In News

นายกฯควงรมต.-ผู้ว่าฯกทม.ตรวจคลองฯ ในเกาะรัตนโกสินทร์ฯเฉลิมพระเกียรติ



กรุงเทพฯ-นายกฯ ตรวจติดตามโครงการพัฒนาคู คลอง ในเกาะรัตนโกสินทร์ฯ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร่วมทำกิจกรรมทาสีสะพาน สั่งการกรุงเทพมหานคร จัดระเบียบสายไฟฟ้า-สายเคเบิลของเอกชนเพื่อปรับภูมิทัศน์

วันนี้ (4 กรกฎาคม 2567) เวลา 09.00 น. ณ บริเวณสะพาน 6 คลองคูเมืองเดิม หลังกระทรวงกลาโหม นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ตรวจติดตามโครงการพัฒนาคู คลอง ในเกาะรัตนโกสินทร์ฯ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมีนายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอก สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนางวันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมด้วย 

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะ รับฟังบรรยายสรุปโครงการพัฒนาคู คลอง ในเกาะรัตนโกสินทร์ฯ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567  โดย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวบรรยายถึงการดำเนินโครงการฯ ในส่วนของกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย พลเอก สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าวนำเสนอในส่วนของโครงการกระทรวงกลาโหม ร่วมกับภาคีเครือข่าย และนางวันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวถึงสรุปภาพรวมแผนการพัฒนาคลองคูเมืองเดิม คลองหลอดวัดราชบพิธ และคลองวัดราชนัดดา เป้าหมายปี 2567 - 2568 1. ปรับปรุงพื้นที่คลองให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย และสะอาดสวยงาม 2. พัฒนาริมคลองให้สามารถเดินได้สะดวก และมีระบบไฟส่องสว่าง โดยนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวขอบคุณกรุงเทพมหานครและกระทรวงกลาโหม ที่เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ

จากนั้น นายกรัฐมนตรีและคณะ นั่งรถรางจากบริเวณสะพาน 6 หลังกระทรวงกลาโหม ตรวจเยี่ยมการพัฒนาคลองคูเมืองเดิม โดยเมื่อเดินทางถึงสะพาน 6 หลังสวนสราญรมย์ นายกรัฐมนตรีรับฟังบรรยายและเยี่ยมชมการสาธิตการทำงานของเครื่องบำบัดน้ำเสียและบีบอัดตะกอนเลน จากผศ.ดร.ปนัดดา รักษาแก้ว บริษัท UCI ซึ่งกระบวนการทำงานของเครื่องสามารถนำตะกอนดินที่อยู่ในคูคลองเมืองเดิม ไปใช้ประโยชน์มากกว่ารถขุดตักดินแบบเดิม ที่มีกระบวนการขุดตักดินเป็นการทำลายหน้าดิน และมีก๊าซไข่เน่าที่ส่งกลิ่นเหม็นแก่บริเวณชุมชน นอกจากนั้น เครื่องบำบัดน้ำเสียและบีบอัดตะกอนเลนแบบอัจฉริยะ สามารถนำน้ำสะอาดกลับคืนสู่ธรรมชาติ ลดค่าใช้จ่ายในการขนย้ายดินจากการขุดแบบเดิมที่ต้องใช้ปริมาณการขนส่งมากถึง 26 คัน หรือคิดเป็น 130 คิว เหลือเพียง 2 คันหรือ 5 - 10 คิว อีกทั้งเพิ่มอัตราการระบายน้ำในคูคลอง  และสามารถแยกวัสดุที่นำไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น ดินและทราย ออกจากเศษขยะที่ปนมาจากการขุดลอก

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีและคณะ ได้ร่วมทำกิจกรรมทาสีบริเวณสะพานข้ามคลองหลอดวัดราชบพิธ และนายกรัฐมนตรียังได้สั่งการปลัดกรุงเทพมหานคร ถึงการจัดระเบียบสายไฟฟ้าและสายเคเบิลของเอกชนเพื่อปรับภูมิทัศน์ ก่อนเดินทางกลับ