EDU Research & ESG
วว.จับมือวช.และมทร.ธัญบุรีผลิตบัณฑิต สมรรถนะสูงด้านวทน.ตอบโจทย์สังคม
กรุงเทพฯ-กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดการประชุมเสวนา หัวข้อ “โครงการพัฒนาต้นแบบบัณฑิตปริญญาเอกสมรรถนะสูงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสนับสนุน BCG Economy Model”ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ เพื่อร่วมขับเคลื่อนตอบโจทย์การสร้างกำลังคนรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต โดยการพัฒนาบัณฑิตปริญญาเอกให้มีทักษะด้านการวิจัยและสมรรถนะด้านสังคม เพื่อให้มีความสามารถในการยกระดับงานวิจัยระดับห้องปฏิบัติการสู่การผลิตจริง สามารถขยายผลสู่เชิงพาณิชย์และสร้างมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
โดยบัณฑิตที่ผลิตจากโครงการฯ จะมีจุดเด่นและเอกลักษณ์เฉพาะผ่านการเรียนรู้และปฏิบัติจริงเชิงธรุกิจ ในรูปแบบโมเดล “บัณฑิตนวัตกรรม (Innovation)ยกระดับงานวิจัยระดับห้องปฏิบัติการสู่การผลิตจริง (Scale Up) ขยายผลสู่เชิงพาณิชย์ (Commercialization)”หรือ “InnoScaleCom”โดยแบ่งเป็นกลุ่มสมรรถนะสำคัญของบัณฑิตปริญญาเอก ดังนี้ 1. สมรรถนะต้นน้ำ มุ่งเน้นการพัฒนาแนวคิดนวัตกรรม (Innovation) 2. สมรรถนะกลางน้ำ มุ่งเน้นนำนวัตกรรมมาสู่การผลิตจริง (Scale up) และ 3. สมรรถนะปลายน้ำ มุ่งเน้นการขยายผลสู่เชิงพาณิชย์ (Commercialization)
ทั้งนี้ในการประชุมเสวนาได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิแสดงความคิดเห็นและถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์เพื่อสร้างให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันมีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า บัณฑิตสมรรถนะสูงจะต้องมีคุณลักษณะที่สามารถปรับตัวตามสถานการณ์ เท่าทันเทคโนโลยี มี skill ในการแก้ไขปัญหามีกรอบแนวคิดเชิงนวัตกรรม ทำงานตอบโจทย์ได้เร็ว พร้อมเปิดรับ/เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไม่ใช่มีความรู้เชิงวิชาการอย่างเดียว ต้องศึกษาเทคโนโลยีใหม่ๆ มองไปข้างหน้าให้เป็น และมีความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง
ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว. กล่าวว่า พระราชบัญญัติการอุดมศึกษา อนุญาตให้สามารถมีหลักสูตรที่แตกต่างไปจากมาตรฐานอุดมศึกษาได้ ซึ่งเรียกว่า sandbox โดยต้องตอบโจทย์ 2 ข้อ คือ 1) ผลิตกำลังคนได้อย่างเร่งด่วนและมีคุณภาพ 2) มีนวัตกรรมการศึกษาใหม่อยู่ในระบบของหลักสูตร สามารถกำหนดรูปแบบการจบการศึกษาได้ แต่ผลผลิตที่เกิดขึ้นต้องสามารถวัดผลได้และสร้าง impact ได้เพียงพอ ทั้งนี้กระทรวงสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในการผลิตบัณฑิตปริญญาเอก เกิดการทำงานแบบ “Co-creation” ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่การออกแบบหลักสูตร หรือการกำหนดในหลักสูตรให้ วว. เป็นองค์กรร่วมผลิตบัณฑิตเพื่อออกแบบหลักสูตรร่วมกัน
นายวีระ ขวัญเลิศจิตต์ที่ปรึกษาภาคเอกชน กล่าวว่า บัณฑิตสมรรถนะสูงควรมีทั้งความสามารถในเชิงวิชาการ การบริหารจัดการ การจัดการบุคคล ความรู้เชิงพาณิชย์ การเปิดรับสิ่งใหม่ๆ และความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่นหลักสูตรแบบเดิมส่งเสริมการเติบโตในสายวิชาการ แต่ยังไม่สามารถตอบโจทย์สำหรับสายงานเชิงพาณิชย์ได้ ต้นน้ำ ควรเสริมความรู้ทางด้านเศรฐศาสตร์ กลางน้ำ ควรมีความรู้ด้าน feasibilitystudy ปลายน้ำ ควรเพิ่มทักษะการเขียนแผนธุรกิจ การบริหารจัดการและการสร้างcollaborationการฝึกทำวิจัยกับ วว. ช่วยให้เห็นลักษณะการทำงานจริง โดย วว. มีแหล่งความรู้และทำงานกับภาคอุตสาหกรรม จะช่วยให้รู้ความต้องการของภาคอุตสาหกรรม
รศ.ดร.อัษฎาวุธ อารีสิริสุข ผู้รับผิดชอบหลักสูตรสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวว่า การดำเนินโครงการร่วมกันทำหลักสูตรนี้เป็นช่วงจังหวะที่เหมาะสม ซึ่ง มทร. มีระบบนิเวศการเรียนและการสอนที่พร้อมในการทำงานกับภาคเอกชนและสถาบันการวิจัย และหลักสูตรจะทำหน้าที่เป็น Admin ช่วยให้การผลิตบัณฑิตสำเร็จตามเป้าหมายของโครงการ
ดร.ปิยะ ปานผู้มีทรัพย์ผอ.สำนักยุทธศาสตร์วิสาหกิจ วว.ในฐานหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า การดำเนินตามแพลตฟอร์มของโครงการมุ่งเป้าการปิดช่องว่าง (Gap)ของการผลิตบัณพิตปริญญาโท-เอกคือ ด้านการขาดความร่วมมือกับภาคเอกชนในการถ่ายทอดเทคโนโลยี และด้านการขาดโครงสร้างพื้นฐานเพื่อต่อยอดงานวิจัยในระดับกึ่งอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรม
ผู้ว่าการ วว. กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวถือเป็นโอกาสใหม่ทางการศึกษาที่มุ่งให้บัณฑิตได้ปฏิบัติงานเชิงธุรกิจ ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง โดยนำร่องดำเนินงานกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ในสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ และจะขยายผลไปยังสถาบันการศึกษาอื่นๆ ต่อไป โดยใช้กลไกและศักยภาพของ วว. ที่มีความพร้อมสูงในด้านโครงสร้างพื้นฐาน วทน. ที่สามารถบูรณาการเป็น open innovation สำหรับการพัฒนางานวิจัยขั้นสูงและผลิตบัณฑิตสมรรถนะสูงร่วมกับมหาวิทยาลัย รวมทั้งมีจุดแข็งชัดเจนด้านการมีนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญและมุ่งเน้นดำเนินการวิจัยครบทั้ง 3 ด้านตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green economy)
“การดำเนินงานโครงการฯ เป็นการร่วมขับเคลื่อนนโยบายกระทรวง อว. ในการเตรียมทัพกำลังคน เพื่อสร้างอุตสาหกรรมอนาคต (Future WorkforceforFutureIndustry)อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการสนับสนุนส่งเสริมธุรกิจ BCG ซึ่ง วว. มีความพร้อมในการสนับสนุนและเป็นหุ้นส่วนความสำเร็จภาคเอกชนให้เข้มแข็งโดยบัณฑิตปริญญาเอกจากโครงการฯ จะเข้าไปเติมเต็มในภาคอุตสาหกรรมด้วยศักยภาพด้านความสามารถในการยกระดับงานวิจัยระดับห้องปฏิบัติการสู่การผลิตจริง และสามารถขยายผลสู่เชิงพาณิชย์สร้างมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งแตกต่างจากวิธีการเดิมที่มุ่งเน้นการพัฒนางานวิจัยในระดับห้องปฏิบัติการและการตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการ”ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิตกล่าว