In News

นายกฯขับเคลื่อนอุตฯฮาลาลไทยต่อเนื่อง หนุนSMEsฮาลาลส่งออกเกือบหมื่นลบ.



กรุงเทพฯ-นายกฯ ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลไทยต่อเนื่อง มุ่งผลักดันสินค้าฮาลาลไทยสู่ตลาดโลก สนับสนุนมาตรการการเงินแก่ผู้ประกอบการ SMEs ฮาลาลคาดสร้างมูลค่าเศรษฐกิจการส่งออกเกือบหมื่นล้านบาท ยกระดับไทยสู่การเป็น ASEAN Halal Hub ในปี 2571

วันนี้ (9 สิงหาคม 2567) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มุ่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลไทยเพื่อก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางฮาลาลของอาเซียน (ASEAN Halal Hub) ภายในปี 2571 ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการสินค้าฮาลาลไทยให้สามารถขยายตลาดการส่งออกสินค้าฮาลาลไปยังตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมผลักดันโครงการยกระดับระบบนิเวศอุตสาหกรรมฮาลาลทุกมิติ โดยเฉพาะสนับสนุนมาตรการด้านการเงิน เพิ่มโอกาสผลักดันให้ผู้ประกอบการพัฒนาศักยภาพมาตรฐานสินค้าฮาลาลไทยระดับสากล พร้อมขยายการส่งออกสินค้าฮาลาลไทยในตลาดโลก 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาล โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ibank) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการสินค้าฮาลาลสู่การส่งออก” ซึ่งเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนและเครื่องมือทางการเงินที่ช่วยบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ อาทิ การให้บริการด้านสินเชื่อเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนหรือขยายการลงทุน การให้บริการประกันส่งออก Exim for Small Biz เพื่อคุ้มครองความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศ โดยคาดการณ์ว่าการให้บริการด้านสินเชื่อและประกันความเสี่ยงในปี 2567 จะสร้างมูลค่าเศรษฐกิจการส่งออกได้เกือบ 10,000 ล้านบาท รวมทั้งสร้างโอกาสการเป็นผู้ส่งออก และผู้ผลิตเพื่อผู้ส่งออกสินค้าฮาลาลของผู้ประกอบการ SME ไปยังตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น และยังสนับสนุนการขยายโอกาสทางการค้าผ่านกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ และการออกงานแสดงสินค้าในประเทศและต่างประเทศ และการส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ทางวิชาการด้านฮาลาลเพื่อสร้างความเข้าใจถึงทิศทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศในโลกยุคใหม่ และการขอเครื่องหมายรับรองมาตรฐานฮาลาล 

ขณะเดียวกัน ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยยังได้จัดทำโครงการสินเชื่อเพื่อสนับสนุนทางการเงินให้กับผู้ประกอบการ SMEs หรือเป็นผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน อาทิ ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย ค้าปลีก ค้าส่ง และร้านค้าใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร และกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ หรือสินเชื่อ IGNITE HALAL เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และต้องการแหล่งเงินทุนฮาลาลเพื่อนำไปลงทุนในการขยายกิจการในรูปแบบวงเงินสินเชื่อแบบมีระยะเวลาและเพื่อเสริมสภาพคล่องในรูปแบบวงเงินเบิกถอนเงินสด

“นายกรัฐมนตรีสนับสนุนข้อได้เปรียบของไทยที่มีศักยภาพในฐานะผู้ส่งออกอาหารฮาลาลรายใหญ่อันดับที่ 15 ของโลก และโอกาสจากการขยายตัวของตลาดฮาลาลโลก ทำให้นายกรัฐมนตรีสนับสนุนการดำเนินนโยบายด้านอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลมาอย่างต่อเนื่อง และได้สนับสนุนมาตรการทางการเงินเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ฮาลาลของไทย โดยนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าอุตสาหกรรมฮาลาลไทยจะสามารถบรรลุเป้าหมายในการขยายส่วนการตลาดของสินค้าฮาลาลไทยในตลาดโลกได้ ทำให้ไทยสามารถก้าวสู่การเป็น ASEAN Halal Hub ในปี 2571 ได้อย่างแข็งแกร่ง” นายชัย กล่าว