Authority & Harm
แนะปล่อยปลานักล่ากิน'ปลาหมอคางดำ' ต้องปลากะพงขนาด4-5ขีดขึ้นจึงเอาอยู่
ฉะเชิงเทรา-แนะวิธีปล่อยปลานักล่าขอให้เลือกให้ถูกขนาด หากปล่อยผิดไซด์อาจตกเป็นฝ่ายให้ปลาหมอคางดำเขมือบเป็นเหยื่อเสียเอง ชี้ควรนำปลากะพงขนาด 4-5 ขีดลงไปปล่อยแทนปลาไซด์นิ้วเพื่อให้ได้ผลที่ดีกว่า และยังเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงวิกฤตปลากะพงราคาตกต่ำ ทั้งยังจะเกิดประโยชน์ในระยะยาวกลายเป็นแหล่งอาหารให้แก่ประชาชนทั่วไปได้บริโภคอีกทางหนึ่งด้วย
วันที่ 23 ก.ค.67 เวลา 15.00 น. นายสมยศ จันทร์เกษม อายุ 67 ปี อดีตกำนัน ต.สองคลอง อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา และเป็นเกษตรกรผู้เพาะพันธุ์ลูกปลากะพงขาว ได้กล่าวถึงวิธีการนำปลากะพงไปปล่อยเพื่อให้ช่วยกำจัดปลาหมอคางดำที่กำลังมีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงในพื้นที่หลายจังหวัด รวมถึง จ.ฉะเชิงเทราด้วยว่า การนำปลากะพงขาวไซด์ปลา 3-4 นิ้วไปปล่อยลงในแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อให้ช่วยกำจัดปลาหมอคางดำนั้น อยากให้ทางอธิบดีกรมประมง หรือ รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
พิจารณาหาเงินงบประมาณมาชื้อปลากะพงขนาดปลาจาน หรือปลากะพงน้ำหนักประมาณ 4-5 ขีดในการนำไปปล่อยในแหล่งที่มีปลาหมอคางดำชุกชุม เพื่อให้ช่วยล่าปลาหมอคางดำ ซึ่งจะได้ผลมากกว่า เนื่องจากหากนำปลาไซด์นิ้วไปปล่อยลงในแหล่งน้ำที่มีปลาหมอคางดำขนาดใหญ่ชุกชุม ลูกปลากะพงไซด์ปลานิ้วที่ปล่อยลงไปก็อาจจะตกเป็นเหยื่อของปลาหมอคางดำที่กินไม่เลือกได้เช่นเดียวกัน ทั้งยังมีความทนทานอยู่ในน้ำทะเลที่ความเค็มถึง 30 กรัมต่อลิตรได้
อีกทั้งยังเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพง ที่ในเวลานี้ราคาปลากะพงตกต่ำ หลังจากถูกโจมตีตลาดจากปลาที่ส่งมาจากต่างประเทศ ที่เลี้ยงด้วยต้นทุนที่ถูกกว่า นอกจากนี้ยังจะเป็นประโยชน์ในระยาวในการเป็นแหล่งอาหารของประชาชนทั่วไป ที่จะสามารถจับไปเป็นอาหารบริโภคได้ในอนาคตอีกด้วย นายสมยศ กล่าว
สนทะนาพร อินจันทร์/ฉะเชิงเทรา