In News

ครม.เห็นชอบมาตรการป้องกันปราบปราม การค้ามนุษย์ในสถานประกอบกิจการฯ



กรุงเทพฯ-​ครม.เห็นชอบร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง มาตรการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในสถานประกอบกิจการ โรงงาน และยานพาหนะ

วันนี้ (23 กรกฎาคม 2567) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง มาตรการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในสถานประกอบกิจการ โรงงาน และยานพาหนะ ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในสถานประกอบกิจการ โรงงาน และยานพาหนะ และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น

นายคารม กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 มาตรา 16/1 กำหนดให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจออกประกาศกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในสถานประกอบกิจการ โรงงาน และยานพาหนะ และประกาศกำหนดให้สถานประกอบกิจการ โรงงาน และยานพาหนะใด ๆ ต้องอยู่ภายใต้บังคับของมาตรการดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง มาตรการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในสถานประกอบกิจการ โรงงาน และยานพาหนะ ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 กำหนดมาตรการตามพระราชบัญญัติดังกล่าว เช่น

1. ให้สถานที่ที่ใช้ในการประกอบกิจการ โรงงาน และยานพาหนะ ได้แก่ สถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ โรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม อาคาร ที่พักอาศัยในเชิงพาณิชย์ประเภทหอพัก อาคารชุด หรือเกสต์เฮาส์ (Guest House) ที่ให้ผู้อื่นเช่าโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยแรงงาน เรือประมงต่างประเทศที่เข้ามาในน้ำน่านไทย อยู่ภายใต้บังคับของมาตรการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์

2. ให้เจ้าของ ผู้ครอบครอง หรือผู้ดำเนินกิจการสถานประกอบกิจการโรงงาน และยานพาหนะ ต้องชี้แจงหรือจัดให้มีการอบรมลูกจ้างเกี่ยวกับการคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ต้องอนุญาตให้ใช้เครื่องมือติดต่อสื่อสารระหว่างลูกจ้างกับบุคคลภายนอก
นายคารม กล่าวต่อไปว่า ต่อมาได้มีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 พ.ศ. 2562 บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานร่วมรักษาการ เพิ่มความผิดและมาตรการในการคุ้มครองผู้เสียหายจากการบังคับใช้แรงงาน หรือบริการ และกำหนดลักษณะการกระทำที่เป็นความผิดฐานบังคับใช้แรงงานหรือบริการ รวมทั้งกำหนดอัตราโทษให้เหมาะสม ด้วยเหตุดังกล่าว พม. จึงได้เสนอร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง มาตรการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในสถานประกอบกิจการโรงงาน และยานพาหนะ ลงวันที่ 15พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ให้สอดคล้องกับพระราชกำหนดดังกล่าว และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น ซึ่งร่างประกาศดังกล่าวมีสาระสำคัญ ดังนี้

1. กำหนดให้ พม. กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับสถานประกอบกิจการ โรงงาน และยานพาหนะตามกฎหมายนั้น กำกับ ดูแลให้เจ้าของผู้ครอบครอง หรือผู้ดำเนินกิจการ ดำเนินการให้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในสถานประกอบกิจการ โรงงาน และยานพาหนะ
ดังต่อไปนี้
(1) ชี้แจงหรือให้ความรู้แก่ลูกจ้าง หรือผู้รับบริการ อย่างน้อยปีละครั้ง
(2) อนุญาตให้ลูกจ้างติดต่อสื่อสารกับบุคคลภายนอกได้
(3) ตรวจสอบและให้ความช่วยเหลือ ในกรณีที่ลูกจ้างหรือบุคคลอื่นใดกล่าวอ้างว่ามีการใช้กำลังบังคับหรือทำร้ายเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์หรือฐานบังคับใช้แรงงานหรือบริการ
(4) อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในการเข้าไปในสถานประกอบกิจการ โรมงาน หรือยานพาหนะ ที่สนเป็นเจ้าของ หรือผู้ครอง
(5) ควบคุม สอดส่อง และดูแล ไม่ให้มีการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์หรือฐานบังคับใช้แรงงานหรือบริการ
(6) แจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อพบว่ามีการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์หรือฐานบังคับใช้แรงงานหรือบริการ หรือให้ข้อมูลข่าวสาร หรือพฤติการณ์ต่าง ๆ ของบุคคลซึ่งมีเหตุอันควรสงสัยหรือควรเชื่อได้

2.กำหนดให้สถานที่ที่ใช้ในการประกอบกิจการ โรงงาน และยานพาหนะ ได้แก่ สถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ อาคารที่พักอาศัยในเชิงพาณิชย์ประเภทหอพัก อาคารชุด หรือเกสต์เฮาส์ (Guest House) ที่ให้ผู้อื่นเช่า โรงงานตามกฎหมายว่าด้วยแรงงาน เรือประมงต่างประเทศที่เข้ามาในน้ำน่านไทย อยู่ภายใต้บังคับของมาตรการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์