Authority & Harm

'ราชทัณฑ์'เปิดคุกคลองเปรมให้สื่อพิสูจน์ มาตรการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังข้ามเพศ



กรุงเทพฯ-วันพฤหัสบดีที่ 1สิงหาคม 2567 เวลา 09.00 น. นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์นำสื่อมวลชนแขนงต่างๆ เข้าศึกษาดูงานการควบคุมดูแลตามมาตรการการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศ ตามโครงการ “สื่อมวลชนสัญจร Press Tour เพื่อศึกษาดูงานการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังข้ามเพศ”พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ และโฆษกประจำกรมราชทัณฑ์ ณ เรือนจำกลางคลองเปรม ถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักรกรุงเทพมหานคร

กรมราชทัณฑ์จัดโครงการสื่อมวลชนสัญจร (Press Tour)เพื่อศึกษาดูงานการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังข้ามเพศมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ บทบาทภารกิจของกรมราชทัณฑ์เกี่ยวกับมาตรการการควบคุมดูแลผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยในครั้งนี้เป็นการเชิญสื่อมวลชนในแขนงต่าง ๆ ได้แก่สถานีโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ และออนไลน์ ร่วมเข้าศึกษาดูงาน ภายในแดน 1 เรือนจำกลางคลองเปรมซึ่งภายในแดนมีผู้ต้องขังทั้งสิ้นจำนวน 1,085 คน

โดยเป็นกลุ่มผู้ต้องขังข้ามเพศจำนวนทั้งสิ้น64 คน แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่ 1คือผู้ต้องขังข้ามเพศที่แปลงเพศโดยสมบูรณ์แล้ว จำนวน 14 คน ประเภทที่2 คือผู้ต้องขังข้ามเพศที่ยังไม่แปลงเพศแต่ลักษณะทางกายภาพไม่เป็นไปตามเพศกำเนิด เช่น มีการเสริมหน้าอกจำนวน9 คน และประเภทที่ 3 คือผู้ต้องขังข้ามเพศที่ยังไม่แปลงเพศและไม่ได้มีลักษณะทางกายภาพที่เปลี่ยนแปลงไป เพียงแต่พิจารณาแล้วเห็นควรให้มีการแยกขัง เนื่องจากเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิดทางเพศ จำนวน 41 คนโดยเรือนจำได้ดำเนินการตามมาตรฐานการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศ(SOPs)โดยยึดถือหลักการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังข้ามเพศโดยไม่เลือกปฏิบัติและจะต้องปฏิบัติต่อผู้ต้องขังเหล่านี้เช่นเดียวกันกับผู้ต้องขังทั่วไปรวมถึงสิทธิการคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกันทางกฎหมายตลอดจนการพัฒนาพฤตินิสัยที่ผู้ต้องขังจะได้รับทั้งด้านร่างกายและจิตใจ อาทิ

การจัดกิจกรรมที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศและความสนใจของผู้ต้องขังข้ามเพศ โปรแกรมและกิจกรรมที่ส่งเสริมการเคารพนับถือตนเองและการได้รับการเคารพจากผู้อื่น ตลอดจนส่งเสริมกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศให้กับผู้ต้องขังอื่นๆ เพื่อปลูกฝังค่านิยมเกี่ยวกับการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศแบบใดก็ตาม และต้องไม่ลืมที่จะคำนึงถึงความปลอดภัยความเปราะบางและความเป็นส่วนตัวของผู้ต้องขังกลุ่มนี้

กรมราชทัณฑ์ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ควบคุม ดูแล และพัฒนาพฤตินิสัยผู้ก้าวพลาด โดยได้ยึดแนวทางปฏิบัติต่อผู้ต้องขังทุกรายอย่างเท่าเทียมและเหมาะสมตามหลักการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและหลักทัณฑวิทยาโดยไม่เลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะผู้ก้าวพลาดที่มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อให้เขาเหล่านี้จะได้รับการพัฒนาพฤตินิสัย ทั้งร่างกายและจิตใจ พร้อมที่จะกลับคืนสู่สังคมได้อย่างปกติสุข และไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก