In News

นายกฯแถลงยึดโทลูอีน90ตันที่แหลมฉบัง ปลายทางพม่า-ลาว/ตั้งศูนย์ฮาลาลAEC



กรุงเทพฯ-นายกฯ แถลงผลตรวจยึดโทลูอีน (Toluene) เคมีภัณฑ์ที่เป็นวัตถุอันตรายประเภท 3 ตาม พรบ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 จำนวน 90 ตัน มูลค่าของกลาง 3.6 ล้านบาท ชื่นชมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ย้ำให้ทำงานกันอย่างจริงจังและขยายผลต่อไป และนายกฯ นั่งหัวโต๊ะประชุมคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลฯ เดินหน้าดันศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย ยกระดับไทยสู่ศูนย์กลางฮาลาลอาเซียนภายในปี 2570

วันนี้ (12 ก.ค.67) เวลา 10.00 น. ณ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงผลการสืบสวนและตรวจยึดสารโทลูอีน (Toluene) เคมีภัณฑ์ที่เป็นวัตถุอันตรายประเภท 3 ตาม พรบ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 จำนวน 90 ตัน มูลค่าของกลาง 3.6 ล้านบาท โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมด้วย ได้แก่ กรมศุลกากร โดย นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. ในฐานะ ผอ.ศอ.ปส.ตร. พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้ช่วย ผบ.ตร./รอง ผอ.ศอ.ปส.ตร. พล.ต.ท.คีรีศักดิ์ ตันตินวะชัย ผบช.ปส. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด โดย พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. และกรมโรงงานอุตสาหกรรม โดย นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม

โอกาสนี้ เมื่อนายกฯ เดินทางมาถึงได้รับฟังรายงาน Timeline การจับกุมและตรวจยึดโทลูอีน (Toluene) จากผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง รวมทั้งได้ชมการตรวจสอบสารเคมีที่ยึดได้ว่าเป็นโทลูอีน (Toluene) หรือไม่ จากนั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่ารัฐบาลมีนโยบายชัดเจนเรื่องของการป้องกันปราบปรามยาเสพติดขั้นเด็ดขาดเป็นเรื่องที่รัฐบาลสนใจและให้ความสำคัญ ซึ่งการตรวจยึดโทลูอีน (Toluene) เคมีภัณฑ์ที่เป็นวัตถุอันตรายประเภท 3 ตาม พรบ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 จำนวน 90 ตัน (มูลค่าของกลาง 3.6 ล้านบาท) ครั้งนี้ ต้องขอชื่นชมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วย ทั้ง กรมศุลกากร กรมโรงงานอุตสาหกรรม กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด และสำนักงาน ป.ป.ส. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ร่วมมือร่วมใจกันดำเนินการตรวจค้นสารโทลูอีน ซึ่งเป็นสารตั้งต้นการผลิตยาไอซ์ ยาบ้า โคเคน โดยจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่พบว่าผู้นำเข้ามาไม่เคยนำสารชนิดนี้เข้ามาก่อน ซึ่งไทยเป็นทางผ่านจากเกาหลีใต้ไปสู่เมียนมา ซึ่งตอนนี้นายกฯ ได้มีการสั่งการให้ขยายผลเรื่องนี้อย่างเต็มที่ โดยวันนี้จะมีการออกหมายเรียกตัวบริษัทที่นำสารดังกล่าวเข้ามา พร้อมกล่วว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญเพราะเป็นสารตั้งต้นของการผลิตยาเสพติดอีกหลาย ๆ ชนิด ซึ่งการจับตรวจยึดครั้งนี้ได้ 90 ตัน แม้มีมูลค่าของกลางไม่มาก จำนวนไม่กี่ล้านบาท แต่หากสารนี้หลุดไปสู่แหล่งผลิตยาเสพติดได้ ไม่ว่าจะเป็นโคเคนก็ผลิตได้หลายพันกิโลกรัม และจะมีมูลค่าเป็นหมื่นล้านบาท ส่งผลให้กลับมาเป็นวังวนอุบาทว์ ให้กับพี่น้องประชาชนชาวไทยและประชาชนทั่วโลกอีก ซึ่งการดำเนินการปฏิบัติการครั้งนี้เป็นเรื่องที่น่าชื่นชม และก็ต้องทำงานกันอย่างจริงจังต่อไป สิ่งสำคัญคือการขยายผล

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงการพูดคุยกับ พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งดูแลทางด้านยาเสพติด กรณีเกิดเหตุที่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจค้นผู้ค้ายาเสพติด และถูกทำร้ายซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียใจ เจ้าหน้าที่ชั้นประทวนเสียชีวิต 1 คน และมีนายร้อยบาดเจ็บอีก 1 คน ซึ่งได้พูดคุยกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้วต้องมีการจัดการขั้นเด็ดขาด รวมถึงดูแลสวัสดิการและสวัสดิภาพของเจ้าหน้าที่ตำรวจให้เต็มที่ โดยต้องมีความพร้อมในการใช้กำลังที่จะตอบโต้ เพราะชีวิตความเป็นอยู่ของฝ่ายปราบปรามสำคัญมาก จึงฝากผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติดูแลตรงนี้ด้วย การดำเนินการตรวจยึดวันนี้ก็เป็นผลจากการยกระดับการปราบปรามยาเสพติดขึ้น ยังมีภารกิจอีกมาก ตรงนี้ถือเป็นการตั้งต้น นิมิตหมายอันดี ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกคนที่เกี่ยวข้อง และขอให้ดูแลสวัสดิภาพของตัวเองให้ดี

สำหรับการดำเนินการตรวจยึดโทลูอีน (Toluene) เคมีภัณฑ์ที่เป็นวัตถุอันตรายประเภท 3 ตาม พรบ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 จำนวน 90 ตัน ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องครั้งนี้ เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่มีนโยบายทำลายวงจรยาเสพติดทุกมิติ โดยเฉพาะเคมีภัณฑ์ที่ใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติด ซึ่งทำให้ส่งผลกระทบต่อสังคมและระบบเศรษฐกิจในภาพรวม รัฐบาลจึงกำชับให้ทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมศุลกากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) บูรณาการการสืบสวนปราบปรามอย่างเด็ดขาด โดยมีสำนักงานตำรวจแห่งชาติทำหน้าที่ในการสืบสวนและป้องกันการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและประสานงาน กรมศุลกากรทำหน้าที่ในการตรวจสอบควบคุมการนำเข้า - ส่งออกผ่านแดน - ถ่ายลำ รวมไปถึงพัฒนาเทคโนโลยีในการตรวจค้นและการประสานงาน กรมโรงงานอุตสาหกรรม ทำหน้าที่ในการควบคุมตรวจสอบการใช้สารตั้งต้นรวมไปถึงการออกกฎระเบียบและมาตรการควบคุมการใช้สารตั้งต้น ตรวจสอบติดตามการใช้สารตั้งต้น สารเคมี เพื่อลดการนำไปใช้ในทางที่ผิด สำนักงาน ป.ป.ส. ทำหน้าที่ในการควบคุมนโยบายการปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาลให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ รวมไปถึงการสนับสนุนส่วนราชการอื่นในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ดังนั้นการบูรณาการร่วมกันจึงสำคัญและจำเป็นในการจับกุมกลุ่มนักค้ายาเสพติดระดับชาติ

รวมทั้งตามนโยบายการปราบปรามยาเสพติดของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เน้นใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อทำลายเครือข่ายยาเสพติดอย่างจริงจังทั้งระบบประกอบกับนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มุ่งปราบปรามจับกุมผู้ค้ายาเสพติดในพื้นที่ และขยายผลเครือข่ายที่จับกุมได้ทุกระดับอย่างจริงจังทุกพื้นที่ รวมถึงการทำลายกลุ่มขบวนการค้ายาเสพติดและเครือข่ายองค์กรอาชญากรรมอื่น สกัดกั้นในการลักลอบนำสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ผลิตยาเสพติด เพื่อเป็นการกวาดล้างกลุ่มหรือเครือข่ายที่ให้การสนับสนุนให้หมดสิ้น โดยบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเฉียบขาดโดยเพิ่มมาตรการและแนวทางในการป้องกันการลักลอบสารตั้งต้นยาเสพติดในอนาคต และเพิ่มมาตรการการตรวจสอบและควบคุมการนำเข้าส่งออก อีกทั้งมุ่งเน้นในการเพิ่มความร่วมมือระหว่างประเทศระดับภูมิภาค รวมไปถึงการให้ความรู้และรณรงค์การป้องกันยาเสพติดแก่ประชาชน

ทั้งนี้ การดำเนินการตรวจยึดโทลูอีน (Toluene) เคมีภัณฑ์ที่เป็นวัตถุอันตรายประเภท 3 ตาม พรบ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 จำนวน 90 ตัน สืบเนื่องจากกรมศุลกากรตรวจสอบใบตราส่งสินค้าผ่านแดนสำแดงชนิดสินค้า Toluene โทลูอีน ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 จัดเป็นของต้องกำกัดต้องมีใบอนุญาตในการผ่านแดน จึงได้แจ้งกักสินค้าเพื่อตรวจสอบ ประกอบกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ตรวจสอบพบว่าสินค้าผ่านแดนดังกล่าวมิได้ขออนุญาตนำผ่าน อีกทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ได้มีพลเมืองดีแจ้งเบาะแส ว่าจะมีการนำเข้าสารโทลูอีน (Toluene) จำนวน 90 ตัน โดยไม่ได้รับอนุญาต เพื่อนำส่งไปยังปลายทางนครย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา ซึ่งอาจจะนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกกฎหมาย โดยมีต้นทางมาจากเมืองปูซานเกาหลีใต้ขึ้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง นำผ่านประเทศไทยและออกที่ศุลกากรแม่สอด จว.ตาก กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดได้ทำการสืบสวนทางลับ และเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 67 กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดประสานกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อขอความร่วมมือในการตรวจใบอนุญาตการนำผ่านสารโทลูอีน จากระบบการตรวจสอบการแจ้งยื่นเอกสารทางทะเบียนขอนำผ่านสินค้าในฐานข้อมูล กรมโรงงานอุตสาหกรรม และประสานสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อขอความร่วมมือในการร่วมตรวจสอบสินค้าสารโทลูอีน (Toluene)

จากการบูรณาการประสานข้อมูลร่วมกันทั้ง 4 หน่วยงาน พบประเด็นน่าสงสัยนำสู่การยึดสารโทลูอีน
1. สำนักงาน ป.ป.ส. พบว่า บริษัทผู้สั่งซื้อสินค้าผ่านแดนในสหภาพเมียนมาไม่มีอยู่จริง อีกทั้งไม่มีการขออนุญาตนำเข้ากับทางการเมียนมาแต่อย่างใด โดยบริษัทได้สั่งซื้อสารโทลูอีน (Toluene) จากประเทศเกาหลีใต้โดยขนส่งทางเรือ จากเมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 67 และสินค้าได้ถึงท่าเรือแหลมฉบัง เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 67
2. จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม พบว่า บริษัทผู้ขอผ่านแดน ไม่เคยมีการนำสินค้าผ่านแดนสินค้าสารโทลูอีนมาก่อน ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรก
3. สินค้านี้ จะออกจากประเทศไทยที่ด่านศุลกากรแม่สอด ไปกรุงย่างกุ้ง สหภาพเมียนมา
ต่อมากระทั่งวันที่ 8 ก.ค. 67 กรมศุลกากร กรมโรงงานอุตสาหกรรม กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด และสำนักงาน ป.ป.ส. ร่วมตรวจสอบพบการนำผ่านสารโทลูอีน จำนวน 90 ตัน โดยไม่ได้รับอนุญาตการนำผ่านแดนเข้ามาในราชอาณาจักรไทย และดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้ จากผลการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐตรวจเจอสารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดปี 2566 ถึงปัจจุบัน รวมจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 859 ตัน โดยต้นทางสินค้าพบมาจากประเทศอินเดีย ออสเตรเลีย จีน เกาหลีใต้ และมีปลายทางคือสหภาพเมียนมา และ สปป.ลาว

นายกฯสั่งดันไทยสู่ศูนย์กลางฮาลาลอาเซียนภายในปี 2570

เมื่อวันที่11 กรกฏาคม 2567ที่ผ่านมา ณ ตึกสันไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน  นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ (กอฮช.) ครั้งที่ 1/2567 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ดร.นลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย เข้าร่วมด้วย

นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า ก่อนประชุม นายกฯ ได้เยี่ยมชมนิทรรศการอาหารฮาลาล เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป เครื่องดื่ม (น้ำผลไม้)  ชุดเสื้อผ้าแฟชันฮาลาล เครื่องสำอาง น้ำหอม สกินแคร์ และสปา ฯลฯ 

โอกาสนี้นายกฯ ได้ขอบคุณทุกคนที่เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ ครั้งแรกในวันนี้ พร้อมกล่าวถึงที่มาของการดำเนินการดังกล่าวถึงการที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมฮาลาลว่า รัฐบาลต้องการจะขยายตลาดให้กับอุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งหมดของไทย โดยย้ำว่าประเทศไทยมีความมั่นคงทางด้านอาหารสูงมาก ประกอบกับปัจจุบันมีสถานการณ์เรื่องของ Geopolitics การค้าระหว่างประเทศ และมีความขัดแย้งระหว่างประเทศสูง ซึ่งพื้นฐานหรือปัจจัยสี่ของความอยู่รอดก็คืออาหาร ซึ่งตรงนี้ประเทศไทยมี Supply Chain ที่แข็งแกร่งทั้งแรงงานในภาคขนส่ง สภาพอากาศภูมิกาศที่เหมาะสมกับการที่เราเป็นประเทศความมั่นคงด้านอาหาร  ทั้งนี้การตั้งคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติวันนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของการผลักดันให้ประเทศไทยสามารถเปิดตลาดได้มากขึ้น รวมทั้งสืบเนื่องจากการที่นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เดินทางไปต่างประเทศและได้พบปะผู้นำประเทศที่มีประชาชนเป็นมุสลิม ผู้นำประเทศดังกล่าวต่างให้ความสำคัญกับอาหารฮาลาลและสนใจต้องการที่จะเข้ามาร่วมทุนกับเรา นอกจากนี้ปัญหาชายแดนภาคใต้เรื่องความมั่นคงนั้น หากมีการนำเรื่องของการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการผลักดันเรื่องของอาหารที่เป็นจุดแข็งของไทยนั้นมาพัฒนาจะทำให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้สูงมากขึ้นซึ่งจะเป็นเรื่องที่น่ายินดี

นายกฯ กล่าวย้ำในแง่ของการทำงานว่าขอให้หน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพในการรับผิดชอบอย่างครบวงจร ทั้งการขยายตลาดและส่งเสริมสินค้าบริการฮาลาลระหว่างประเทศ พัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และสนับสนุนผู้ประกอบการ และอยากให้ศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทยมีการทำงานอย่างจริงจัง มีคน และมีงบประมาณที่ชัดเจนภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมนี้ยังจะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของพี่น้องในภาคใต้ได้ ทั้งสร้างงาน พัฒนาฝีมือ สร้างรายได้ให้สูงมากขึ้น ก่อให้เกิดการลงทุนและพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงมาก จึงฝากให้ทุกคนให้ความสำคัญช่วยกันผลักดันพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลให้มีอนาคตต่อไป

สำหรับที่ประชุมได้มีการพิจารณาและเห็นชอบในประเด็นสำคัญ ได้แก่ ที่ประชุมเห็นชอบความคืบหน้าในการดำเนินงานและงบประมาณการจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย และ (ร่าง) แผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ระยะ 4 ปี (พ.ศ. 2567-2570) ซึ่งมีวิสัยทัศน์มุ่งยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่การเป็น ASEAN Halal Hub หรือศูนย์กลางฮาลาลของอาเซียน ภายในปี 2570 ตอบโจทย์นโยบาย IGNITE THAILAND ที่ตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางอาหาร (Agriculture & Food Hub) โดยแผนปฏิบัติการฉบับนี้มีเป้าหมายที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ของภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 1.2% คิดเป็นมูลค่า 55,000 ล้านบาท และสร้างงานในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 100,000 ตำแหน่งต่อปี พร้อมกันนี้ที่ประชุมเห็นชอบผลักดันการจัดตั้งไทยแลนด์ ฮาลาล วัลเลย์ (Thailand Halal Valley) เพื่อเป็นศูนย์กลางการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศ

นอกจากนี้ที่ประชุมรับทราบสถานการณ์อุตสาหกรรมฮาลาล จากข้อมูลของ Adroit Market Research ระบุว่า ในปี 2020 ตลาดฮาลาลโลก มีมูลค่า 7.2 ล้านล้านเหรียญฯ และคาดว่าจะสูงถึง 11.2 ล้านล้านเหรียญฯ ภายในปี 2028 เนื่องจากประชากรมุสลิมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตลาดฮาลาลเกิดการขยายตัว ครอบคลุมอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น modest fashion (แฟชั่นที่ปกปิดมิดชิดตามหลักศาสนาอิสลาม) การท่องเที่ยวเครื่องสำอาง การสื่อสารและสันทนาการ เป็นต้น โดยมูลค่าของตลาดการค้าอาหารฮาลาลโลกในปี 2567 อยู่ที่ 2.60 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 5.28 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2573 หรือเพิ่มขึ้น 12.5% เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรมุสลิมโลกและการขยายตัวของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศมุสลิม นับเป็นโอกาสสำคัญที่ประเทศไทยต้องเข้าไปมีส่วนร่วม

ทั้งนี้ การพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของไทยตามนโยบายรัฐบาลจะช่วยสร้างการรับรู้และการยอมรับผลิตภัณฑ์ฮาลาลไทย เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวและบริการ ตลอดจนธุรกิจ MICE รวมทั้งยังเป็นการขับเคลื่อน Soft Power ของไทย ลดข้อจำกัด แก้ไขระเบียบ และบูรณาการเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมฮาลาล โดยได้มีการมอบหมายให้ ดร.นลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย รับผิดชอบภารกิจการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศไทยไปสู่ตลาดโลก โดยเฉพาะการดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหา การเจรจาเพื่อลดอุปสรรคจากกฎระเบียบและมาตรการทางการค้ากับประเทศคู่ค้า เพื่อให้เข้าถึงตลาดที่มีศักยภาพทั้งตลาดเดิมและตลาดใหม่ ๆ

ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงขั้นตอนต่อไปจะนำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ เสนอต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อให้ความเห็นชอบ โดยแผนปฏิบัติการฯ ได้กำหนดผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลเป้าหมาย (ระยะแรก) ไว้ 5 กลุ่ม ได้แก่ 1. อาหารฮาลาล เช่น เนื้อสัตว์ อาหารแปรรูป อาหารทะเล อาหารพร้อมรับประทาน อาหารฮาลาลโดยธรรมชาติ และอาหารมุสลิมรุ่นใหม่ 2. แฟชั่นฮาลาล ประกอบด้วย สิ่งทอ อัญมณี เครื่องหนัง 3. ยา สมุนไพร เครื่องสำอางฮาลาล 4. โกโก้และผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่อง 5. บริการและการท่องเที่ยวฮาลาล ทั้งนี้ ภายใต้ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ ปี 2567-2570 ได้วางกรอบใช้งบประมาณทั้งสิ้น 1,230 ล้านบาท ประกอบด้วย 3 มาตรการ คือ 1.การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานการผลิตฮาลาลไทย 2. การพัฒนาการผลิตได้มาตรฐานอุตสาหกรรมฮาลาลไทย 3. การยกระดับปัจจัยแวดล้อมอุตสาหกรรมฮาลาลไทย โดยมีโครงการที่เป็น Quick Win (พ.ศ. 2567 - 2568) ใช้งบประมาณ 95 ล้านบาท ในการดำเนินงาน ได้แก่ สร้างการรับรู้ศักยภาพสินค้าและบริการอาหารฮาลาลไทย การขยายตลาดสินค้าและบริการอาหารฮาลาลไทยในประเทศและต่างประเทศ การจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย และการจัดทำระบบ Halal IU ซึ่งจะเป็นฐานข้อมูลรายงานเชิงลึกและวิเคราะห์ตลาด เป็นต้น

สำหรับศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทยจะทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายและแผนพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทย สร้างกลไกสนับสนุน Ecosystem ของอุตสาหกรรมฮาลาลไทย เพื่อยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิต มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ ควบคู่กับมาตรฐานสินค้าฮาลาลและมาตรฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมการค้าผ่านการขยายตลาดการค้าสินค้าและบริการฮาลาล ทั้งในและระหว่างประเทศ รวมถึงทำหน้าที่เป็น National Focal Point ในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้ การพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทยจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก สร้างงาน สร้างอาชีพ กระจายรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน รวมทั้งลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและทั่วถึง