In News
ลงในราชกิจจาฯแล้ว!กฏหมายคุ้มครอง นักช้อปออนไลน์ดีเดย์บังคับใช้3ต.ค.นี้
กรุงเทพฯ-ประกาศราชกิจจาฯ แล้ว! ‘จิราพร’ แจ้งข่าวดี กม. คุ้มครองนักช้อปออนไลน์ ดีเดย์ บังคับใช้ 3 ตุลาคมนี้ เพิ่มดาบให้สคบ.หลุดจากเสือกระดาษ ให้สิทธิผู้บริโภคสามารถเปิดดูสินค้าก่อนชำระเงินได้ และ ให้ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าที่เรียกเก็บเงินปลายทางจากผู้บริโภค ต้องระบุรายละเอียดในหลักฐานการรับเงิน เช่น ชื่อ-สกุล และหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ส่งสินค้า หมายเลขติดตามพัสดุ ข้อมูลพัสดุ จำนวนเงินที่เรียกเก็บปลายทาง รวมถึงให้สิทธิผู้บริโภคปฏิเสธไม่รับสินค้า หรือมีสิทธิได้รับค่าสินค้าคืน โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจถือเงินไว้ก่อนเป็นเวลา 5 วัน ก่อนนำส่งเงินให้กับผู้ส่งสินค้า
เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2567 นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยข่าวดีว่า ตามที่คณะกรรมการว่าด้วยสัญญา ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ให้ความเห็นชอบร่างประกาศที่เกี่ยวข้องกับการที่ผู้บริโภคสามารถขอเปิดดูสินค้าได้ก่อนชำระเงินค่าสินค้า สำหรับการซื้อสินค้าออนไลน์จ่ายเงินปลายทางนั้น ล่าสุด ประธานคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา ได้ลงนามในประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ‘ให้ธุรกิจการให้บริการขนส่งสินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทางเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. 2567‘ แล้ว เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2567
นางสาวจิราพร เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ล่าสุดประกาศ สคบ. ดังกล่าว ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ที่ผ่านมา และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 3 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป ซึ่งการมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เพื่อให้ผู้ประกอบการขนส่งสินค้า และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้มีระยะเวลาในการเตรียมตัวที่เหมาะสม
นางสาวจิราพร ย้ำว่า กฎหมายฉบับนี้จะช่วยแก้ปัญหาให้นักช้อปออนไลน์ โดยการใช้ “มาตรการส่งดี (Dee-Delivery)” ให้ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าที่เรียกเก็บเงินปลายทางจากผู้บริโภค ต้องระบุรายละเอียดในหลักฐานการรับเงิน เช่น ชื่อ-สกุล และหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ส่งสินค้า หมายเลขติดตามพัสดุ ข้อมูลพัสดุ จำนวนเงินที่เรียกเก็บปลายทาง รวมถึงให้สิทธิผู้บริโภคปฏิเสธไม่รับสินค้า หรือมีสิทธิได้รับค่าสินค้าคืน โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจถือเงินไว้ก่อนเป็นเวลา 5 วัน ก่อนนำส่งเงินให้กับผู้ส่งสินค้า เพื่อให้ผู้บริโภคมีโอกาสแจ้งเหตุที่ขอคืนสินค้าและขอเงินคืน
นอกจากนี้ ยังให้สิทธิผู้บริโภคสามารถเปิดดูสินค้าก่อนชำระเงินได้ โดยบันทึกภาพถ่ายหรือวิดีโอไว้เป็นหลักฐาน หากสินค้าไม่ตรงตามที่สั่งซื้อ ผู้บริโภคสามารถปฏิเสธการชำระเงินและไม่รับสินค้าได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์โดยตรงกับประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภค และจะช่วยแก้ไขปัญหาการถูกหลอกขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์อีกด้วย