In News

สศค.สัมมนาFiscal GreenPrintพิมพ์ เขียวนโยบายการคลังสู่เศรษฐกิจสีเขียว



กรุงเทพฯ-การสัมมนาวิชาการ “Fiscal GreenPrint พิมพ์เขียวนโยบายการคลังสู่เศรษฐกิจสีเขียว” ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ซึ่งจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม 2567 ณ ห้องอินฟินิตี้ บอลรูม โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยผลการสัมมนาวิชาการ “Fiscal GreenPrint พิมพ์เขียวนโยบายการคลังสู่เศรษฐกิจสีเขียว” ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ซึ่งจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม 2567 ณ ห้องอินฟินิตี้ บอลรูม โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ โดยกล่าวว่า งานสัมมนาภาคบ่ายเป็นการเสวนาในหัวข้อ “Fiscal GreenPrint: Bridging Policy and Practice เชื่อมนโยบายสู่การปฏิบัติ” ซึ่ง สศค. ได้รับเกียรติจาก โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย 1) คุณผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทยและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) 2) คุณชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 3) ดร.พูนเพิ่ม วรรธนะพินทุ ผู้จัดการด้านความยั่งยืนระดับภูมิภาค บริษัท บูโร เวอริทัส (ประเทศไทย) จำกัด 4) คุณธันยวัฒน์ ทั่งตระกูล กรรมการผู้จัดการบริษัท ธาอีส อีโคเลทเธอร์ จำกัด และ 5) ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เข้าร่วมการเสวนา โดยมีคุณธันยมัย อนันตกรณีวัฒน์ เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยสามารถสรุปผลการเสวนาได้ดังนี้

ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า จากการนำเสนอผลงานวิจัยในช่วงเช้า โดยนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ของ สศค. ได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า แนวความคิด “Carbon Competitiveness” มีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาประเทศ โดย สศค. ได้นำเสนอมาตรการการเงินการคลังที่จะช่วยผลักดันให้องคาพยพทุกภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจสามารถปรับตัวไปสู่การดำเนินการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น เพื่อผลักดันนโยบายให้ไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม สศค. ในฐานะหน่วยงานเสนอแนะนโยบายของกระทรวงการคลัง ได้พัฒนาแนวคิด 4Es of Eco-Economic Strategy: (1) Elevate หรือการยกระดับห่วงโซ่อุปทานทั้งระบบเพื่อเศรษฐกิจสีเขียว (2) Encourage หรือการผลักดันให้ภาคธุรกิจปรับตัวและพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (3) Empower หรือการสร้าง Ecosystem เพื่อให้ภาคธุรกิจมีทรัพยากรบุคคลและความรู้เพียงพอสำหรับเศรษฐกิจแห่งอนาคต และ (4) Engage หรือการร่วมมือกันทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคธุรกิจ โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันกับประเทศในภูมิภาค ในเชิง “Carbon Competitiveness” โดยใช้ความได้เปรียบจากทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศน์ที่หลากหลาย รวมทั้งภาคเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สามารถพัฒนาเป็นแหล่งสร้างคาร์บอนเครดิตได้ เพื่อรักษาศักยภาพทางการแข่งขันของประเทศในระยะยาว

คุณชัยวัฒน์ โควาวิสารัช กล่าวว่า การลงทุนในเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ต้องเริ่มทำ แต่มีต้นทุนในการลงทุนขั้นต้นที่สูง ดังนั้น จำเป็นต้องมีมาตรการเพื่อเข้ามาผลักดันให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยสิ่งที่ต้องเริ่มดำเนินการเพื่อผลักดันให้ภาคธุรกิจสามารถปรับเปลี่ยนไปสู่การทำธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คือ การทำบัญชีคาร์บอน (Carbon Accounting) เพื่อประเมิน Carbon Footprint of Organization (CFO) และ Carbon Footprint of Products (CFP) เพื่อให้แต่ละองค์กรตระหนักถึงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเอง เพื่อให้สามารถวางแผนในการปรับตัวและเปลี่ยนผ่านสู่การประกอบธุรกิจสีเขียว ดังนั้น การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจะเป็นประโยชน์ในการจูงใจให้ผู้ประกอบการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของตนเอง รวมทั้งการใช้พลังงานที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจดังกล่าว อย่างไรก็ดี ในการกำหนดนโยบายเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต้องคำนึงถึงต้นทุนที่เกิดขึ้นและพิจารณาทางเลือกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างรอบด้าน ยกตัวอย่างเช่น การก้าวเข้าสู่การเป็นกลางทางคาร์บอน ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ใช้พลังงานฟอสซิล แต่อาจรวมถึงเทคโนโลยีการดักจับ กักเก็บ และใช้ประโยชน์จากคาร์บอน (Carbon Capture Utilization and Storage) เป็นต้น

คุณผยง ศรีวณิช ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นของการมีนโยบายหรือมาตรการที่ชัดเจนจากภาครัฐที่จะช่วยผลักดันประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว โดยมีข้อเสนอแนะสำหรับภาครัฐ เช่น มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำซึ่งภาครัฐของประเทศจีนได้ปล่อยกู้ให้แก่ธนาคารพาณิชย์จีนเพื่อให้นำไปปล่อยต่อสำหรับการปรับเปลี่ยนธุรกิจจีนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มาตรการในการยกระดับตลาดคาร์บอนเครดิตของไทยโดยปรับมาตรฐานการวัดคาร์บอนเครดิต การสร้างฐานข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการประเมินและตรวจสอบคาร์บอนเครดิตและการสร้างมาตรฐานการบัญชีทางคาร์บอน (Carbon Accounting) ซึ่งจะช่วยให้สถาบันการเงินสามารถคัดเลือกธุรกิจเพื่อให้สินเชื่อให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์และป้องกันปัญหาการฟอกเขียว (Greenwashing) การสร้างองค์ความรู้และผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนและประเมินคาร์บอนเครดิต ทั้งนี้ ด้วยข้อเสนอต่าง ๆ และความร่วมมือของภาครัฐจะช่วยให้สามารถยกระดับภาคการเงินของไทยให้สอดคล้องกับหลักการด้านสิ่งแวดล้อม

ดร.พูนเพิ่ม วรรธนะพินทุ ได้กล่าวถึงอุปสรรคในการพัฒนาตลาดคาร์บอนเครดิตของไทยในปัจจุบัน คือ มาตรการฐานการขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตของประเทศไทยยังแตกต่างจากมาตรฐานสากล ทำให้ไม่สามารถซื้อขายในตลาดโลกได้และเป็นการซื้อขายภายในประเทศในราคาที่ต่ำเมื่อเทียบกับราคาในต่างประเทศ อีกทั้งค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตของไทยยังอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ ประเทศไทยควรพัฒนาระบบการจัดการคาร์บอนโดยเฉพาะกลไกราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศในยุคที่มีการนำกลไกราคาคาร์บอนข้ามพรมแดน (Carbon Cross Border Adjustment Mechanism) มาเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี นอกจากนี้ ควรพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยให้มีมาตรฐานและสร้างกลไกให้ราคาของคาร์บอนสามารถสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของคาร์บอนเครดิต ตัวอย่างเช่น คาร์บอนเครดิตที่ได้จากการรักษาป่าหรือปลูกป่าอาจมีประโยชน์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อมมากกว่าคาร์บอนเครดิตที่ได้จากการอนุรักษ์พลังงาน เป็นต้น

คุณธันยวัฒน์ ทั่งตระกูล ได้ให้ความเห็นในฐานะผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็กที่มีการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน โดยได้มีการนำของที่ใช้แล้วหรือขยะมาสร้างมูลค่าขึ้นใหม่ โดยไม่สร้างคาร์บอนขึ้นใหม่ในระหว่างกระบวนการผลิต และได้กล่าวถึง ความสำคัญและบทบาทความจำเป็นของสถาบันการเงินในการช่วยเหลือและส่งเสริมธุรกิจขนาดเล็กให้สามารถเติบโตได้อย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งในแง่ของการสนับสนุนสินเชื่อและการให้ความรู้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ อย่างไรก็ดี เพื่อให้ธุรกิจขนาดเล็กสามารถเติบโตได้ นอกจากการช่วยเหลือจากภาครัฐแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจต้องมีความมุ่งมั่นและพัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรองรับสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งผู้บริโภคได้ตระหนักรู้และให้ความสำคัญกับการเลือกใช้หรือเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้เน้นย้ำว่า เพื่อนำนโยบายด้านเศรษฐกิจสีเขียวไปสู่การปฏิบัติได้จริง จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน นอกจากนี้ การปรับเปลี่ยนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมถือเป็นการลงทุนเพื่ออนาคต เป็นมาตรการเชิงป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งยังช่วยให้เศรษฐกิจไทยก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกได้