In News

ครม.ไฟเขียวหวยเกษียณออกทุกวันศุกร์ ทางออนไลน์ผู้มีสิทธิซื้ออายุ15-59ปี



กรุงเทพฯ-ครม. มีมติเห็นชอบหลักการตามแนวทางในการส่งเสริมการออมทรัพย์ของ กอช. เพื่อรองรับการเกษียณ ผ่านโครงการสลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ

วันที่ 16 กรกฎาคม 2567 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (16 กรกฎาคม 2567) มีมติให้ความเห็นชอบหลักการตามแนวทางในการส่งเสริมการออมทรัพย์ของสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อรองรับการเกษียณผ่านโครงการสลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว กอช. จะมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายได้ เมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 ในส่วนที่เกี่ยวข้องเสียก่อน ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และมอบหมายให้ กอช. ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 ในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการดำเนินโครงการสลากสะสมทรัพย์ต่อไป

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สัดส่วนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้ประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ และในปี 2576 คาดว่าประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด ซึ่งแนวโน้มของผู้สูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้นมีผลกระทบต่อตลาดแรงงานอย่างมีนัยสำคัญ และเป็นการเพิ่มภาระงบประมาณในการดูแลด้านหลักประกันรายได้ของผู้สูงอายุด้วย แม้ว่าปัจจุบันระบบบำนาญและระบบสนับสนุนการออมเพื่อสร้างหลักประกันรายได้สำหรับผู้สูงอายุจะครอบคลุมประชากรวัยทำงานทุกกลุ่มทั้งแรงงานในระบบและนอกระบบ แต่ความท้าทายหลักยังเป็นเรื่องของความไม่ยั่งยืนทางการเงินจากแนวโน้มภาวะเงินเฟ้อที่จะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต และความไม่เพียงพอของรายได้ที่จะได้รับจากระบบการออมต่างๆ ในวัยสูงอายุ ดังนั้น เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด โดยเฉพาะการดูแลประชาชนกลุ่มแรงงานนอกระบบไม่ให้อยู่ในภาวะยากจนในวัยชรา ลดภาวะพึ่งพิงของประชาชน และลดภาระงบประมาณของรัฐมรการดูแลผุ้สูงอายุ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนากลไกการออมเพื่อรองรับการเกษียณสำหรับแรงงานนอกระบบ และสร้างแรงจูงใจให้กลุ่มแรงงานนอกระบบมีการสะสมเงินออมได้อย่างเพียงพอและต่อเนื่องในระยะยาวเพื่อใช้จ่ายในวัยสูงอายุ

นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ กค. ศึกษาแนวทางส่งเสริมการออมเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และเพิ่มแรงจูงใจให้กลุ่มแรงงานนอกระบบที่ยังไม่มีการออมให้เกิดความมั่นคงทางการเงินในวัยเกษียณ โดยให้เสนอเรื่องดังกล่าวต่อ ครม. พิจารณาในโอกาสแรก ประกอบกับพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 มีบทบัญญัติที่ยังไม่ครอบคลุมการส่งเสริมการออมสำหรับแรงงานนอกระบบทั้งหมด จึงมีความจำเป็นต้องปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวเพื่อขยายให้ครอบคลุมผู้ประกันตนมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถเป็นกลไกการออมสำหรับแรงงานนอกระบบในระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คณะกรรมการ กอช. ในการประชุมวาระพิเศษเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2567 มีมติเห็นชอบแนวทางในการส่งเสริมการออมทรัพย์ของ กอช. เพื่อรองรับการเกษียณแก่ประชาชน รวมทั้งสอดคล้องกับสถานการณ์ผู้สูงอายุและโครงสร้างประชากรในประเทศ โดยใช้วิธีดำเนินโครงการสลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว กอช. จะมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายได้ เมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับหลักการโครงการสลากสะสมทรัพย์ฯ รายละเอียดโครงการสรุปได้ ดังนี้

วัตถุประสงค์
1. ขยายโอกาสให้ผู้ประกันตนตามพระราชบัญญติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 40 และกลุ่มแรงงานนอกระบบมีทางเลือกในการออมแบบสมัครใจเพิ่มมากขึ้น
2. กระตุ้นและเพิ่มแรงจูงใจให้ประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายเข้าสู่ระบบการออมเพื่อให้เกิดความมั่นคงทงการเงินในวัยเกษียณ
3. ลดภาวะพึ่งพิงของผู้สูงอายุกลุ่มเปราะบางที่อาจจะกลายเป็นคนยากจนในวัยเกษียณอายุ
4. ลดภาระทางการคลังในระยะยาวสำหรับการดูแลผู้สูงอายุ รวมทั้งสามารถลดการจัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

ผู้มีสิทธิซื้อสลาก - สมาชิก กอช. ปัจจุบัน ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และแรงงานนอกระบบที่มีอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์

เป้าหมายโครงการ – การมีจำนวนสมาชิกประเภท ข. (บุคคลสัญชาติไทยซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ และเป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคมมาตรา 40 ทางเลือกที่ 2 และ 3 (ได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพหรือเป็นบุคคลอื่นที่กำหนดโดยกฎกระทรวง โดยรัฐบาลไม่จ่ายเงินสมมบ)) ไม่น้อยกว่า 5 ล้านคน ภายในระยะเวลา 3 ปี (คาดว่าจะมีสมาชิกที่จะเข้าร่วมโครงการ 0.36-21 ล้านคนต่อปี)

รูปแบบการดำเนินโครงการที่สำคัญ ดังนี้
1. ออกสลากเริ่มต้นประมาณ 5 ล้านใบต่องวด (ต่อสัปดาห์) หรือ 260 ล้านใบต่อปี โดยกำหนดออกรางวัลทุกวันศุกร์ (รวม 52 งวดต่อปี) ในราคาขายใบละ 50 บาท คิดเป็นเงิน 250 ล้านบาทต่องวด หรือ 13,000 ล้านบาทต่อปี
2. กำหนดรูปแบบสลากเป็นสลากดิจิทัล (สลากขูดดิจิทัล) โดยผู้ซื้อลงทะเบียนการซื้อและซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ในลักษณะแอปพลิเคชันที่ผูกกับบัญชีธนาคาร ทั้งนี้ จำกัดการซื้อสลากต่อคนได้สูงสุดไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน หรือคนละไม่เกิน 60 ใบต่องวด
3. จำนวนเงินที่ซื้อสลากจะถูกเก็บเป็นเงินสะสมเฉพาะบุคคล โดยจะได้รับเงินที่ซื้อสลากคืนทั้งหมดในรูปแบบเงินบำเหน็จเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ทั้งนี้ รัฐบาลจะไม่สมทบเงินให้กับผุ้ซื้อสลากและไม่รับประกันผลตอบแทนจากการซื้อสลาก
4. เมื่อสมาชิกประเภท ข. อายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ กอช. จะจ่ายเงินบำเหน็จผ่านพร้อมเพย์เลขบัตรประจำตัวประชาชน หรือจ่ายเงินบำเหน็จให้กับผู้รับผลประโยชน์ผ่านพร้อมเพย์เลขบัตรประจำตัวประชาชน (กรณีสมาชิกประเภท ข. เสียชีวิต)

เงินรางวัล 
1. เงินรางวัลกรณีถูกรางวัลจะได้รับเมื่อประกาศผลตามวันเวลาที่คณะกรรมการ กอช. กำหนด
2. กำหนดรูปแบบรางวัลต่องวด (1 สัปดาห์) รวมเงินรางวัล 780 ล้านบาทต่อปี ดังนี้ รางวัลที่ 1 จำนวน 1 ล้านบาท จำนวน 5 รางวัล รวมเงินรางวัล 5 ล้านบาท รางวัลที่ 2 จำนวน 1,000 บาท จำนวน 10,000 รางวัล รวมเงินรางวัล 10 ล้านบาท 
3. การออกรางวัลจะดำเนินการโดย กอช. ร่วมกับสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล
4. การรับเงินรางวัล กอช. จะจ่ายเงินรางวัลให้กับผู้ถูกรางวัลผ่านบัญชีพร้อมเพย์หมายเลขบัตรประชาชนไม่เกินวันถัดไป

งบประมาณ
1. โครงการสลากสะสมทรัพย์ฯ ในปีแรกใช้งบประมาณ 830 ล้านบาท ประกอบด้วย (1.1) เงินรางวัลจำนวน 780 ล้านบาทต่อปี (1.2) การพัฒนาระบบเทคโนโลยี แอปพลิเคชัน ระบบ Clearing และระบบงานที่เกี่ยวข้องจำนวน 20 ล้านบาท (1.3) โครงสร้างพื้นฐาน จำนวน 30 ล้านบาท
2. ขอรับการสนับสนุนเงินรางวัลจากรัฐบาล งวดละ 15 ล้านบาท รวม 780 ล้านบาทต่อปี (คิดเป็นร้อยละ 6 ของเงินซื้อสลากที่สะสมเข้ากองทุนประมาณปีละ 13,000 ล้านบาท) หรือในจำนวนที่มีความเหมาะสมกับปริมาณการออกสลาก และความต้องการของสมาชิกเป้าหมาย

โดยแนวทางในการส่งเสริมการออมทรัพย์ของสมาชิกเพื่อรองรับการเกษียณ ผ่านโครงการสลากสะสมทรัพย์ฯ ดังกล่าว เป้นแนวทางเบื้องต้น ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม

ทั้งนี้ เห็นควรมอบหมายให้ กอช. จัดทำประมาณการความเสี่ยงของภาระทางการคลังที่จะเพิ่มขึ้นในกรณีต่างๆ เพื่อกำหนดแนวทางรองรับไว้ล่วงหน้า และให้เร่งศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับทางเลือกของรูปแบบการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการออมด้วยเงินรางวัล (prize – linked savings) ทั้งจากกรณีในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นพฤติกรรมการออมและการใช้จ่ายของแรงงานนอกระบบ ผลตอบแทนที่สมาชิกจะได้รับตลอดระยะเวลาการออมของโครงการสลากสะสมทรัพย์ฯ สภาวะการแข่งขันจากผลิตภัณฑ์คู่แข่ง และแนวทางการบริหารเงินลงทุนของโครงการสลากสะสมทรัพย์ฯ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณากำหนดแนวทาง ซึ่งจะทำให้โครงการสลากสะสมทรัพย์ฯ สามารถสร้างรายได้เพื่อใช้เป็นต้นทุนของเงินรางวัล และครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของ กอช. ได้อย่างมั่นคง รวมทั้งช่วยลดภาระทางการคลังและความเสี่ยงทางการเงินของโครงการดังกล่าวได้ด้วย