Think In Truth

'ป่าทับลาน'...อย่าเหมาเข่ง-อย่าหยัดไส้' เนื้อในยังสมบูรณ์ โดย : ฅนข่าว2499



ทับลานเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่โด่งดังร้อนแรง หลังมีข่าวว่าจะมีการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานฝั่งจังหวัดนครราชสีมาและปราจีนบุรี จำนวน 265,286.58 ไร่ ออกจากการเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อนำไปเป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จนทำให้ในโลกออนไลน์แห่ติดแฮชแท็ก#Saveทับลาน พร้อมทั้งมีการร่วมลงชื่อคัดค้านการเฉือนป่าทับลานกันเป็นจำนวนมาก

ตามข้อมูลอุทยานแห่งชาติทับลานเป็นอุทยานแห่งชาติในภาคอีสานและภาคตะวันออก มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอปักธงชัย อำเภอวังน้ำเขียว อำเภอครบุรี อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี สภาพป่ามีความอุดมสมบูรณ์และมีป่าลานซึ่งหาดูได้ยากที่มีเฉพาะบางท้องที่เท่านั้น มีต้นลานขึ้นตามธรรมชาติ เป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำลำธารต่าง ๆ และมีธรรมชาติที่สวยงาม เช่น หุบผา หน้าผา น้ำตก นับว่าเป็นอุทยานแห่งชาติที่มีพื้นที่มากเป็นอันดับสองของประเทศไทย รองจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

ย้อนไปเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2548 อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติปางสีดา อุทยานแห่งชาติตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ได้รับการประกาศให้เป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติโดยยูเนสโก ภายใต้ชื่อ “กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่”อีกทั้งอุทยานแห่งชาติทับลานยังได้รับรางวัลอุทยานแห่งชาติสีเขียว (Green National Parks) ระดับทอง (ดีเยี่ยม) ประจำปี 2563

อุทยานแห่งชาติทับลานเป็นอุทยานแห่งชาติที่มีพื้นที่ส่วนหนึ่งอยู่ในเขตทิวเขาพนมดงรัก สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปประกอบด้วยภูเขาใหญ่น้อยสลับซับซ้อนต่อเนื่องกันเป็นบริเวณกว้างขวาง โดยมีเขาที่สำคัญหลายลูก เช่น เขาละมั่ง เขาภูสามง่าม เขาภูสูง เขาใหญ่ เขาวง เขาสลัดได เขาทิดสี เขาไม้ปล้อง เขาทับเจ็กและเขาด่านงิ้ว ซึ่งยอดเขาละมั่งเป็นยอดเขาที่สูงสุด มีระดับความสูงประมาณ 992 เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นทิวเขายาวต่อเนื่องกันทำให้มีหุบเขาตามธรรมชาติ เหว และน้ำตก เป็นแหล่งกำเนิดของต้นน้ำหลายสาย เช่น ห้วยขมิ้น ห้วยปลาก้าง ห้วยคำแช ห้วยคำขี้แรด ห้วยมูลสามง่าม ห้วยภูหอม ห้วยกระทิง ห้วยลำเลย ห้วยกุดตาสี ห้วยลำดวน เป็นต้น ลำห้วยแต่ละสายไหลรวมกันเป็นแม่น้ำมูล ส่วนลำห้วยสวนน้ำหอม ห้วยหินยาว ห้วยชมพู ห้วยสาลิกา ห้วยวังมืด ห้วยลำไยใหญ่ ฯลฯ ลำห้วยเหล่านี้จะไหลรวมกันเป็นแม่น้ำบางปะกง

ทั้งนี้โดยลักษณะภูมิอากาศจะมีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 26.7 องศาเซลเซียสในห้วงฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม–ตุลาคม ในช่วงลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จะพัดพาความชุ่มชื้นมาจากทะเลอันดามันและอ่าวไทยจนทำให้พื้นที่บริเวณนี้ได้รับปริมาณน้ำฝนมาก เฉลี่ยตลอดปี 1,070 มิลลิเมตร ฝนจะตกชุกที่สุดในเดือนกันยายน ซึ่งทิวเขาพนมดงรักจะปะทะลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และทำให้ฝนตกในบริเวณด้านรับลมมากกว่าด้านไม่รับลม

- ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน–มกราคม อากาศจะหนาวเย็นมากในเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นเดือนที่มีค่าเฉลี่ยอุณหภูมิต่ำสุด 22.8 องศาเซลเซียส

- ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่กุมภาพันธ์–พฤษภาคม อากาศจะร้อนอบอ้าวมากในเดือนเมษายนซึ่งมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุด 29.3 องศาเซลเซียส

อุทยานแห่งชาติทับลานมีสังคมพืชที่จัดเป็นป่าลุ่มต่ำที่มีความสมบูรณ์มาก จัดเป็นสังคมพืชที่มีการซ้อนทับกันของลักษระทางนิเวศของป่าภาคกลางและป่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ไม้และสัตว์ป่าชุกชุมเช่นป่าเต็งรัง ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานมีสภาพเป็นป่าโปร่ง ขาดแคลนแหล่งน้ำ มีต้นไม้ขึ้นกระจัดกระจายทั่วพื้นที่และมักจะมีลำต้นเล็กและเตี้ย พืชพื้นล่างเป็นพวกหญ้าเพ็ก หญ้าคา และสาบเสือพันธุ์ไม้ที่สำคัญ เช่น เต็ง รัง เหียง พลวง ฯลฯ

- ป่าเบญจพรรณ จะมีไม้ต่างชนิดขึ้นปะปน และจะพบไผ่ขึ้นปนมากมาย มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญเช่น แดงตะแบกใหญ่ ประดู่ มะกอก ชิงชัน ฯลฯ พืชพื้นล่างที่สำคัญ เช่น ไผ่กาย โด่ไม่รู้ล้ม เป็นต้น ป่าผลัดใบเหล่านี้ในช่วงฤดูฝนไม้พื้นล่างจะผลิใบอ่อนเป็นแหล่งอาหารสำคัญของสัตว์กินพืช ได้แก่ ช้างป่า กระทิง วัวแดงกวางป่า และนกที่อาศัยพื้นที่นี้ได้แก่ ไก่ป่า เหยี่ยวนกเขาชิครา นกแขกเต้า นกหัวขวาน สัตว์เลื้อยคลานที่พบได้แก่ตะกวดและแย้เป็นต้น

- ป่าดงดิบชื้น พบขึ้นอยู่ทั่วไปในพื้นที่ที่สูงจากระดับน้ำทะเล 400–1,000 เมตร

- ป่าดงดิบแล้ง จะพบขึ้นอยู่บนพื้นที่ค่อนข้างราบ ไม้ที่พบโดยทั่วไปได้แก่ ยางนา ยางแดง เป็นต้น

จากลักษณะเรือนยอดที่ต่อเนื่องกันนั้นจึงเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชะนีมือขาว ชะนีมงกุฎ ค่างเทาหรือ ค่างหงอก ลิงกัง พญากระรอกบินหูแดง และจากสภาพป่าที่มีความรกทึบเป็นที่หลบพักและซ่อนตัวของสัตว์ใหญ่ เช่น ช้างป่า กระทิง นกป่าที่หากินและดำเนินกิจกรรมอยู่ในพื้นที่ ได้แก่ ไก่ฟ้าพญาลอไก่ฟ้าหลังขาวนกมูม นกลุมพู นกเค้าเหยี่ยว นกเงือกกรามช้าง นกแก๊ก นกกก นกพญาปากกว้างสีดำ นกพญาปากกว้างหางยาว นกขุนแผนหัวแดง และนกขุนทอง สัตว์เลื้อยคลานที่พบ ได้แก่ ตะกวด เต่าใบไม้ หรือ เต่าแดง เต่าเหลืองหรือเต่าเทียน และตะกองเป็นต้น

ภาพต้นลานออกดอกครั้งใหญ่ถ่ายเมื่อปี2552

นอกจากนี้ อุทยานแห่งชาติทับลานยังมีป่าอีกชนิดหนึ่งซึ่งถือเป็นประเภทป่าผลัดใบ ป่าชนิดนี้เรียกว่าป่าลาน สภาพจะเป็นป่าโปร่ง มีลานขึ้นอย่างหนาแน่นทั่วพื้นที่ ป่าลานนี้มีเนื้อที่ 200 ไร่ บริเวณที่ราบบนเขาละมั่ง ด้านตำบลบุพราหมณ์ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี ไม้ลานเป็นพืชในตระกูลปาล์ม (Palmae) บริเวณป่าลานและป่ารุ่นเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าที่สามารถปรับตัวอยู่ในสภาพแวดล้อมต่างๆได้แก่ กระรอก หนู กระต่ายป่า พังพอน เก้ง กวางป่า เหยี่ยวขาว นกคุ่มอกลาย กิ้งก่าหัวแดง ตุ๊กแกบ้าน กิ้งก่าหางยาว อึ่งอ่างบ้าน และคางคกเป็นต้น

ต้นลานเมื่ออายุได้ประมาณ 60 ปี จะมีต้นสูงใหญ่ราว 10 เมตร และจะออกดอกเพียงครั้งเดียวในชีวิต หลังจากนั้นต้นลานจะตายลง และให้เมล็ดที่ร่วงลงมาขึ้นเป็นต้นใหม่แทน โดยเมื่อช่วงเดือนสิงหาคม–กันยายน พ.ศ. 2552 ต้นลานได้ออกดอกเป็นจำนวนมากกว่าปีอื่น เชื่อว่าอีกหลายปีจึงจะพบเห็นปรากฏการณ์เช่นนี้อีก

บริเวณเขาหินปูน ถ้ำ หน้าผา ซึ่งได้แก่บริเวณเขาละมั่ง เขาวง และภูสามง่าม เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและที่กำบังภัยของสัตว์ป่าบางชนิด เช่น เลียงผา เม่นหางพวง ค้างคาว บริเวณแหล่งน้ำ ห้วย ลำธาร เป็นย่านที่อาศัยของสัตว์ป่าบางชนิด ได้แก่ งูปลิง กบหงอน เขียดอ่องเล็ก นกยางไฟธรรมดา นกยางเขียว นกกระเต็นน้อยธรรมดา นกกระเต็นใหญ่ธรรมดา และนกกระเต็นลาย ปลาน้ำจืดที่พบ เช่น ปลาชะโอน ปลาดุกเนื้อเลน ปลากระสง ปลาดัก ปลากระทิงดำ

กล่าวโดยสรุปก็คือ อุทยานแห่งชาติทับลานมีความสำคัญหลายด้านและมีอีกหลายเรื่องราวที่คนทั่วไปอาจยังไม่รู้ อาทิ

1. ป่าทับลานถูกประกาศให้เป็น “ป่าไม้ถาวร” ตามมติ ครม. ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 และได้รับการประกาศให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ (ป่าสงวนแห่งชาติครบุรี) ในปี 2509 / ทับลานป่ามรดกโลก แหล่งอาศัยของช้างป่านับร้อยตัว (ภาพ : อุทยานแห่งชาติทับลาน)

2.ในปี 2518 ป่าทับลานได้รับการจัดตั้งเป็น “วนอุทยานป่าลาน” เพื่ออนุรักษ์ป่าลานไว้ ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น “วนอุทยานทับลาน” ในภายหลัง จากนั้นในปี 2524 ได้รับการประกาศจัดตั้งให้เป็น “อุทยานแห่งชาติทับลาน” ซึ่งเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 39 ของประเทศไทย

3. อุทยานแห่งชาติทับลานมีเนื้อที่ประมาณ 1,387,375 ไร่ หรือ 2,235.80 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียว อำเภอปักธงชัย อำเภอครบุรี อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี นับเป็นอุทยานที่มีเนื้อที่ใหญ่เป็นอับดับ 2 ของเมืองไทย (รองจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน) และมีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน

4. อุทยานแห่งชาติทับลานมีสังคมพืชที่จัดเป็น “ป่าลุ่มต่ำ” ที่มีความสมบูรณ์มาก มีการซ้อนทับกันระบบนิเวศของป่าภาคกลางและป่าภาคอีสาน ที่มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ไม้ ประกอบไปด้วยป่าที่โดดเด่น 4 ประเภท คือ ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบแล้ง และป่าดงดิบชื้น

5.อุทยานแห่งชาติทับลาน ยังมี “ป่าลาน” ซึ่งเป็นป่าผลัดใบที่มีต้นลานขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก จนได้ชื่อว่าเป็น “ป่าลานขนาดใหญ่ผืนสุดท้ายของประเทศไทย” อันเป็นที่มาของชื่ออุทยานแห่งชาติทับลาน (ต้นลานที่เป็นดังสัญลักษณ์ของป่าทับลาน เป็นพืชในตระกูลปาล์มที่มีมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ ลานเป็นพืชที่มีช่อดอกใหญ่ที่สุดในโลก) โดยต้นลานจะออกดอกเพียงครั้งเดียวเมื่อมีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จากนั้นลานต้นแม่จะตายลง แต่เมล็ดที่ร่วงหล่นลงมาจำนวนมากจะเกิดเป็นลานต้นใหม่ขึ้นทดแทนเป็นวัฏจักรสำหรับป่าลานที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ตั้งอยู่บริเวณที่ราบบนเขาละมั่ง ด้านตำบลบุพราหมณ์ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี มีสภาพเป็นป่าโปร่ง มีเนื้อที่ประมาณ 200 ไร่ มีต้นลานขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นทั่วพื้นที่

6.อุทยานแห่งชาติทับลาน เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยสำคัญของสัตว์ป่า มีกระทิงและช้างป่านับร้อยตัว มีกวางป่า หมูป่านับพันตัว รวมถึงสัตว์อื่น ๆ อาทิ เลียงผา หมีควาย เก้ง แมวดาว และเสือลายเมฆ นอกจากนี้ที่นี่ยังเป็นถิ่นอาศัยสำคัญของเสือโคร่งในเมืองไทย รองจากกลุ่มป่าห้วยขาแข้ง – ทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งจากการสำรวจของนักวิจัยสัตว์ป่าพบว่า มีเสือโคร่งตัวเต็มวัย 12 ตัว และล่าสุดยังเป็นบ้านใหม่ของเสือโคร่ง “บะลาโกล” ที่ย้ายถิ่นจากป่าคลองลานมาอยู่ที่ป่าทับลานแห่งนี้

7. อุทยานแห่งชาติทับลาน เป็นหนึ่งในพื้นที่สำคัญของผืนป่ามรดกโลก “กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่” ซึ่งได้รับการประกาศจากยูเนสโกในปี 2548 ผืนป่าอุทยานแห่งชาติทับลานที่ตั้งอยู่ตรงกลางของป่ามรดกโลก ถือเป็นทางเชื่อมการสัญจรไป-มา ของสัตว์ป่าต่าง ๆ ระหว่างอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติตาพระยา และอุทยานแห่งชาติปางสีดา

8. อุทยานแห่งชาติทับลานมีสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อ นำโดย “ผาเก็บตะวัน” ที่ตั้งอยู่ในเขตอำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ที่นี่เป็นจุดชมวิวอันสวยงาม ทั้งชมทะเลหมอก-พระอาทิตย์ขึ้นยามเช้า และชมพระอาทิตย์ตกในยามเย็นนอกจากนี้ก็ยังมี “หาดชมตะวัน” ยาวประมาณ 300 เมตร ตั้งอยู่ริมอ่างเก็บน้ำทับลานเป็นอีกหนึ่งจุดชมวิวและพระอาทิตย์ตกอันสวยงาม มี “สวนห้อม” ในพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียวที่มีทั้งน้ำตกและลานกางเต็นท์ และมีน้ำตกอีกหลากหลาย อาทิ น้ำตกทับลาน น้ำตกม่านฟ้า น้ำตกห้วยใหญ่ น้ำตกบ่อทอง และน้ำตกสวนห้อม เป็นต้น รวมถึงมีบ้านพัก และลานกางเต็นท์ไว้บริการนักท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตามแม้ว่าอุทยานทับลานจะเป็นป่าในพื้นที่มรดกโลก แต่ป่าใหญ่ผืนนี้ก็ถูกบุกรุกไปไม่น้อย โดย “มูลนิธิสืบนาคะเสถียร” ได้เปิดเผยว่า หากใช้เส้นแนวเขตสำรวจอุทยานแห่งชาติทับลาน ปี 2543 ตามมติ ครม. อุทยานแห่งนี้ได้ถูกบุกรุกไปแล้วกว่า 160,000 ไร่ โดยมีการกล่าวโทษดำเนินคดีไปแล้วตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2504 และอยู่ระหว่างดำเนินการ เป็นนายทุนและผู้ครอบครองรายใหม่ จำนวน 470 ราย และผู้ที่เปลี่ยนแปลงพื้นที่ใช้ประโยชน์จำนวน 23 ราย

สำหรับเรื่องนี้คงต้องเฝ้าติดตามกันอย่างใกล้ชิดว่า ภาครัฐจะแก้ปัญหาเรื่องที่ดินทำกินให้กับชาวบ้านที่ตั้งถิ่นฐานอย่างถูกกฎหมายมาก่อนการประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติทับลานเมื่อปี 2524 เพื่อให้ได้รับสิทธิ์ที่ดินทำกินอย่างถูกต้องเป็นธรรม ซึ่งมีประมาณ 5 หมื่นไร่หรือภาครัฐจะเดินหน้าเฉือนป่าทับลานพื้นที่รวมกว่า 2.6 แสนไร่ เพื่อเอื้อประโยชน์แก่นายทุน นักการเมือง และผู้ที่ทำผิดกฎหมาย

ถ้ายังเดินหน้าต่อไปและจากข้อมูลเว็บไซต์วิกิพีเดียได้ระบุว่า“จะทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่ต้องสูญเสียพื้นที่ผืนป่ามากที่สุดในครั้งเดียวมากที่สุดในโลก”

ข้อมูลข่าว : https://www.innews.news/news.php?n=61350