In News

AOC1441เตือน'โจรออนไลน์'หลอกเหยื่อ โอนเงินทำงานพิเศษก่อนเชิดหนีกว่า2ล.



กรุงเทพฯ-AOC 1441 เตือนภัย “โจรออนไลน์” หลอกเหยื่อโอนเงินทำงานพิเศษ ก่อนอ้างภารกิจไม่สำเร็จ เชิดเงินหนีกว่า 2 ล้านบาท

นางสาววงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 19-25  สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา ศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) ได้มีรายงานเคสตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวง จำนวน 5 เคส ประกอบด้วย

คดีที่ 1 หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ มูลค่าความเสียหาย 278,400 บาท ผู้เสียหายพบโฆษณาหารายได้พิเศษ ผ่านช่องทาง Facebook เกี่ยวกับการรับสินค้ามาทำที่บ้าน จึงสนใจทักไปสอบถามแล้วเพิ่มเพื่อนทาง Line มิจฉาชีพแจ้งว่าต้องรอรับอุปกรณ์ จากทางบริษัทส่งมาให้ ระหว่างนี้มีกิจกรรมอื่นให้ทำก่อนเป็นกิจกรรมกลุ่มโพรโมตสินค้า กระตุ้นยอดขาย มีค่าคอมมิชชันตอบแทน โดยให้สำรองเงินลงทุนไปก่อน ในระยะแรก ได้รับผลตอบแทนจริง ต่อมาภายหลังให้สำรองเงินลงทุนเพิ่มมากขึ้น ผู้เสียหายต้องการยกเลิกภารกิจดังกล่าว มิจฉาชีพอ้างว่าทำผิดกฎทางบริษัทจะต้องชำระค่าปรับ และค่าภาษีก่อนจึงจะยกเลิกภารกิจและได้รับเงินคืน ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเอง ถูกมิจฉาชีพหลอก

คดีที่ 2 หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ ที่ไม่มีลักษณะเป็นขบวนการ มูลค่าความเสียหาย 11,500 บาท โดยผู้เสียหายพบโฆษณาบริการรับต่อ พรบ.ภาษีรถยนต์ ผ่านช่องทาง Facebook โดยไม่ต้องไปติดต่อสำนักงานขนส่งด้วยตนเอง จึงสนใจทักไปสอบถาม มิจฉาชีพแจ้งค่าบริการทั้งหมดที่ต้องชำระ ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงได้โอนเงินไป ภายหลังโอนเงินเสร็จไม่สามารถติดต่อได้อีก ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

คดีที่ 3 หลอกลวงให้รักแล้วโอนเงิน Romance Scam มูลค่าความเสียหาย 508,000 บาท ทั้งนี้ผู้เสียหายได้รู้จักกับมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Facebook พูดคุยกันจนสนิทใจแต่ไม่เคยพบเจอกัน ต่อมามิจฉาชีพแจ้งว่าจะส่งพัสดุของฝากมาให้จากต่างประเทศ โดยให้ผู้เสียหายช่วยชำระค่าดำเนินการต่างๆ คนละครึ่ง ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไปช่วยเหลือ หลังจากนั้นไม่สามารถติดต่อได้อีก ตนเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

คดีที่ 4 หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ มูลค่าความเสียหาย 1,093,949 บาท ผู้เสียหายพบโฆษณาหารายได้พิเศษ ผ่านช่องทาง Facebook โดยมี QR Code Line ปรากฏ จึงเพิ่มเพื่อนและสอบถามพูดคุย มิจฉาชีพแจ้งว่าเป็นกิจกรรมกดถูกใจลิงก์ที่บริษัทกำหนดให้ และจะได้เปอร์เซ็นต์จากยอดกดถูกใจ มิจฉาชีพส่งลิงก์ให้กรอกข้อมูลส่วนบุคคล และแนะนำขั้นตอนการทำงานภารกิจกลุ่ม ให้สำรองเงินลงทุนเข้าไปในระบบ ในระยะแรก ได้รับผลตอบแทนจริงเพราะลงทุนไม่มาก ต่อมาภายหลังให้ลงทุนเงินเพิ่มมากขึ้น และอ้างว่าเป็นภารกิจสุดท้ายจะได้เงินคืนกลับมาทั้งหมด สุดท้ายก็ไม่ได้รับเงินคืน และไม่สามารถถอนเงินออกมาได้ ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

และคดีที่ 5 ข่มขู่ทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน Call Center มูลค่าความเสียหาย 500,700 บาท โดยผู้เสียหายพบเห็นโฆษณารับแจ้งความออนไลน์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี ผ่านช่องทาง Facebook Messenger จึงกรอกข้อมูลส่วนบุคคลและส่งหลักฐานคดีถูกหลอกให้ลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล ต่อมามิจฉาชีพติดต่อมาทางโทรศัพท์แจ้งว่าจับกุมแก๊งคนร้ายได้แล้ว แต่ต้องชำระค่าดำเนินการคดี เพื่อจะได้รับเงินคืนโดยให้เพิ่มเพื่อนทาง Line ผู้เสียหายหลงเชื่อ จึงโอนเงินไป หลังจากนั้นไม่สามารถติดต่อได้อีก ต่อมาภายหลังทราบว่าเป็นเพจปลอม ตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

สำหรับมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้ง 5 คดี รวม 2,392,549 บาท

ทั้งนี้ผลการดำเนินงานของ ศูนย์ AOC 1441 ตั้งแต่วันที่ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึง วันที่ 23 สิงหาคม 2567 มีตัวเลขสถิติผลการดำเนินงานดังนี้

1. สายโทรเข้า 1441 จำนวน 962,838 สาย / เฉลี่ยต่อวัน 3,242 สาย

2. ระงับบัญชีธนาคาร จำนวน 282,289 บัญชี / เฉลี่ยต่อวัน 1,107 บัญชี

3. ระงับบัญชีตามประเภทคดีสูงสุด 5 ประเภท ได้แก่ (1) หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 83,966 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 29.74 (2) หลอกลวงหารายได้พิเศษ 68,519 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 24.28 (3) หลอกลวงลงทุน 46,899 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 16.61 (4) หลอกลวงให้กู้เงิน 21,536 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 7.63 (5) หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล 21,482 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 7.61 (และคดีอื่นๆ 39,887 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 14.13)

“จากเคสตัวอย่างจะเห็นได้ว่า มิจฉาชีพใช้วิธีการหลอกลวงผู้เสียหาย ด้วยการลงทุนเพื่อหารายได้พิเศษ การโพรโมตสินค้า หรือหลอกลวงเป็นเจ้าหน้าที่รับแจ้งความทางออนไลน์ ติดต่อประสานงานเรื่องคดี ผ่านการติดต่อด้วยช่องทางโซเชียลมีเดีย คือ Line  และ Facebook  ทั้งนี้ขอย้ำว่า กรณีการลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีการรับรองโดยหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ เป็นการเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวง ขณะเดียวกันกรณีที่มีการรับแจ้งความทางออนไลน์นั้น ขอให้ตรวจสอบรายละเอียดของเพจให้ละเอียด โดยแฟนเพจเฟซบุ๊กของหน่วยงานอย่างเป็นทางการ จะต้องมีสัญลักษณ์ “เครื่องหมายถูกสีฟ้า (Meta Verified)” อยู่ด้านหลังชื่อเพจ ซึ่งแสดงว่าผ่านการยืนยันบัญชีอย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นจึงควรตรวจสอบการลงทุนในธุรกิจอย่างรอบคอบ และติดต่อสอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสอบถามรายละเอียดให้แน่ชัด หรือติดต่อผ่านทางสายด่วน AOC 1441 เพื่อยืนยันตรวจสอบข้อเท็จจริง” นางสาววงศ์อะเคื้อ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนยึดหลัก 4 ไม่ คือ 1. ไม่กดลิงก์ 2.ไม่เชื่อ 3.ไม่รีบ และ 4.ไม่โอน ก่อนที่จะทำธุรกรรมใดๆ อย่ากดเข้าลิงก์เว็บไซต์ หรือดาวน์โหลด และอัปโหลดแพลตฟอร์ม ที่มีการส่งต่อจากช่องทางที่ไม่แน่ใจ โดย กระทรวง ดีอี ได้เร่งดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยอาชญากรรมออนไลน์ ผ่านศูนย์ AOC 1441 เพื่อแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง

หากประชาชนโดนหลอกออนไลน์ โทรแจ้งดำเนินการ ระงับ อายัดบัญชี AOC 1441

แจ้งเบาะแส ข่าวปลอม และอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ โทรสายด่วน 1111 (24 ชม.) | Line ID: @antifakenewscenter | เว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com