In News

'โควิด-ลัมปี สกิน'ทำร้านลาบก้อยซบเซา



กาฬสินธุ์-กระทบสองเด้งสถานการณ์โรคโควิด-19และ“โรคฝีดาษวัว” หรือ “ลัมปี สกิน” ระบาดในหลายพื้นที่ของจังหวัดกาฬสินธุ์ นอกจากส่งผลกระทบกับเกษตรกรแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการขายเนื้อวัว และร้านขายอาหาร ลาบ ก้อย เมนูอีสานที่ทำจากเนื้อวัว ซึ่งเงียบเหงา และซบเซาเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ชาวบ้านเรียกร้องเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ช่วยเหลือ เนื่องจากขาดยารักษาโรคต้องใช้ภูมิปัญญาบรรเทาอาการ ด้านสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด ประกาศพบวัวมีอาการป่วยเพียง 415 ตัว เสียชีวิต 20 ตัว 

เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามสถานการณ์โรคโควิด-19 หลายพื้นที่ของประเทศไทยยังคงพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังพบการเกิดโรคระบาดในวัว คือโรคลัมปี สกิน หรือชาวบ้านบางคนเรียกว่าโรคฝีดาษวัว พบว่ามีวัวของเกษตรกรเจ็บป่วยด้วยโรคดังกล่าว กระจายอยู่ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ หลายอำเภอ ซึ่งการแพร่ระบาดของ 2 โรคนี้นอกจากจะส่งผลกระทบกับการดำรงชีวิตของประชาชน และเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์แล้ว ยังส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการขายเนื้อวัว และร้านขายอาหาร ลาบ ก้อย เมนูอีสานที่ทำจากเนื้อวัว ซึ่งเงียบเหงา และซบเซาเป็นประวัติการณ์

ทั้งนี้ข้อมูลจากสำนักงานปศุสัตว์ จ.กาฬสินธุ์ รายงานสถานการณ์ว่า ว่าพบใน  9 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมืองกาฬสินธุ์ 318 ตัว เสียชีวิต 17 ตัว, อ.ยางตลาด 39 ตัว, อ.กุฉินารายณ์ 34 ตัว เสียชีวิต 3 ตัว, อ.สามชัย 11 ตัว, อ.หนองกุงศรี 4 ตัว,  อ.กมลาไสย 3 ตัว, อ.ร่องคำ 3 ตัว, อ.เขาวง 2 ตัว, อ.ท่าคันโท 1 ตัว รวมพบวัวป่วยจำนวน 415 ตัว  และเสียชีวิต 20 ตัว ขณะที่ อ.ห้วยผึ้ง อ.ห้วยเม็ก อ.นามน อ.สมเด็จ อ.นาคู  อ.ฆ้องชัย อ.ดอนจาน อ.คำม่วง และ อ.สหัสขันธ์ ยังไม่มีรายงานพบวัวป่วยด้วยโรคลัมปี สกิน แต่อย่างใด
นางหนูรัก ร่องวารี อายุ 57 ปี อยู่บ้านเลขที่ 25 หมู่ 4 บ้านหนองห้าง ต.โนนนาจาน อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ลูกวัวของตนมีอาการป่วยด้วยโรคลัมปี สกิน มาตั้งแต่อายุได้ 1 เดือนเศษ ทีแรกตกใจมาก เนื่องจากเกิดตุ่มพองและบาดแผลตามผิวหนังของลูกวัว  ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ที่ไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อน จึงไม่รู้วิธีการรักษา จากนั้นได้ไปแจ้งผู้นำชุมชนและอาสาปศุสัตว์ ซึ่งได้รับคำแนะนำให้รักษาตามอาการ โดยไปนำเปลือกต้นประดู่มาต้มน้ำร้อน จากนั้นนำน้ำต้มเปลือกประดู่มาชโลมตามตัวลูกวัว ทั้งนี้เป็นการรักษาโรคผิวหนังที่เกิดกับสัตว์เลี้ยงตามภูมิปัญญา เพื่อป้องกันแมลงและช่วยบรรเทาอาการ  แต่อาการยังไม่ดีขึ้น ซึ่งทุกวันนี้ยังรอความช่วยเหลือ ทั้งยา หรือวัคซีน รวมทั้งคำแนะนำวิธีบำบัดรักษาที่ถูกต้องจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอยู่ อย่างไรก็ตาม ตนและเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวก็มีความสงสัยอยู่มาก ที่เกิดโรคระบาดในวัวเป็นจำนวนมาก และยังไม่เห็นเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่สำรวจหรือให้ความช่วยเหลืออย่างจริงจัง

ด้านนางศิริพร เงาแสง อายุ 48 ปี แม่ค้าขายอาหารพื้นบ้านอีสาน บริเวณปากทางเข้าเขื่อนลำปาว ต.ดอนสมบูรณ์ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตนเปิดร้านขายอาหารประเภทลาบ ก้อย ต้ม ซึ่งเป็นเมนูเด็ดยอดฮิตของชาวอีสานโดยการนำเนื้อวัวสดมาเป็นเมนูหลักประจำร้าน เปิดบริการมาเกือบ 30 ปี ซึ่งจะขายดีมาอย่างต่อเนื่อง แต่ปริมาณการขายเริ่มลดลง เมื่อเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในช่วงปีที่ผ่านมา ลูกค้าไม่ค่อยเข้าร้าน แต่จะเป็นในส่วนของการซื้อห่อไปรับประทานที่บ้านมากกว่า ทำให้เนื้อสดเหลือ ขายไม่หมด ต้องนำมาแปรรูปเป็นเนื้อแดดเดียว ไส้กรอกวัวและส้มวัว แต่ก็พอขายได้เรื่อยๆ 

นางศิริพรกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาจากที่เคยรับเนื้อวัวสดจากโรงฆ่าสัตว์เข้าร้านวันละ 50-80 ก.ก. พอเกิดสถานการณ์โควิดก็ลดลงมาเหลือวันละ 40-50 ก.ก. ซึ่งก็พอที่จะประคับประคองมาเรื่อยๆ แต่สัปดาห์ที่ผ่านมา กลับมาเจอกับสถานการณ์อีก 1 โรค คือโรคลัมปี สกิน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าโรคฝีดาษวัว ยิ่งทำให้บรรยากาศการค้าขายลาบ ก้อย เงียบเหงาไปเลย จากการสอบถามร้านค้า และผู้จำหน่ายอาหารประเภทเดียวกัน ทั้งเขียงเนื้อในตลาดสดและผู้ค้ารายย่อยต่างๆ ต่างประสบปัญหาเหมือนกันทั้งหมด คืออาหารประเภทเนื้อวัวขายไม่ได้เลย สำหรับตนยอดขายตกต่ำกว่า 30 % ทีเดียว 

นางศิริพรกล่าวเพิ่มเติมว่า อยากจะฝากไปถึงลูกค้า ผู้นิยมเปิบเมนูลาบก้อยของแซบอีสานว่า วัวทุกตัวที่นำไปชำแหละที่โรงฆ่าสัตว์ หรือเนื้อวัวทุกตัว ได้รับการรับรองมาตรฐานผ่านการรับรองความปอดภัยจากปศุสัตว์ทุกตัว จึงเชื่อมั่นได้ว่าจะไม่นำวัวที่มีอาการเจ็บป่วย หรือเป็นโรคใดๆ ไปเชือดที่โรงฆ่าสัตว์แล้วนำมาจำหน่ายเด็ดขาด อย่างไรก็ตาม  ทราบว่าโรคลัมปี สกิน เกิดจากเชื้อไวรัส ไม่ติดต่อมาสู่คน ขอให้ผู้บริโภคมั่นใจในความปลอดภัย

ณัฐพงษ์  ประชากูล จ.กาฬสินธุ์