In News

ขีดเส้น1ส.ค.Thailand Zero Dropout ชวนทุกคนค้นหน้าเด็กหลุดระบบการศึกษา



กรุงเทพฯ-​อนาคตของชาติ อยู่ในมือทุกคน คุณสามารถช่วยป้องกันเด็กหลุดจากระบบการศึกษาได้!! จนถึง 1 ส.ค. 67 เปิดให้สถานศึกษาบันทึกข้อมูลกลุ่มที่มีความเสี่ยงหลุดจากระบบและยังไม่ได้รับความช่วยเหลือเข้าสู่ระบบ ตามมาตรการ Thailand Zero Dropout

วันนี้ (9 กรกฎาคม 2567) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ย้ำว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญ และได้สั่งการสั่งการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้ามาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา ให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) เพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา ซึ่งจากข้อมูลพบว่า ปีการศึกษา 2566 มีเด็กและเยาวชนในช่วงอายุ 3 – 18 ปีกว่า 1,025,514 คน ที่ไม่พบข้อมูลในระบบการศึกษา

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 23-26 กรกฎาคม 2567 นี้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จะได้ทยอยจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไขให้แก่นักเรียนทุนเสมอภาคกลุ่มต่อเนื่องใน 6 สังกัดทั่วประเทศ จำนวนกว่า 8 แสนคน ซึ่งนับเป็นหนึ่งมาตรการสำคัญของรัฐบาลในการป้องกันการหลุดจากระบบการศึกษาของเด็กและเยาวชนจากครัวเรือนยากจนระดับรุนแรง โดยในปีนี้ เป็นปีแรกของการจัดสรรอัตราใหม่ตามที่ กสศ. เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาระดับประถมศึกษา – มัธยมศึกษาตอนต้นจากอัตรา 3,000 บาท เป็น 4,200 บาท/คน/ปี และระดับชั้นอนุบาลคงเดิม อัตราจำนวน 4,000 บาท/คน/ปี  ซึ่งเงินอุดหนุนที่เพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการสนับสนุนค่าอาหารเช้าให้แก่กลุ่มนักเรียนทุนเสมอภาคเพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของครัวเรือนยากจน

สำหรับเด็กและเยาวชนกลุ่มที่มีความยากจนเสี่ยงหลุดจากระบบและยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ ระหว่างวันที่  8 ก.ค.- 1 ส.ค.  2567 นี้ กสศ.  ได้เปิดระบบทุนเสมอภาคให้สถานศึกษาบันทึกข้อมูลนักเรียนกลุ่มนี้เข้ามา (นร./กสศ.01) ผ่านระบบ cct.eef.or.th เพื่อคัดกรองความยากจนและให้ได้รับการช่วยเหลือ ในปีการศึกษา 2567 ภาคเรียนที่ 1 นี้ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีนักเรียนกลุ่มยากจนพิเศษกลุ่มใหม่ได้รับความช่วยเหลืออีกราว 5 แสนคน  ทำให้ในปีการศึกษา 2567 กสศ.จะสามารถช่วยป้องกันความเสี่ยงของนักเรียนกลุ่มยากจนพิเศษ ไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษารวมกลุ่มต่อเนื่อง ราว 1.3 ล้านคน

ทั้งนี้ หากประชาชนท่านใดพบนักเรียนที่มีความเสี่ยงหลุดจากระบบ และยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ สามารถแจ้งกับโรงเรียนที่นักเรียนกำลังศึกษาอยู่ หรือ โรงเรียนใกล้เคียงจุดที่พบ ใน 6 สังกัดดังนี้  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (บช.ตชด.) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ( พศ.)  สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และกรุงเทพมหานคร เพื่อบันทึกข้อมูลเข้าในระบบเพื่อให้ได้รับช่วยเหลือจากทุนเสมอภาค ของ กสศ. ทั้งนี้ สามารถติดตามและสอบสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก กสศ. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดยที่ผ่านมา กสศ. ให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งสิ้น 1,200,161 คน และพบว่าทุนเสมอภาค ส่งผลให้นักเรียนทุนร้อยละ 95.95 ยังคงอยู่ในระบบการศึกษา

“นายกฯ ให้ความสำคัญเรื่องการศึกษา สั่งการให้ทุกหน่วยงานเดินหน้ามาตรการ Thailand Zero Dropout ต้องไม่มีเด็กและเยาวชนหลุดจากระบบการศึกษา พร้อมย้ำว่าเด็กและเยาวชนคือผู้กำหนดอนาคตของประเทศชาติ ทุกคนจะต้องได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ต้องได้รับการส่งเสริมการเรียนรู้ ความสามารถ ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อจะได้ใช้ความรู้ความสามารถนั้นให้เป็นประโยชน์ต่อตนเอง และประเทศชาติ” นางรัดเกล้า กล่าว