In News
คลังปรับเพิ่มค่าจีดีพีปี2567ขึ้นเป็น2.7% อานิสงส์จากภาคบริการและท่องเที่ยว
กรุงเทพฯ-“กระทรวงการคลังปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.7 ต่อปี เร่งขึ้น จากปี 2566 ที่ขยายตัวได้ร้อยละ 1.9 ต่อปี โดยได้รับแรงสนับสนุนจากภาคบริการและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นสำคัญ”
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงผลการประมาณการเศรษฐกิจไทยว่า “เศรษฐกิจไทยในปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.7 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.2 ถึง 3.2) ขยายตัวจากปี 2566 ที่ขยายร้อยละ 1.9” โดยได้รับแรงสนับสนุนจากภาคบริการ และการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นสำคัญ โดยพบว่าในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณดีขึ้นสะท้อนได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มที่แท้จริงขยายตัวต่อเนื่อง 2 ไตรมาสและนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยคาดว่าภาคการท่องเที่ยวในปี 2567 จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 36.0 ล้านคน ค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริปของนักท่องเที่ยวต่างประเทศปรับตัวดีขึ้นเป็น 47,000 บาทต่อคนต่อทริป ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการยกเว้นการตรวจลงตรา (วีซ่าฟรี) เพิ่มเป็น 93 ประเทศ/ดินแดน ระยะเวลาพำนักไม่เกิน 60 วัน ส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยว ธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้อง ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ร้อยละ 4.5 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.0 ถึง 5.0) การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.6 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.1 ถึง 4.1) สำหรับการส่งออกสินค้าจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.7 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.2 ถึง 3.2) ขยายตัวได้ในไตรมาสที่ 2 แล้ว และมูลค่าการนำเข้าสินค้าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.1 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.6 ถึง 3.6) โดยเฉพาะสินค้าทุนที่คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นตามการลงทุนภาคเอกชนที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ ผลประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจครั้งนี้ได้ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับผลประมาณการเศรษฐกิจไทย ณ เมษายน 2567 ที่ร้อยละ 2.4 เนื่องจาก 1) การส่งออกสินค้ามีสัญญาณขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดการณ์ รวมถึงอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าสำคัญคาดว่าจะขยายตัวได้ดีขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 3.2 2) จำนวนและรายได้ที่ได้รับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศสูงกว่าที่คาดการณ์ สะท้อนผลตอบรับที่ดีจากมาตรการดึงดูดนักท่องเที่ยวของภาครัฐ และ 3) การเบิกจ่ายภาครัฐที่ดีกว่าที่คาดการณ์จากการเตรียมความพร้อมเร่งเบิกจ่ายของภาครัฐ และมีทิศทางเร่งขึ้นต่อเนื่องในช่วงท้ายของปีงบประมาณ 2567
ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศอยู่ในระดับมั่นคง โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ร้อยละ 0.6 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.1 ถึง 1.1) ตามการปรับตัวลดลงของราคาสินค้าอาหารบางกลุ่ม อีกทั้งราคาสินค้าในหมวดพลังงานที่ลดลงจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ ขณะที่เสถียรภาพภายนอกประเทศ ดุลบริการมีแนวโน้มจะเกินดุลตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2567 มีแนวโน้มที่จะเกินดุล 11.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 2.4 ของ GDP
ผลประมาณการนี้ไม่ได้นับรวมผลที่คาดว่าจะได้รับในระบบเศรษฐกิจที่เกิดจากโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet (โครงการฯ) ต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้ประเมินเบื้องต้น ณ วันที่ 10 เมษายน 2567 ว่าหากพิจารณาเฉพาะโครงการฯ จะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจประมาณร้อยละ 1.2 – 1.8 ตลอดทั้งโครงการฯ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับแหล่งที่มาของเงิน เงื่อนไขโครงการฯ จำนวนผู้เข้าร่วมโครงการฯ และพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้รับสิทธิเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ยังควรติดตามปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด อาทิ 1) ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่าง ๆ ที่เริ่มรุนแรงมากขึ้น อาจเป็นข้อจำกัดและส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป เช่น สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างอิสราเอลและอิหร่านที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานให้ปรับตัวสูงขึ้น การแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา และความกังวลเรื่องข้อพิพาททะเลจีนใต้เกี่ยวกับการอ้างกรรมสิทธิ์หลังมีการซ้อมรบของกองทัพเรือจีนและรัสเซียในบริเวณดังกล่าว 2) ความผันผวนของตลาดการเงินโลกจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้าหลักและปัญหาสถาบันการเงินในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป 3) ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาและทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ 4) การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย โดยเฉพาะประเทศจีนจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ และ 5) ปัญหาหนี้ครัวเรือนและภาคธุรกิจที่จะบั่นทอนการใช้จ่ายในระยะต่อไป
โฆษกกระทรวงการคลังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญในช่วงที่เหลือของปี 2567 ได้แก่ 1) การใช้จ่ายภาครัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งรายจ่ายลงทุนที่ต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายในทุกหน่วยงาน 2) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้ประเทศ โดยเฉพาะในช่วง High Season และ 3) การเร่งรัดการลงทุนของโครงการลงทุนที่ได้รับการอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนไปแล้ว ซึ่งสอดรับกับวิสัยทัศน์ 8 ด้านภายใต้กรอบนโยบาย Ignite Thailand ของรัฐบาล โดยการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางในหลาย ๆ ด้าน ด้วยการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ โดยเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2567 กระทรวงการคลังได้จัดโครงการศูนย์กลางการเงิน (Financial Hub) ภายใต้หัวข้อ Ignite Finance: Thailand’s Vision for a Global Financial Hub เพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการเงินโลก ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไป การสนับสนุนประเด็นที่สำคัญเหล่านี้จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืนและมั่นคง ก้าวสู่การเป็นผู้นำในเวทีระดับภูมิภาคในอนาคต