In News
ไทยติดอันดับ35และ5ปท.ที่ไม่ใช่มุสลิม ยอดนิยมนทท.มุสลิม/นายกฯสั่งลุยเต็มสูบ
กรุงเทพฯ-นายกฯ วางแผนสนับสนุนให้ไทยครองพื้นที่ในใจนักท่องเที่ยวมุสลิม เชื่อมั่นด้วยศักยภาพไทยสามารถครองตำแหน่งที่ดีขึ้นในการจัดอันดับจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวมุสลิมผล Mastercard-Crescent Rating Global Muslim Travel Index : GMTI 2024 ไทยติดอันดับ 32 และเป็นอันดับ 5 ของกลุ่มที่ไม่ใช่ประเทศมุสลิม (Non-OIC) รวมทั้งได้สั่งการมุ่งหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทย อำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว
วันที่ 8 กรกฎาคม 2567 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลรอบด้าน ทั้งด้านอาหาร การท่องเที่ยว แฟชั่น ซอฟต์พาวเวอร์ สู่การเป็นศูนย์กลางฮาลาลในทุกมิติ พร้อมยินดีกับผลการจัดอันดับ Mastercard-Crescent Rating Global Muslim Travel Index หรือ GMTI 2024 ไทยติดอันดับที่ 32 ของจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวมุสลิม และเป็นอันดับที่ 5 สำหรับกลุ่มที่ไม่ใช่ประเทศมุสลิม (Non-OIC) พร้อมสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาแนวทางการทำงาน ยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล เพิ่มกิจกรรมการท่องเที่ยวตีตลาดตามกระแสนักท่องเที่ยวมุสลิม เพื่อให้ไทยมีระดับครองใจนักท่องเที่ยวมุสลิมมากขึ้น สอดคล้องกับศักยภาพของประเทศ
โฆษกประจำสำนักนายรัฐมนตรี กล่าวว่า ในปี 2567 ตลาดการท่องเที่ยวมุสลิมมีแนวโน้มที่จะเติบโตสูง มีการคาดการณ์ว่า จะมีนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมระหว่างประเทศถึง 168 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งสูงกว่าระดับก่อนการเกิดวิกฤตโควิด-19 ถึง 5% การเติบโตดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของตลาดนักท่องเที่ยวมุสลิม ทั้งนี้ทางหน่วยงาน Mastercard-Crescent Rating ได้จัดอันดับประเทศปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวมุสลิม Global Muslim Travel Index : GMTI 2024 โดยในปีนี้ได้จัดอันดับโดยเน้นด้านการท่องเที่ยวเป็นหลัก จากทั้งหมด 145 จุดหมายปลายทาง ที่นักท่องเที่ยวมุสลิมนิยมมาท่องเที่ยว โดยประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมอันดับ 32 จากการจัดอันดับทั้งหมด ซึ่งเป็นอันดับเดียวกับการจัดอันดับเมื่อปี 2023 และเป็นอันดับที่ 5 จากกลุ่มประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม (Non-OIC) ด้วยคะแนน 52 คะแนน
ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่สวยงาม เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกในอุตสาหกรรมอาหารและผลิตภัณฑ์ฮาลาล เนื่องจากประเทศไทยประกอบไปด้วยชุมชนมุสลิมจึงมีความเข้าใจในวัฒนธรรม มีสภาพแวดล้อมที่เป็นสังคมพหุวัฒนธรรม เป็นมิตรต่อนักท่องเที่ยวชาวมุสลิม และสามารถหารับประทานอาหารฮาลาลได้ทั่วไป ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ในการมาเยือนของนักท่องเที่ยวชาวมุสลิม ทั้งนี้ อีกส่วนของความสำเร็จเกิดจากนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ดำเนินการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศไทย ในระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2567-2571) เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลทุกมิติ โดยได้มีการจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย เพื่อยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิต เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ ควบคู่กับมาตรฐานสินค้าฮาลาล ส่งเสริมการค้าอุตสาหกรรมฮาลาลทั้งในและระหว่างประเทศ พัฒนาระบบนิเวศฮาลาล (Halal Ecosystem) การจัดทำ MOU กับกลุ่มตลาดเป้าหมาย รวมถึงการจัดตั้งคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ (กอฮช.) ที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและแนวทางในการพัฒนาสินค้าฮาลาล ให้เชื่อมโยงเอกลักษณ์ซอฟต์พาวเวอร์ของไทย ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ผลักดันอุตสาหกรรมฮาลาลไทย สู่ ASEAN Halal Hub
“ผลสำเร็จจากนโยบายสนับสนุนการพัฒนาสินค้าฮาลาลของนายกรัฐมนตรีทำให้ประเทศไทยยังคงเป็นหนึ่งในจุดมุ่งหมายยอดนิยมของนักท่องเที่ยวมุสลิม อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีมุ่งมั่นที่จะต่อยอดความสำเร็จให้ก้าวหน้าขึ้นอีก โดยได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อให้ตอบโจทย์กระแสการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวมุสลิม” นายชัย กล่าว