In News
'ภูมิธรรม'บินตรวจปัญหาน้ำท่วมสุโขทัย หลายเขื่อนยังรับน้ำได้มั่นใจไม่ซ้ำรอยปี54
กรุงเทพฯ-“ภูมิธรรม” บินตรวจสถานการณ์น้ำ บึงบอระเพ็ด น.น่าน น.เจ้าพระยา และเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท มั่นใจไม่เกิดน้ำท่วมเช่นปี 54 หลายเขื่อนยังสามารถรองรับน้ำเพิ่มเติมและตรวจปริมาณน้ำประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์ และประตูระบายน้ำบ้านคลองหกบาท จ. สุโขทัย โดยกรมชลประทานได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่บรรเทาความเดือดร้อนประชาชน พร้อมกำชับเฝ้าระวังสถานการณ์ เร่งช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยโดยเร็วก่อนหน้านี้ประชุมสถานการณ์น้ำ จ. สุโขทัย เร่งสำรวจพื้นที่เพื่อเยียวยาประชาชน กำชับจังหวัดใกล้เคียงต้องมีแผนเฝ้าระวัง พร้อมร่วมประกอบอาหารและมอบถุงยังชีพแก่ประชาชน
วันนี้ (31 สิงหาคม 2567) เวลา 16.00 น. ณ สำนักงานชลประทานที่ 12 ตำบลสรรพยา อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำ โดยได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ตรวจสถานการณ์น้ำบริเวณบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ แม่น้ำน่าน แม่น้ำเจ้าพระยา และเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท
ภายหลังการตรวจสถานการณ์น้ำ รองนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงวัตถุประสงค์การเดินทางลงพื้นที่ในวันนี้ว่า รองนายกรัฐมนตรีหลายท่านได้มีการลงพื้นที่และมีการจัดระบบก่อนหน้านี้แล้ว หลังจากเหตุการณ์อุทกภัยที่ จ.สุโขทัย ตนได้ไปมา 2 ครั้ง ซึ่งพบว่า น้ำท่วมมีลักษณะเป็นน้ำหลาก ไหลลงมาแล้วกระจายตัว สร้างความเสียหายแก่ประชาชนในภาคเหนือ จึงสั่งการให้ทุกฝ่ายเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขง ซึ่งจุดที่พบปัญหา คือ น้ำที่ไหลมาจากเเม่น้ำยม เพราะไม่มีเขื่อนกักกันน้ำ หรือพร่องน้ำได้ สุโขทัยเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำอยู่แล้ว จึงรองรับน้ำทั้งหมด ตนได้ประชุมหารือที่ศาลากลางจังหวัดสุโขทัย ย้ำถึงการแก้ไขป้องกัน โดยสั่งการ สทนช. ให้ทลายสิ่งที่กีดขวางทางเดินน้ำออกให้การระบายน้ำไหลได้สะดวก อาทิ รื้อถอนรางรถไฟเดิมที่เป็นจุดขวางน้ำ เพื่อให้น้ำที่ท่วมขังมีทางระบายได้รวดเร็วนอกจากนื้ ยังได้มอบถุงยังชีพให้ประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัย เบื้องต้นได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด และกระทรวงพาณิชย์ดูแลการเยียวยาสิ่งของ ขอให้จังหวัดใช้นักศึกษาอาชีวะ เทคนิค เข้ามาช่วยกันแก้ไขปัญหาสิ่งของ/สถานที่ที่เสียหาย พังทลาย โดยจังหวัดต้องทำหน้าที่บูรณาการทุกฝ่ายจะเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหา เป็นโมเดลที่ได้ใช้เยียวยาปัญหาน้ำใน 4 จังหวัดภาคเหนือที่เกิดอุทกภัย
รองนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงเกี่ยวกับกรณีมีกระแสข่าวลือว่า มั่นใจจะไม่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมเหมือนปี 2554 เนื่องจากมีระบบกระจายน้ำที่กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ช่วยกัน ทำให้น้ำที่จะมาถึงเขื่อนเจ้าพระยา ถูกกระจายไปส่วนต่าง ๆ สิ่งที่กังวลใจอย่างเดียวคือ จะเกิดพายุอีกหรือไม่ เนื่องจากเราอยู่ในสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง จากการตรวจสอบข้อมูลเชิงวิชาการจากกรมอุตุนิยมวิทยา ที่มีความแม่นยำ คาดว่า สามารถรองรับน้ำได้ จากปริมาณน้ำในเขื่อนแต่ละแห่งมีน้ำอยู่ 1 /4 หรือ 1/2 ของเขื่อน ขอประชาชนอย่าวิตกกังวลและให้เชื่อมั่นหน่วยงานราชการที่พร้อมจะร่วมมือกันแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน
“ภูมิธรรม” ตรวจปริมาณน้ำประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์สุโขทัย
เวลา 13.30 น. ณ ประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์ ตำบลหาดกุมเกาะ อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี และคณะ ประกอบด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำพร้อมรับฟังรายงานภาพรวมการระบายน้ำจากกรมชลประทาน ซึ่งขณะนี้สถานการณ์น้ำเข้าสู่ภาวะปกติ และต่ำกว่าตลิ่ง โดยเฉพาะที่อำเภอเมือง ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 1 เมตร สำหรับน้ำที่ค้างทุ่งอยู่จะใช้วิธีเปิดทางน้ำเพื่อระบายน้ำที่ลุ่มต่ำสู่ระบบ นอกจากนี้ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำประมาณ 20 เครื่อง เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่โดยเร็ว บรรเทาความเดือดร้อนประชาชน
จากนั้น รองนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปติดตามสถานการณ์น้ำ ณ ประตูระบายน้ำบ้านคลองหกบาท ตำบลป่ากุมเกาะ อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย ซึ่งเป็นโครงการปรับปรุงแม่น้ำยมสายเก่า (แม่น้ำยมฝั่งซ้าย) งบประมาณสร้างต่อเนื่องถึงปี 2569 เมื่อสร้างเสร็จผนังกั้นน้ำจะช่วยเเก้ปัญหาน้ำท่วมในจังหวัดสุโขทัยได้อีกระดับหนึ่ง
รองนายกรัฐมนตรี ได้สอบถามถึงศักยภาพในการระบายน้ำว่าสามารถรองรับน้ำได้มากน้อยเพียงใดหากมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น โดยกำชับให้เฝ้าระวังสถานการณ์และเร่งช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยโดยเร็ว
“ภูมิธรรม” ประชุมสถานการณ์น้ำสุโขทัยเร่งสำรวจพื้นที่เพื่อเยียวยาประชาชน
เวลา 10.50 น. ณ ห้องประชุมศรีนคร ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดสุโขทัย ตำบลธานี อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี และคณะ ประกอบด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประชุมหน่วยบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ รับฟังสรุปสถานการณ์น้ำ และแผนการเร่งระบายน้ำท่วมขังในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนและแผนการเตรียมความพร้อมรับมือฝนในช่วงถัดไปจากกรมชลประทาน สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และหน่วยงานในพื้นที่ ซึ่งสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย ณ วันที่ 30 สิงหาคม 2567 ยังมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 7 อำเภอ 42 ตำบล 168 หมู่บ้าน (เมืองสุโขทัย กงไกรลาศ ศรีสัชนาลัย ศรีสำโรง สวรรคโลก ศรีนคร คีรีมาศ) เกษตรกรประสบภัย 10,016 ครัวเรือน พื้นที่ประสบภัย 65,409 ไร่ พื้นที่คาดว่าจะเสียหาย 43,747 ไร่ ข้าว 37,606 ไร่ พืชไร่และพืชผัก 2,285 ไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้นและอื่น ๆ 3,856 ไร่
ภายหลังการบรรยายสรุปฯ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การเดินทางมาจังหวัดสุโขทัยวันนี้ เพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้น เมื่อเห็นปริมาณน้ำก็รู้สึกเป็นห่วง เพราะพื้นที่สุโขทัยเป็นพื้นที่ราบแบน ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่รับน้ำจากที่ต่าง ๆ ขณะที่แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำน่าน ยังสามารถรองรับน้ำได้ แต่แม่น้ำยมนั้นไม่มีจุดรองรับน้ำเลย ซึ่งจะต้องมีการทบทวนหรือหาช่องทางดูดซับน้ำก่อนที่น้ำจะทะลักเข้ามาในพื้นที่สุโขทัย ซึ่งต้องพิจารณาอย่างจริงจัง
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า แม้ว่าสถานการณ์น้ำจะลดลงและใกล้จะเข้าสู่ปกติ แต่ฤดูฝนยังไม่สิ้นสุด ยังคงต้องมีการเฝ้าระวังอย่างเต็มที่ รวมถึงจังหวัดใกล้เคียงก็ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดด้วย เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีความอุ่นใจ ทั้งนี้ ต้องขอบคุณกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ช่วยดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจพื้นที่ให้ทั่วถึง ว่ายังมีพื้นที่ไหนที่เล็ดลอดสายตาไป เพื่อเร่งฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย เร่งเยียวยาประชาชนให้ทั่วถึง
จากนั้น รองนายกรัฐมนตรีตรวจเยี่ยมโรงครัว พบปะประชาชน และมอบถุงยังชีพ จำนวน 200 ชุด ให้แก่ผู้ประสบภัย พร้อมกล่าวทักทายและแสดงความห่วงใยต่อประชาชนที่มาร่วมงาน โดยย้ำว่ารัฐบาลตระหนักถึงปัญหาที่ชาวสุโขทัยต้องเผชิญซ้ำซากจากอุทกภัยทุกปี
รองนายกรัฐมนตรียังได้เน้นถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหาในระยะยาว โดยการวางแผนการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ และเสนอให้การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเป็นไปอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน