่นสาบของมนุษย์

ฝ่ายพระสุธนเมื่อชนะศึกกลับพระนคร และรู้ว่านางมโนราห์บินหนีไปแล้วก็เสียพระทัยมาก รีบทูลลาพระราชบิดาและพระราชมารดาเพื่อติดตามนางมโนราห์ พระสุธนเดินทางไปพบพระฤๅษีกัสสปและได้ทราบความที่นางฝากไว้ พระสุธนมิได้ย่อท้อ ออกเดินทางและต้องผ่านอุปสรรคแสนสาหัส ไม่ว่าจะเป็นฝูงนกนกหัสดีลิงค์ (นกยักษ์) พญาคชสาร ภูเขาพินาศ (ภูเขาที่จะกระทบกันทุกครั้งที่มีการเคลื่อนไหว) พญายักษ์ พญางูเหลือม ผีเสื้อสมุทร และป่าหวาย พระสุธนต้องใช้เวลาเดินทางนานถึง 7 ปี 7 เดือน และ 7 วัน ก็มาถึงเขาไกรลาส พระสุธนจึงซ่อนตัวอยู่ที่ใต้ต้นไม้ริมสระน้ำ ไม่ช้าก็มีนางกินรีบริวารถือหม้อทองคำมาตักน้ำที่สระ พอถึงคนสุดท้ายพระสุธนก็บันดาลให้นางยกหม้อทองคำไม่ขึ้น แล้วออกมาช่วยยกให้และได้แอบใส่พระธำรงค์ ลงในหม้อน้ำนั้น

เมื่อนางกินรีบริวารสรงน้ำให้นางมโนราห์ถึงนางกินรีคนสุดท้ายรดน้ำเหนือศีรษะนางมโนราห์ พระธำรงค์ก็หล่นลงมากับสายน้ำ นางมโนราห์ยกมือขึ้นลูบหน้าแหวนธำรงค์ก็สวมเข้าที่นิ้วก้อยพอดี นางทราบทันทีว่าพระสุธนตามมาถึงแล้ว จึงให้นางกินรีดูแลพระสุธน และส่งเครื่องนุ่งห่มและเครื่องประดับไปให้ แล้วนางมโนราห์ก็นำความทูลพระบิดาและพระมารดา ท้าวทุมราชจึงให้พระสุธนมาเข้าเฝ้าและให้แสดงฝีมือยิงธนู ซึ่งเป็นที่ถูกพระทัยท้าวทุมราช แต่ก็ยังมีการทดสอบอีกขั้นหนึ่ง โดยให้พระธิดาทั้งเจ็ดพระองค์แต่งกายงดงามเหมือนกันและมานั่งสลับกันอยู่ ท้าวทุมราชให้พระสุธนชี้นางมโนราห์ให้ถูกต้อง ธิดาทั้งเจ็ดองค์เหมือนกันมากจนยากที่จะชี้ตัวได้ พระสุธนจึงตั้งสัจจาธิษฐานว่า ถ้าในชาติก่อนไม่เคยคบหากับภรรยาของผู้อื่นมีจิตใจมั่นคงที่นางคนเดียวแล้ว ขอให้จำนางได้ พระอินทร์จึงแปลงกายเป็นแมลงวันทองบินรอบศีรษะนางมโนราห์

พระสุธนก็ชี้นางมโนราห์ได้ถูก ท้าวทุมราชมีความยินดีจัดงานอภิเษกพระสุธนกับนางมโนราห์ แล้วพระสุธนก็ขอลาท้าวทุมราชพานางมโนราห์กลับไปเมืองอุดรบัญจาลนคร พระอาทิตยวงศ์ดีพระทัยเป็นอย่างยิ่ง จัดการตกแต่งพระนคร และทำการอภิเษกพระสุธนกับนางมโนราห์ให้ครองราชสมบัติเมืองอุดรบัญจาลนคร สืบต่อไป.

หากเราจะพิจารณาจากโครงเรื่องและบทบาทของตัวละคร  เราก็จะพบว่า   โครงเรื่องในบางตอน   จะคล้ายๆ  กันกับชาดกนอกณิบาต ในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่า “นางไข่ฟ้า กับ หมาเก้าหาง” ซึ่งเป็นชาดกนอกนิบาต ในภูมิภาคอีสาน ในตอนที่พระสุธนตามนางมโนราห์ไปยังเขาไกลาส และได้รับความช่วยเหลือจากสัตว์ป่าชนิดต่างๆ รวมทั้งแมลง การสื่อในลักษณะอย่างนี้ เราสามารถตีความได้ว่า วัฒนธรรมในการประพันธ์ได้รับอิทธิพลมาจากภาคอีสาน ที่สื่อถึงกฏแห่งกรรมตามหลักของพุทธศาสนานิกายเถระวาท ที่ไม่ยึดในเรื่องของเหตุผลแบบเบ็ดเสร็จ แต่ยังสื่อถึงบาป บุณ คุณ โทษ ที่เป็นเรื่องของกรรม ที่อธิบายผ่านบุญญาธิการ และบารมี

ในเรื่อง ได้เอ่ยถึงเมือง อุดนปัญจาลนคร ซึ่งมันพร้องกับ เปงจาลนคร ในชาดกนอกนิบาต เรื่อง “สังข์สินไซ” ซึ่งปัจจุบันเชื่อว่าถูกน้ำท่วมและจมอยู่ในดิน ในยุคตำนานปลาไหลเผือกของชาวเชียงแสน หรือตำนานพระเจ้าองค์ตื้อ ซึ่งก็ได้เอ่ยถึงการเกิดน้ำท่วม ทำให้เมืองเสียหาย เนื่องจากเมืองเปงจาลนครก็อยู่ในลุ่มน้ำโขงเหมือนกัน ก็จะได้รับผลกระทบจากการที่มีน้ำเหนือจากประเทศจีนไหลบ่ามาท่วม จนทำให้เมืองเปงจาลจมลงไปในน้ำและถูกโคลนทับถม ซึ่งก็พร้องกับจารึกในกำแพงนครวัด ที่มีข้อความ “เชง ฌาล สยัม กุก” ซึ่งคำว่า “เชง ฌาล” น่าจะเอ่ยถึงเมืองเปงจาลนคร ที่อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดหนองคาย ที่ยักษ์กุมพันได้ยกทัพไปจับนางสุมณฑา มาจากเปงจาลนคร และท้าวสินไซ ได้ยกทัพมานำน้าสาวกลับพระนคร แต่น้าสาวไม่กลับ และได้ปกครองอโนราชนคร หรือเมืองเสียมเรียบ การเอ่ยถึงเมืองที่มีความเชื่อมโยงกัน ก็เป็นประเด็นสำคัญในการที่จะทำให้นักวิชาการไทยได้สืบค้นและศึกษาประวัติศาสตร์ได้อย่างถูกต้องมากขึ้น

การสืบทอดเรื่องราวพระสุธน มโนราห์ ในภาคอีสาน มีการสืบทอดกันด้วยศิลปะหมอลำ ที่เล่าเรื่องตั้งแต่ต้น จนจบ ซึ่งจะมีการแสดงในวันงานต่างๆ ผ่านคณะหมอลำที่มีความสามารถ ซึ่งทางสังคีตอีสานได้จัดการแสดงเพื่อสืบทอดอย่างนี้ว่า เป็นลำมโนราห์ ซึ่งคณะหมอลำที่สามารถแสดงลำมโนราห์ได้นั้น มีไม่มากนัก เพราะบทกลอนลำนั้นยาก มีคนประพันธ์น้อย การแสดงต้องใช้อุปกรณ์ประกอบการแสดงมาก โดยเฉพาะฉาก ที่ต้องสลับกันระหว่างเมืองกับป่า เครื่องแต่งกายที่อลังการ คณะหมอลำที่สามารถลำมโนราห์ได้ ต้องลงทุนค่อนข้างสูง แต่คณะที่สามารถเล่นได้ ก็มักจะได้รับความนิยมมาก ถ้าจำไม่ผิด คณะสุดท้ายที่สามารถแสดงหมอลำมโนราห์คือ “คณะบานเย็น รากแก่น” การรำมโนราห์ที่เป็นวัฒนธรรมทางภาคใต้ของประเทศไทย ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางภูมิปัญญาที่ไม่สามารถจับต้องได้นั้น ถ้าจะวิเคราะห์ให้ถึงรากเหง้า เป็นศิลปะวัฒนธรรมที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะวัฒนธรรมอีสาน เพียงแต่คณะรำมโนราห์ทางภาคใต้ มีการลงทุนในการแสดงที่ต่ำกว่าคณะหมอลำอีสาน คณะรำมโนราห์ จึงสามารถให้ศิลปะรำมโนราห์ในการรับใช้ประเพณีงานต่างๆ ได้ และการแต่งกายของมโนราห์ ที่มีเล็บยาวๆ นั้นเป็นเครื่องชี้ที่ชัดเจนว่า เป็นเครื่องแต่งการในการแสดงฟ้อนรำทางอีสาน

จากความสัมพันธ์ถึงอิทธิพลการแผ่วัฒนธรรมการรำมโนราห์ ก็สามารถที่จะตีความได้ว่า อาณาจักรสักกะ(แคว้นกำเนิดศาสนาพุทธ) หรืออิทธิพลของศาสนาผี นอกจากจะมีอยู่ในภาคอีสาน ภาคเนือ ภาคตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว ยังมีอิทธิพลลงไปถึงคาบสมุทรอินโดจีน ความเชื่อและการเคารพพระอินทร์ ครอบคลุมพื้นที่ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียอาคะเนย์ ดังนั้น ศาสนาผี มีอิทธิพลสูงมากต่อความรู้สึก นึกคิดของคนเอเชีย

ตำนานพระสุธน มโนราห์ จึงไม่ใช่ตำนานที่ประพันธ์ขึ้นมาเพื่อกล่อมสังคมให้มีความสุขกับการเสพเรื่องราว เท่านั้น เป็นเป็นตำนานที่สื่อถึงศิลปะ วัฒนธรรม ที่แสดงออกถึงวิถีชีวิตของคนในยุคก่อน อีกทั้งยังส่อถึงความเชื่อที่เป็นรากเหง้าแห่งการสร้างระเบียบทางสังคมในแง่มุมต่างๆ ที่จะถูกจัดระเบียบทางความคิดในเรื่องของกฏแห่งกรรม รากเหง้าแห่งความคิดที่เป็นปรัชญาชีวิต ในการจัดระเบียบทางสังคม สมควรที่เราคนไทยจำเป็นต้องรักษา และพัฒนาวิธีการสืบทอด ให้อนุชนรุ่นหลังได้ใช้เป็นฐานในการคิด วิเคราะห์ และแยกแยะในการกำหนดการแสดงเพื่อการใช้ชีวิต การดำรงชีวิต ที่เหมาะสมต่อสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม