Authority & Harm
'ประมงแปดริ้ว'เตรียมลงแขกลงคลอง กำจัดปลาหมอคางดำในพท.ระบาดหนัก
ฉะเชิงเทรา-ประมงแปดริ้วเตรียมจัดลงแขกลงคลอง กำจัดปลาหมอคางดำในพื้นที่ระบาดหนักที่คลองบางกะพ้อ เผยภาพรวมจังหวัดฉะเชิงเทรามีการแพร่กระจายในระดับปานกลาง ต่ำกว่าในกลุ่มจังหวัดสามสมุทร ขณะประชาชนเมินส่งขายจุดรับซื้อ 2 จุดในพื้นที่ เหตุจับได้น้อยในระดับทำกินกันเองในครัวเรือน
วันที่ 8 ส.ค.67 เวลา 09.00 น. นายคนึง คมขำ ประมง จ.ฉะเชิงเทรา ได้กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของปลาหมอคางดำใน จ.ฉะเชิงเทราว่า อยู่ในระดับปานกลางค่อนข้างน้อยกว่าในกลุ่มจังหวัด 3 สมุทร ตามที่กรมประมงได้จัดระดับไว้รวม 3 ระดับ คือ 1 เล็กน้อย 2 ปานกลาง 3 ระดับรุนแรง จึงมีการเปิดจุดรับซื้อไว้จำนวน 2 จุด คือ ที่แพปลาเจริญรุ่งเรือง ตั้งอยู่ใกล้กับสี่แยกบางคล้าใน ต.ท่าทองหลาง อ.บางคล้า
และที่แพปลาแม่ทิพย์ อยู่ในศูนย์รวมปลาน้ำจืดภาคตะวันออก ด้านฝั่งตรงข้ามกับห้างสรรพสินค้าตะวันออกคอมเพล็กซ์ ต.บางตีนเป็ด อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา แต่ถึงขณะนี้ยังไม่มีเกษตรกรรายใดนำปลาหมอคางดำมาขายให้ เพราะการแพร่ระบาดยังไม่รุนแรง และยังมีผู้ล่าโดยประชาชนทั่วไป เช่น ชาว อ.สนามชัยเขต ที่จะเดินทางมาล่าจับและตกปลา เพื่อนำไปแปรรูปบริโภค จึงยังไม่มีใครนำมาจำหน่ายให้แก่จุดรับซื้อที่จัดเตรียมไว้ทั้ง 2 จุด
สำหรับสถานการณ์ปลาต่างถิ่นที่เคยแพร่ระบาดในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา นั้น เดิมเคยมีปลาซัคเกอร์ ที่คนไม่นำไปบริโภค จึงทำให้มีการแพร่ระบาดในแหล่งน้ำจืดทั่วไป โดยเป็นปลาที่มีอยู่ก่อนแล้ว ส่วนปลาหมอสีหรือปลาตระกูลสวยงามนั้นมีการระบาดอยู่บ้าง แต่ถือว่าอยู่ในระดับประปราย เช่น ปลาหมอบัตเตอร์ ปลาหมอมายัน โดยปลาเหล่านี้ไม่มีนิสัยรุกราน แม้จะเป็นสัตว์ต่างถิ่นหรือเอเลี่ยนสปีชีส์ก็ตาม แต่เราก็ได้มีการเฝ้าระวังไว้อยู่ตลอด
ต่างจากปลาหมอคางดำที่เราพบเจอเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมที่เราเคยพบในจุดเล็กๆ เพียงจุดเดียวที่ ต.บางกระเจ็ด อ.บางคล้า เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.67 แต่ช่วงหลังจากที่ประตูน้ำท่าถั่วปากคลองประเวศบุรีรมย์ใน อ.บ้านโพธิ์ พังทลาย จึงมีการพบเพิ่มขึ้นที่ อ.บางปะกง ในพื้นที่ ต.สองคลอง ซึ่งเป็นพื้นที่เฝ้าระวังการแพร่ระบาดมาจาก ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ อยู่ก่อนแล้ว
นอกจากนี้ยังมีผู้พบเห็นในพื้นที่ ต.หอมศีล ต.พิมพา ต.หนองจอก อ.บางปะกง โดย 3 ตำบลนี้ถือว่าเป็นพื้นที่ที่คาดไม่ถึงว่าจะมีความเกี่ยวข้องกับการพังทลายของประตูน้ำท่าถั่ว ที่มีน้ำเค็มรุกล้ำเข้าไปและมีการสูบน้ำกลับมาทิ้งลงทะเลที่บางปะกง โดยได้รับข้อมูลจากผู้นำชุมชนว่า มีการพบเจอเมื่อประมาณ 2-3 เดือนที่ผ่านมาเช่นเดียวกัน ซึ่งสอดคล้องกันกับเหตุการณ์ที่ประตูน้ำท่าถั่วพังพอดี
โดยราษฎรที่อยู่ตามริมน้ำ ทั้งคลองสำโรงเก่า คลองสำโรงใหม่ คลองอ้อม และคลองสกัดต่างๆ จะพบเจอปลาหมอคางดำได้ด้วยการยกยอ แต่พบไม่มากครั้งละ 1-3 ตัว และได้มีการรวบรวมไว้ แต่จากการลงพื้นที่พบใน ต.บางเกลือ นั้น พบว่ามีการยกยอขึ้นมาได้เป็นจำนวนค่อนข้างมากในแต่ละครั้ง ซึ่งได้รับข้อมูลจากนายกิตติศักดิ์ เปลี่ยนศรี ผู้ใหญ่บ้านในจุดที่พบว่าที่คลองสำโรงเก่า สำโรงใหม่ ใน ต.บางเกลือ อ.บางปะกง จุดที่พบนั้นมีความอุดมสมบูรณ์มาก
ซึ่งสอดคล้องกับการยกยอที่ได้ปลาหมอคางดำเป็นจำนวนมากและค่อนข้างอ้วนท้วนอุดมสมบูรณ์ดี จนทำให้ปลาหมอคางดำในจุดที่พบนี้ไม่มีไข่อมอยู่ในปาก แต่ยังคงมีการพบเห็นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะว่าเป็นปลาที่มีการสืบพันธุ์ขยายพันธุ์ไวในทุก 22 วัน โดยปลาเพศเมียจะไข่ออกมาครั้งละ 150-300 ฟอง ส่วนตัวผู้จะทำหน้าที่อมไข่เอาไว้ในปาก ประมาณ 1-2 สัปดาห์เพื่อจะฟักออกเป็นตัว ในขณะที่ปลาหมอเพศเมีย เมื่อไข่เสร็จแล้วและให้ตัวผู้อมไว้ ก็จะไข่ต่อไปอีกเป็นอย่างนี้วนกันต่อเนื่อง จึงทำให้การแพร่กระจายอาจจะเร็วกว่าปลาแปลกถิ่นชนิดอื่น
ขณะนี้เราได้มีการเตรียมรนณรงค์ เพื่อที่จะกำจัดในวันที่ 13 ส.ค.67 ซึ่งจะเป็นการคิกออฟ ดีเดย์กันในเวลา 09.30 น. ที่คลองบางกะพ้อ ต.บางกระเจ็ด อ.บางคล้า โดยเป็นการร่วมมือกันจากหลายหน่วยงาน เช่น ผู้ต้องขังชั้นดีจากเรือนจำกลางฉะเชิงเทรา ทหารจากกองพลทหานราบที่ 11 และ จนท.หน่วยงานของกรมประมงใน จ.ฉะเชิงเทรา โดยขณะนี้ได้มีการจัดซื้อเครื่องมือจับปลามาไว้แล้ว
หากท้องถิ่นหรือผู้นำชุมชนใด พบว่าในท้องที่มีปลาหมอคางดำระบาดอยู่มาก และต้องการให้ทางประมงเข้าไปกำจัด ให้แจ้งมาที่กรมประมง สนง.ประมง จ.ฉะเชิงเทรา ประมงอำเภอท้องที่ ขณะนี้เราพร้อมที่จะร่วมมือกันในการกำจัด โดยอยากให้ตระหนักว่าภัยคุกคามในครั้งนี้เป็นสาธารณะภัย ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงคือราษฎรในพื้นที่การระบาด ส่วนปลาหมอสีหรือปลากลุ่มสวยงามนั้นยังพบเจอในพื้นที่เพียงเล็กน้อย นายคนึง กล่าว
สนทะนาพร อินจันทร์/ฉะเชิงเทรา