Authority & Harm

'ราชทัณฑ์'ช่วยแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ วาง2แผนร่วมแก้'ใช้บริโภคและช่วยจับ'



กรุงเทพฯ-วันพุธที่ 24 กรกฎาคม 2567 จากกรณีการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ที่สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนในหลายพื้นที่ โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ทุกกระทรวง ทบวง กรม  ดำเนินมาตรการเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของปลาหมอคางดำไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน

กรมราชทัณฑ์ ตระหนักดีว่า ขณะนี้การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำเป็นความเดือดร้อนของประชาชนในหลายพื้นที่ ดังนั้น กรมราชทัณฑ์จึงพร้อมนำศักยภาพขององค์กรเข้ามาช่วยสนับสนุนการแก้ไขอย่างบูรณาการกับทุกภาคส่วน และลงมือปฏิบัติการเชิงรุกในหลายมิติตามนโยบายของพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยมีแผนปฏิบัติการเชิงรุก ดังนี้

1. สนับสนุนการบริโภคปลาหมอคางดำ โดยกรมราชทัณฑ์ได้พิจารณาปรับเปลี่ยนรายการอาหารดิบรายสิ่งโดยจะทำหนังสือไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เป็นคู่สัญญากับเรือนจำ เพื่อขอความร่วมมือในการจัดส่งปลาหมอคางดำไปทำอาหารแทนปลาชนิดอื่น

2. สนับสนุนกิจกรรมจับปลาหมอคางดำ โดยนำผู้ต้องขังที่ผ่านเกณฑ์ตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการส่งนักโทษเด็ดขาดออกไปทำงานสาธารณะ หรืองานอื่นใดเพื่อประโยชน์ของทางราชการนอกเรือนจำ พ.ศ.2566 (มีทักษะด้านการประมง/จับปลา) ออกมาจับปลาหมอคางดำ ให้กับภาครัฐ ชุมชน และภาคสังคม ที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนจากปลาหมอคางดำ โดยสามารถสอบถามมายังเรือนจำ/ทัณฑสถานในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงให้เรือนจำและทัณฑสถานติดต่อไปยังจังหวัด เพื่อให้ความร่วมมือในกิจกรรมดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ภารกิจดังกล่าวจะต้องปฏิบัติตามหลักมาตรฐานความปลอดภัย
จากการทำงานผู้ต้องขังนอกเรือนจำ สอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ที่ผ่านมากรมราชทัณฑ์ ได้ปรับเปลี่ยนรายการอาหารดิบรายสิ่งที่จัดเลี้ยงผู้ต้องขังในส่วนของผลไม้ เพื่อช่วยระบายสินค้าเกษตร เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรอีกทางหนึ่ง

กรมราชทัณฑ์หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การนำผู้ต้องขังออกทำงานสาธารณะช่วยเหลือสังคม นอกจากจะเป็นการช่วยบรรเทาทุกข์ให้ภาครัฐ ชุมชนและภาคประชาชนแล้ว ยังเป็นการสร้างทัศนคติที่ดีต่อสังคมและปลูกฝังจิตสาธารณะให้แก่ผู้ต้องขัง ได้ทำกิจกรรมตอบแทนสังคม เพื่อชดเชยความผิดที่ตนได้กระทำพร้อมกลับตัวเป็นพลเมืองดีภายหลังพ้นโทษต่อไป