In News

นายกฯย้ำ3เรื่องในรายการคุยกับเศรษฐา 'แก้ปัญหาน้ำ-ที่ดิน-น้อมนำพระราชดำริ'



กรุงเทพฯ-นายกฯ เผย รัฐบาลเตรียมส่งมอบที่ดิน 72,000 ไร่ ให้ประชาชน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบฯ พร้อมเชิญชวนทุกภาคส่วน เข้ามามีส่วนร่วมการดำเนินโครงการ ย้ำปัญหาเรื่องน้ำเกี่ยวข้องในหลายมิติ เชื่อทุกรัฐบาลให้ความสำคัญ ระบุหากบริหารจัดการน้ำได้ ให้มีน้ำอุปโภคบริโภค มีน้ำเพียงพอต่อการทำการเกษตร ไม่เกิดน้ำท่วมน้ำแล้ง จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมโหฬาร และรัฐบาลน้อมนำโครงการพระราชดำริ แก้ไขปัญหาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของ ปชช. ในทุกมิติ

วันนี้ (20 กรกฎาคม 2567) เวลา 08.00 – 08.30 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พูดในรายการ “คุยกับเศรษฐา” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ถึงโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของประชาชน ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ว่า ปัญหาที่ดินทำกินยังคงเป็นปัญหา เพราะว่าสิ่งที่ทำกิน ที่ดินสามารถทำอะไรได้หลาย ๆ อย่าง เป็นต้นทุนในการหากระแสเงินสดหรือการเลี้ยงชีพก็ได้ โดยรัฐบาลทำงานร่วมกับกองทัพไทยในการที่จะมอบที่ดิน 72,000 ไร่ให้กับประชาชน ซึ่งจะมีการ Kick off เร็ว ๆ นี้ ณ จังหวัดนครพนม ซึ่งนอกเหนือจากการมอบที่ดิน เราก็ดูแลและซ่อมแซมบ้านทั่วประเทศด้วย

นายกฯ กล่าวต่อว่า นอกจากนั้น รัฐบาลได้ดำเนินโครงการสำหรับกลุ่มคนพิการ โดยการจัดหากายอุปกรณ์ช่วยเหลือคนพิการ จำนวน 72,000 ชุด ซึ่งมีรถจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ได้ปล่อยรถออกไปให้อุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อให้ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของคนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง หรือทุพพลภาพในบางมิติให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรี พร้อมกันนี้ รัฐบาลได้ดำเนินโครงการบริจาคโลหิต 10,000,000 ซีซี ซึ่งเรื่องของการบริจาคโลหิตถือเป็นเรื่องใหญ่ ทุกวันนี้ยังมีคนที่ต้องการโลหิตอยู่จำนวนมาก เพราะฉะนั้นเรื่องของการให้ถือเป็นเรื่องสำคัญ การรณรงค์ทั้งเอกชนและหน่วยงานภาครัฐให้มีการบริจาคโลหิตตรงนี้ โดยเปิดให้มีการบริจาคโลหิตไปจนถึงสิ้นปีนี้ ประชาชนที่สนใจอยากเป็นผู้ให้ก็สามารถไปบริจาคโลหิตได้ที่โรงพยาบาลรัฐทุกแห่งทั่วประเทศ และที่สภากาชาดไทย

นายกฯ กล่าวเชิญชวนพี่น้องประชาชนเข้าร่วมโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ รวมถึงโครงการอื่น ๆ  ของรัฐบาลที่ได้เปิดกว้างและอยากให้ประชาชนมีส่วนร่วม รวมถึงห้างร้าน และเอกชนต่าง ๆ ก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในหลายสิบโครงการที่ได้มีการพูดถึง หรือโครงการย่อย ๆ อีก 500 กว่าโครงการ รัฐบาลขอเชิญชวนให้ทุกคนมีส่วนร่วมเข้ามาตรงนี้ ทั้งนี้ จากผลการดำเนินโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ ได้รับการตอบรับด้วยดีจากทุกหน่วยงาน และทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นบริษัท รัฐวิสาหกิจ เอกชนต่าง ๆ ทำให้ผู้ที่ด้อยโอกาสสามารถยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของตัวเองขึ้นมาได้ ซึ่งโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ ทั้ง 10 โครงการหลักของรัฐบาล จะดำเนินการอย่างต่อเนื่องไปจนถึงปลายปี และเชื่อว่าในวาระอื่น ๆ ในมิติอื่น ๆ รัฐบาลก็ยังเป็นผู้สนับสนุนเรื่องน้ำ เรื่องป่า  และเรื่องคนต่อไป   

“ผมเชื่อว่าการที่พระองค์ท่านทรงงานอย่างหนักท่านไม่ได้อยู่ในวังอย่างเดียว ท่านลงพื้นที่ค่อนข้างมาก มีการลงรายละเอียดแต่ละโครงการด้วยพระองค์เอง ทางเราเองก็มีการศึกษาติดตามโครงการพระราชดำริต่าง ๆ เวลาที่ผมลงพื้นที่ต่างจังหวัดต่าง ๆ ได้มีการเข้าถึงและเข้าใจถึงปัญหาต่าง ๆ ที่พระองค์ท่านพยายามจะทำ รัฐบาลมีหน้าที่ที่จะขับเคลื่อนหน่วยงานต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้รัฐบาล รัฐวิสาหกิจมีส่วนร่วมมาก และภาคเอกชน เราได้มีการพยายามเชิญเข้ามามีส่วนร่วมในการต่อยอดในการทำโครงการพระราชดำริต่าง ๆ” นายกฯ ย้ำ

ย้ำปัญหาเรื่องน้ำเกี่ยวข้องในหลายมิติ 

ช่วงหนึ่งที่นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงปัญหาที่เกี่ยวกับน้ำของประเทศไทยว่า ปัญหามีหลายมิติ เรื่องของไม่ท่วม ไม่แล้ง จริง ๆ แล้วเป็นเรื่องของรัฐบาล ทุก ๆ รัฐบาลให้ความสำคัญ รัฐบาลนี้ก็ไม่แตกต่างจากรัฐบาลอื่น เราไม่ได้โฟกัสแค่การสร้างสาธารณูปโภคใหญ่ ๆ อย่างเช่น สนามบิน หรือ แลนด์บริดจ์ ไม่ได้ดูแค่เรื่องเดียว เรื่องของการไม่ท่วม ไม่แล้งจะมีผลกระทบในเชิงบวกหรือลบ ถ้าไม่ทำพี่น้องประชาชนหลายสิบล้านคนจะเป็นอย่างไร เพราะเราพึ่งการเกษตรค่อนข้างจะเยอะ ถ้าเราดูแลให้ดีเรื่องไม่ท่วมไม่แล้ง ตนเองเชื่อว่าผลผลิตและมูลค่าทางเศรษฐกิจจะมีอย่างมโหฬาร เพราะฉะนั้นในเรื่องของการดูแลในเรื่องไม่ท่วมไม่แล้ง เราให้ความสำคัญอย่างยิ่ง รวมถึงเรื่องของการบริโภคน้ำด้วยเหมือนกัน 

โครงการแรกที่รัฐบาลทำคือเรื่องของน้ำบาดาล ซึ่งจริง ๆ แล้วทำเยอะอยู่แล้ว แต่ว่าน้ำบาดาลเป็นแหล่งน้ำที่ต้องพึ่งพาค่อนข้างจะเยอะ ตนเองลงพื้นที่ไปที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน เพื่อจะทำเรื่องน้ำบาดาล ซึ่งน้ำบาดาลไม่ได้แค่การขุดเจาะอย่างเดียว เรื่องของสายส่งก็เป็นเรื่องสำคัญ บางแห่งที่ทำมา ทำมาหลายปีแต่สายส่งยังไม่มี ทางราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านก็ได้บอกมาว่ายังขาดงบประมาณบางส่วน เราลงทุนเจาะน้ำบาดาลไปหลายสิบล้าน แต่เสียหายหลายร้อยล้าน อีกแค่ 19 ล้าน ก็ Cover ได้ 3-4 หมู่บ้าน ทำให้มีสายส่งไปที่โรงพยาบาล และโรงเรียนได้ ตรงนี้ก็จะทำคุณประโยชน์มโหฬารให้กับพี่น้องประชาชน น้ำบาดาลก็เป็นแหล่งน้ำหนึ่งที่เราทำอยู่เกี่ยวกับเรื่องน้ำ ในโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ

นายกฯ กล่าวว่า ประเทศไทยโชคดี มีแม่น้ำใหญ่ ๆ อยู่เยอะ เป็นสายเลือดที่สามารถหล่อเลี้ยงให้กับพี่น้องเกษตรกร และประชาชนคนไทยหลาย ๆ คนได้รับผลประโยชน์จากเรื่องของการมีน้ำอุปโภค บริโภค หรือเป็นเรื่องของการท่องเที่ยวก็ดี แต่เรื่องของสายน้ำ หลาย ๆ สายน้ำ มีการตื้นเขิน ต้องมีการขุดลอกใหม่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของขยะ หรือว่าตะกอนที่สะสมมา ทำให้อาจจะไหลไม่ดี อาจจะไม่สามารถระบายน้ำได้ดี ทำให้เกิดการตื้นเขินได้ง่าย เพราะฉะนั้นก็เป็นนโยบายหลักอันหนึ่งที่เราพยายามที่จะพัฒนา แก้ไข ปรับปรุงสายน้ำทั้ง 72 สายน้ำนี้ 

นายกฯ ระบุว่า ในมิตินี้ คลองหลาย ๆ คลองที่ตนเองไปดูมากับท่านราชเลขานุการฯ ไม่ว่าจะเป็นคลองเปรมประชากรก็ตามที ที่มาจากทิศเหนือของกรุงเทพมหานคร ไปดูว่ามีการลอกคลอง เก็บขยะ ยิ่งพื้นที่ชุมชนที่อยู่ริมคลอง เราก็มีการพัฒนาและจัดที่อยู่อาศัยให้เป็นสัดเป็นส่วน ทำให้มีที่เดินได้ ทำให้พี่น้องประชาชนอยู่อย่างมีความสุขด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเกิดเข้ามาในตัวเมืองจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นคลองโอ่งอ่าง หรือกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย ลองไปดูวันนี้จะแปลกใจมาก เพราะคลองใสมาก และมีปลา ซึ่งทำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดี จริง ๆ แล้ว เราก็ทราบมาอยู่ว่าสมัยก่อนกรุงเทพมหานครเราเป็นเวนิสของภาคตะวันออกก็ว่าได้ แต่ว่าภาพลักษณ์ในช่วงหลัง ก่อนที่พระองค์ท่านทรงมีพระราชดำริมาให้ดูแลเรื่องคลองน้ำใส มันก็มีความขุ่น มีกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ขึ้นมา การที่เรามาทำตรงนี้ก็สามารถทำให้คลองใสขึ้นมา ชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนที่อยู่ริมคลอง ไม่ใช่แค่ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีสภาพอากาศที่ดีขึ้นอย่างเดียว เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ ถ้าแถวคลองโอ่งอ่าง มีร้านอาหารอินเดีย มีร้านอาหารอร่อยอยู่หลาย ๆ ร้านเลยก็ว่าได้ ตรงนี้ก็เป็นนิมิตหมายที่ดี 

นายกฯ กล่าวว่า การจัดระเบียบไปพร้อม ๆ กับวิถีชีวิตของผู้คน จะต้องมีการพูดคุยกัน บางเรื่องก็เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เพราะการที่มีชีวิตความเป็นอยู่ริมคลองอยู่แล้ว การที่เราไปขอให้เขาขยับขยาย ย้ายที่อยู่บ้าง ถึงแม้จะมีปัจจัยของเงินที่เข้ามาช่วยเหลือเขาก็ตามที ก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เราจะไปสั่งอย่างเดียวไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องไปพูดคุยให้ทราบ ถ้าเกิดเราอยู่ด้วยกัน เราทำด้วยกันดี ๆ ทุก ๆ ครัวเรือนร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาพื้นที่บริเวณนั้นให้เป็นสัดเป็นส่วนขึ้น ให้ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีรายได้เสริมที่ดีขึ้นด้วย 

นายกฯ กล่าวถึงปัญหาการจัดการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำว่า หัวใจสำคัญที่สุดจริง ๆ คือต้องเป็นความเข้าใจของพี่น้องประชาชนทุกคน เพราะเราทุกคนเป็นเจ้าของพื้นที่ตรงนั้นเหมือนกัน ต้องทำความเข้าใจกับเรื่องของวิถีชีวิตในการดำรงชีวิต อย่างเช่น เรื่องของการทิ้งขยะต่าง ๆ เหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเวลาเราไปบางประเทศอย่างที่มหานครเจนีวา น้ำใสแจ๋วเลย เราเองก็อยากให้คูคลองของเราเป็นแบบนั้นเหมือนกัน ซึ่งเราไปดูแล้ว ระยะหลังคูคลองของเราก็มีขยะน้อยลงไป เพราะเรามีการจัดเก็บที่ดีขึ้น มีเทคโนโลยีมาช่วย อย่างเช่น ทางผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครก็ไปหาอุปกรณ์มาว่า การที่คูคลองมีกลิ่นเหม็นมาก ถ้าเกิดจะไปลอกดินขึ้นมาตลิ่งก็จะทรุดได้ แต่ปัจจุบันไปเอาเครื่องมาจากบริษัทสวิตเซอร์แลนด์ ดูดแต่หน้าดินที่มีแก๊สเน่าเยอะ ที่ส่งกลิ่นไม่ดี ดูดจากหน้าดินแล้วบำบัดน้ำ เข้ากระบวนการบำบัดน้ำ แยกขยะออกจากดิน ขยะจากพลาสติกทั้งหลาย ดินก็เข้ากระบวนการบำบัด เสร็จแล้วดินเหล่านั้นทำเป็นปุ๋ย แล้วปล่อยน้ำกลับคืนสู่แม่น้ำได้ กลับคืนสู่คลองนั้น ๆ ได้ ตรงนี้เข้าใจว่า ต่อ 1 กิโลเมตรใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ในการที่จะทำให้น้ำบริเวณนั้นใสขึ้นมาพอประมาณได้ ทำให้สภาพแวดล้อมทุกอย่างดีขึ้น 

นายกฯ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่พบปะประชาชนที่ผ่านมา ปัญหาที่สะท้อนให้เห็น หนึ่งในหลาย ๆ เรื่อง คือ เรื่องสาธารณสุข เพราะฉะนั้นเรามีโครงการไปพัฒนาและเติมเต็มในแง่ของอุปกรณ์อาคารให้กับโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช โรงพยาบาลชุมชนเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลชัยพัฒน์ และหน่วยบริการปฐมภูมิ 72 แห่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่เราจะทำให้ในวันมหามงคล ทั้งนี้ ตนเองเพิ่งเดินทางไปที่จังหวัดสระแก้ว มีการเพิ่มอุปกรณ์และต่อเติมอาคารให้ และเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ตนเองก็เดินทางไปโรงเรียนที่จังหวัดนนทบุรี ไปดูเรื่องน้ำ เพราะว่าน้ำเป็นสิ่งที่จำเป็นในหลาย ๆ โอกาส คนบางคนก็คิดว่าเป็นเรื่องของตาย แต่ค่าใช้จ่ายในการใช้น้ำดื่มก็สูงมาก เพราะฉะนั้นเรื่องของการทำน้ำดื่มได้ในโรงเรียนถือเป็นเรื่องสำคัญ เราพยายามที่จะไปทำตรงนี้ให้ ทำน้ำให้ใสสามารถอุปโภค บริโภคได้อย่างไม่มีพิษ

ย้ำรัฐบาลน้อมนำโครงการพระราชดำริยกระดับคุณภาพชีวิตของปชช.ในทุกมิติ

ช่วงแรกๆของรายการ นายกรัฐมนตรีพูดถึงการดำเนินโครงการหลัก 10 โครงการของรัฐบาล ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ซึ่งเป็นความตั้งใจของรัฐบาลในการเร่งแก้ไขปัญหาและยกระดับชีวิตของประชาชน โดยการเข้าไปแก้ที่ต้นตอหรือฐานราก โดยเฉพาะการแก้ปัญหาใน 3 กลุ่มใหญ่นั้นคือ ป่า น้ำ และคน ที่ถือเป็นหัวใจและร่างกายของประเทศ นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญของรายการ ดังนี้

เหนือสิ่งอื่นใด คือความลึกในการทำงาน ถ้าเกิดเราเป็นเอกชนหรือเป็นประชาชนธรรมดาคนหนึ่งที่ติดตามข่าว อย่างเช่น ช่วงเวลา 20.00 น. เป็นต้น จะได้ทราบว่ามีโครงการอะไรบ้าง แต่พอลงพื้นที่จริง ๆ ลงไปในฐานะนายกรัฐมนตรี ไปพร้อมคณะที่มีหลากหลายหน่วยงาน และหน่วยงานที่รับผิดชอบในโครงการพระราชดำริ นั้น ๆ ได้มีการนำเสนอในเชิงลึก ทำให้เราทราบถึงความยากลำบากที่เราจะต้องใส่ใจและใส่เงินลงไปและผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนในเชิงบวก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปากท้อง การเปลี่ยนแปลงอาชีพ หรือการเปลี่ยนเรื่องที่ไม่ถูกกฎหมายให้เป็นเรื่องที่ถูกกฎหมายในแง่วิถีชีวิตในการทำกินให้เห็นชัดขึ้น 

นายกฯ กล่าวต่อไปว่า ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านก็ทรงเสด็จลงพื้นที่เยอะมาก เช่นเดียวกันกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงมีความเป็นห่วงพี่น้องประชาชนเป็นอย่างยิ่ง ในพื้นที่ที่อาจจะมีความลำบาก อยู่ไกลความเจริญ ในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ ที่ไม่ใช่แค่เรื่องการทำมาหากินเพียงอย่างเดียว เป็นเรื่องของการประกอบอาชีพด้วย เพราะฉะนั้นเรื่องของน้ำ เรื่องการไม่รุกล้ำป่า เรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของคนเป็นเรื่องที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบสาธารณสุข การศึกษาต่าง ๆ สามารถจะร้อยเรียงให้เป็นเรื่องเดียวกัน สามารถทำให้พี่น้องประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าในทุกมิติ 

เนื่องในโอกาสที่เป็นปีมหามงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 ถือเป็นโอกาสที่ดีที่พวกเราในฐานะพสกนิกรชาวไทยร่วมกันเฉลิมฉลองในปีมหามงคล โดยที่เราจะน้อมนำโครงการพระราชดำริต่าง ๆ ที่ทำเกี่ยวกับดิน น้ำ ป่า คน มาบรรจุเข้าไปในโครงการที่เราได้ทำขึ้นมา โดยทางรัฐบาลจะร่วมกับภาคเอกชน องค์กรต่าง ๆ ซึ่งได้มีการพูดคุยกันและคัดเลือกกว่า 600 โครงการ มาเป็น 10 โครงการหลัก แต่ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า 600 โครงการ ลดเหลือ 10 โครงการ อีก 500 กว่าโครงการก็ทำอยู่ แต่เรามีโครงการหลัก 10 โครงการซึ่งทุกอย่างอยู่ร่วมกับ “ป่า น้ำ คน” 

นายกฯ กล่าวถึงโครงการยกระดับสวนสาธารณะบึงหนองบอนและ Pocket Park 72 แห่ง ว่า บึงหนองบอนถ้าได้ไปดูในแผนที่กรุงเทพมหานคร จะอยู่ติดกับสวนหลวง ร.9 ซึ่งบึงหนองบอนมีพื้นที่หลายร้อยไร่ มีพื้นที่บึงอยู่แล้ว และทางรัฐบาลเองก็ได้ไปสำรวจมา ก็อยากมีการพัฒนาให้เป็นสวนสาธารณะที่ใหญ่แห่งหนึ่ง โดยคณะรัฐมนตรีหลายท่านรวมทั้งตนเองได้ลงไปในพื้นที่ดู มีต้นไม้ มีสระน้ำที่ใหญ่ พร้อมพัฒนาให้เป็นศูนย์สุขภาพได้ เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของพี่น้องประชาชน ถือว่าเป็นพาร์คที่ใหญ่ที่สุดใน 72 พาร์คที่จะทำ แต่ในบางพื้นที่ 72 พาร์ค บางพื้นที่อาจจะเป็นแค่พื้นที่ไร่เดียวหรือแค่ 2 งาน อยู่ตามพื้นที่ที่มีความแออัดสูง การที่เรามีพื้นที่เหล่านี้ให้เป็นเหมือนกับที่พักผ่อนหย่อนใจของคนกรุง ซึ่งในปัจจุบันที่อยู่อาศัยมีความคับแคบ ก็จะเป็นที่ผ่อนคลายได้ มีพื้นที่ออกกำลังกาย มีสวนสาธารณะเล็ก ๆ หรือมีสนามกีฬาเล็ก ๆ เพื่อให้เด็กและเยาวชนหรือประชาชนทั่วไปได้มีการมาออกกำลังกายได้ 

โครงการ 72 ล้านต้น พลิกฟื้นผืนป่าว่า เพราะสภาพแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญ เข้าใจว่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการแจกต้นกล้าซึ่งแต่ละหน่วยงานต่าง ๆ นำไปปลูกในทุกจังหวัดของประเทศไทย ซึ่งเป็นที่ทราบดีว่ามีการทำไร่เลื่อนลอยต่าง ๆ เราพยายามที่จะแก้ไขตรงจุดนี้ควบคู่ไปกับเรื่องทำมาหากินด้วยเช่นกัน ถึงแม้ว่าจะมีการตัดป่าไป แต่เรามีการปลูกต้นไม้ทดแทนทำให้ระบบนิเวศสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการรักษาหน้าดิน หรือเป็นการทำให้เกิดฝนโดยธรรมชาติ เพราะฉะนั้นการที่เราแจกต้นกล้าไปปลูกเป็นเรื่องที่สำคัญ 

นายกฯ ระบุว่าการพัฒนาหรือปรับปรุงสวนสาธารณะ ทั้งพาร์คต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งปลูกป่า ผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นที่ประชาชนได้รับตรงแล้ว ยังจะเป็นการที่ทำให้ระบบนิเวศสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทำให้เกิดการรักษาหน้าดินที่ดี ทำให้เรามีฝนตกที่ดีพอ ก่อให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติขึ้นมาได้อีก มีทุก ๆ มิติ ไม่ว่าเป็นมิติของดูแลสภาพแวดล้อม หรือเรื่องของเศรษฐกิจก็ตามที ซึ่งคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อมที่ดีคือประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชน ไม่เพียงเท่านั้นการมีส่วนร่วมในกิจกรรมข้างต้น ล้วนเป็นการทำความดีให้กับสังคมและร่วมกันเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในปีมหามงคลด้วย