In Thailand

ปศุสัตว์ลพบุรีคิกออฟกำจัด'ลัมปีสกิน'



ลพบุรี-ปศุสัตว์จังหวัดลพบุรี Kick Off ปล่อยขบวนรถออกปฏิบัติการเชิงรุก ฉีดป้องกันและกำจัดโรคลัมปี สกิน ในโค-กระบือ

เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 ที่ สหกรณ์โคนมพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี นายสัตวแพทย์  จรูญชูเกียรติวัฒนา  ปศุสัตว์จังหวัดลพบุรี  ปศุสัตว์จังหวัดลพบุรี Kick Off ปล่อยขบวนรถออกปฏิบัติการเชิงรุก ฉีดป้องกันและกำจัดโรคลัมปี สกิน ในโค-กระบือ โดยมีนายศุภภิมิตร  เปาริก รองผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี เป็นประธาน เปิดปฏิบัติการเชิงรุก รณรงค์ป้องกันและกำจัดโรคลัมปี สกิน ในโค-กระบือ เพื่อสร้างการรับรู้ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ของจังหวัดลพบุรี ทราบและตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันโรคลัมปี สกิน ให้สัตว์เลี้ยงของตนเอง รวมทั้งได้มอบ น้ำยา สำหรับกำจัดป้องกันเชื้อโรคลัมปี สกิน ในโค-กระบือ ให้แก่ปศุสัตว์ อำเภอทั้ง 11 อำเภอ นำไปใช้ป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งกำหนดมาตรการ ควบคุมการเคลื่อนย้าย โค กระบือ เพื่อลดการแพร่กระจายของโรค และปฏิบัติตามแนวทางการเคลื่อนย้ายของกรมปศุสัตว์อย่างเคร่งครัด

โอกาสเดี่ยวกันนี้ ยังได้ร่วมกันปล่อบขบวนรถหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ จำนวน 11 คัน  ออกปฏิบัติการเชิงรุก เพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกร ผู้เลี้ยงโคนม โคเนื้อ และกระบื้อ ในพื้นที่ทั้ง 11 อำเภอ ของจังหวัดลพบุรี ในการเร่งฉีดพ่นยาเพื่อกำจัดควบคุมแมลงพาหะนำโรค และป้องกันเชื้อโรคลัมปี สกิน ในโค-กระบือ  เพื่อลดปัญหาการเกิดโรคระบาดให้ได้ในที่สุด ตลอดจนช่วยเหลือรักษาสัตว์ป่วยตามอาการ เพื่อลดความสูญเสียให้แก่เกษตรกร

ทั้งนี้ จังหวัดลพบุรี มีการเลี้ยงปศุสัตว์เป็นจำนวนมาก อาทิ โคนม จำนวน 90,734 ตัว เกษตรกร 2,481 ราย โคเนื้อ 56,515 ตัว เกษตรกร 3,599 ราย และกระบือ 3,370 ตัว เกษตรกร 222 ราย ซึ่งหากเกิดการระบาดของโรคนี้ในฟาร์มจะก่อให้เกิดความสูญเสียแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโค กระบือ เป็นอย่างมาก

 สำหรับ สถานการณ์การระบาดของโรคลัมปี สกิน ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ของประเทศไทยในขณะนี้ เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส เกิดเฉพาะในโคกระบือ ไม่ติดต่อจากสัตว์สู่คน ติดจากการนำโรคโดยแมลงดูดเลือดพาหะที่สำคัญ เช่น แมลงวันคอก ยุง เหลือบ ริ้น และเห็บ เป็นต้น โดยสัตว์ที่ป่วยจะมีอาการที่สามารถสังเกตได้คือ พบตุ่มเนื้อบนผิวหนังและเยื่อเมือกทั่วร่างกาย ซึ่งต่อมาจะตกสะเก็ดและเป็น แผลหลุม สัตว์อาจมีไข้และหายใจลำบากร่วมด้วย จึงขอให้พี่น้องเกษตรกรหมั่นดูแลสุขภาพของโค  กระบือ ให้มีสุขภาพแข็งแรง หากพบสัตว์มีอาการผิดปกติ สงสัยว่าป่วย ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จังหวัดหรือปศุสัตว์อำเภอในท้องที่ ทราบโดยด่วนเพื่อดำเนินการควบคุมโรค 

ทวีศักดิ์/ลพบุรี