EDU Research & ESG

ทีอีไอร่วมสสส.และพส.จับมือภาคีทั่วไทย  สร้างกลไกขับเคลื่อนองค์กรสุขภาวะ



กรุงเทพฯ-สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) จับมือภาคีภาคประชาสังคมทั่วประเทศ สร้างกลไกการขับเคลื่อนงานองค์กรสุขภาวะกลุ่มภาคประชาสังคมอย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน ร่วมประกาศเจตนารมณ์ภาคประชาสังคมยุคใหม่ใส่ใจสุขภาวะ ผนึกกำลัง “ลด แอลกอฮอล์ บุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า” เพื่อสุขภาพที่ดีของคนทำงาน

วันที่ 3 กันยายน 2567 ณ ห้องปรินซ์บอลรูม 2 (ชั้น 11 อาคาร 1) โรงแรมปรินซ์ พาเลซ กรุงเทพฯ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักสนับสนุนสุขภาวะ      ในองค์กร (สำนัก 8) และกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พร้อมด้วยภาคีภาคประชาสังคมทั่วประเทศ ร่วม “สร้างกลไกการขับเคลื่อนงานองค์กรสุขภาวะ กลุ่มภาคประชาสังคมอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน” เผยแพร่ข้อมูลสถานการณ์โรค และปัจจัยที่ส่งผลต่อปัญหาพฤติกรรมสุขภาพของคนทำงานภาคประชาสังคม และ  Kick off การส่งเสริม พัฒนาศักยภาพและขับเคลื่อนองค์กรแห่งความสุข ลดปัจจัยเสี่ยง สร้างปัจจัยเสริมด้านสุขภาพให้บุคลากร นำไปสู่ผลลัพธ์ทางสุขภาวะที่ดีครบทั้ง 4 มิติ ได้แก่ ร่างกาย จิตใจ ปัญญา และสังคม ตามแนวทางความสุขแปดประการ (Happy 8) แนวทางการสร้างเสริมสุขภาพ (7+1) สสส. พร้อมทั้งร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ภาคประชาสังคมยุคใหม่ใส่ใจสุขภาวะ ผนึกกำลัง “ลด แอลกอฮอล์ บุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า” เพื่อสุขภาพที่ดีของคนทำงาน 

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา  ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) กล่าวว่า ภาคประชาสังคมเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการพัฒนาประเทศร่วมกับภาครัฐพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน ชุมชน และสังคมตามเจตนารมณ์ของแต่ละองค์กรโดยไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งบทบาทเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญ ช่วยสร้างสรรค์พลังแก่สังคมและสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดีของคนไทย ซึ่งการทำงานของภาคประชาสังคมที่ผ่านมาต้องเผชิญกับสถานการณ์และปัญหาที่ซับซ้อนในประเด็นการทำงานที่หลากหลาย เช่น มีทรัพยากรในการทำงานไม่ต่อเนื่อง พื้นที่ทำงานที่ห่างไกล ประเด็นช่องว่างระหว่างรุ่น (Generation Gap) เงื่อนไขด้านแหล่งทุนซึ่งองค์กรภาคประชาสังคมหลายแห่งจะต้องหาเงินงบประมาณดำเนินการเพื่อความอยู่รอดขององค์กร อีกทั้งยังขาดแรงจูงใจในการทำงานอย่างมืออาชีพ เช่น ไม่ได้รับสวัสดิการ ที่เหมาะสมในขณะที่ทำงานเพื่อส่วนรวม จึงส่งผลต่อแรงกดดันและพฤติกรรมการใช้ชีวิตตามมา ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคอาหารหวาน มัน เค็ม การดูแลสุขภาพ ปัญหาความเครียด อันส่งผลต่อสุขภาพจิต การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ และการมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ ส่งผลให้คนทำงานในกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่กลุ่มภาคประชาสังคมจะร่วมเรียนรู้ ส่งเสริม พัฒนาศักยภาพ และร่วมขับเคลื่อนงานสุขภาวะองค์กร “ลดปัจจัยเสี่ยง สร้างปัจจัยเสริม” ด้านสุขภาพให้กับคนทำงานให้เกิดผลลัพธ์ทางสุขภาวะที่ดีขึ้น 4 มิติ ได้แก่ กาย ใจ ปัญญา และสังคม ตามแนวทางขององค์กรสุขภาวะ (Happy Workplace) แนวคิดความสุขแปดประการ (Happy 8) และแนวทางการสร้างเสริมสุขภาพ (7+1) สสส.

นางภิญญา จำรูญศาสน์ รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า องค์กรภาคประชาสังคม มีบทบาทสำคัญในการให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองประชาชนโดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส ทั้งนี้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 42 กำหนดหน้าที่ภาครัฐให้สนับสนุน ส่งเสริมความเข้มแข็งกับองค์กรภาคประชาสังคม เพื่อเป็นพลังทางสังคมที่มีส่วนร่วมและบทบาทการเป็นหุ้นส่วนในการทำงานเพื่อพัฒนาชุมชนสังคม การสร้างความเป็นธรรมและการจัดการปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม นำไปสู่การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ แต่ปัจจุบันยังขาดกฎหมายที่สนับสนุน ส่งเสริม และสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรภาคประชาสังคม และขาดกลไกการบูรณาการงานร่วมกันระหว่างองค์กรภาคประชาสังคม ภาครัฐ และภาคส่วนอื่น อย่างไรก็ตามเพื่อให้แนวทางข้างต้นบรรลุเป้าหมายนำไปสู่การพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) จึงได้จัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม ภายใต้คณะกรรมส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม (คสป.) ปัจจุบันอยู่ในระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) ซึ่งมีเป้าหมายหลักในการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม เพื่อการพัฒนาสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาวะของประชาชน ชุมชน รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ขององค์กรภาคประชาสังคมต่อไป จึงเป็นโอกาสที่ดีที่เกิดความร่วมมือในครั้งนี้ขึ้นเพื่อร่วมกันสร้างกลไกการขับเคลื่อนงานองค์กรสุขภาวะ กลุ่มภาคประชาสังคมอันนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนทำงาน ส่งเสริมพัฒนาศักยภาพขององค์กรภาคประชาสังคมให้มีความเข้มแข็ง และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศร่วมกับภาครัฐ ให้เกิดกลไกการขับเคลื่อนงานองค์กรสุขภาวะอย่างต่อเนื่องยั่งยืน

นายพงษ์ศักดิ์ ธงรัตนะ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร (สสส.) กล่าวว่า สำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร (สำนัก 8) ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะองค์กร มีภารกิจหลักในการขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาพตามทิศทาง เป้าหมาย และยุทธศาสตร์ของ สสส. โดยใช้แนวคิด Healthy Workplace Framework ขององค์การอนามัยโลก พัฒนาคนในองค์กรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งกาย ใจ และสังคม ด้วยแนวทางส่งเสริมสุขภาวะ 8 ประการ (Happy 8) ซึ่งสำนัก 8 ได้สนับสนุนให้เกิดองค์กรสุขภาวะมาอย่างต่อเนื่องในกลุ่มองค์กรภาคสาธารณะ ภาครัฐ และภาคเอกชน ซึ่งกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญในการขยายผลแนวทางสุขภาวะองค์กร ร่วมสร้างเสริมสุขภาพปรับมุมมองระบบการดูแลสุขภาพเป็นการ "สร้างเสริม" เพื่อลด "ซ่อมสร้าง"     เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพดียิ่งขึ้น จากสถานการณ์ด้านสุขภาพปัจจุบัน พบว่า สาเหตุการตายอันดับ 1 ของโลกและไทยเกิดจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคเบาหวาน ความดัน มะเร็ง หัวใจ และผลระทบจากปัจจัยทางสังคม ที่มีผลต่อสุขภาพ อันดับ 1 เกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพ เช่น การสูบบุหรี่ กิจกรรมทางกาย การบริโภคอาหาร การดื่มสุรา เป็นต้น สสส.และ สำนัก 8 ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะองค์กรตามแนวคิด Happy Workplace แนวทางส่งเสริมสุขภาวะ 8 ประการ (Happy 8) และเป้าหมายสร้างเสริมสุขภาพ (7+1) สสส.นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของคนทำงาน และผลลัพธ์ทางสุขภาวะที่ดีครบทั้ง 4 มิติ ได้แก่ ร่างกาย จิตใจ ปัญญา และสังคม

นอกจากนี้ การประชุมเชิงปฏิบัติการ “ผนึกกำลังร่วมขับเคลื่อนองค์กรสุขภาวะภาคประชาสังคม” ในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ คุณสัณหณัฐ ดีทองอ่อน (นักพัฒนาสังคมชำนาญการ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว) นำเสนอ “Happy Workplace โอกาสและจุดเริ่มต้นเพื่อภาคประชาสังคม” ผศ.ดร.เกียรติอนันท์ ล้วนแก้ว ผอ.คณะทำงานจัดการองค์ความรู้และสื่อสารสาธารณะ (อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) นำเสนอ ผลการประเมิน “สถานการณ์สุขภาพและปัจจัยปัญหาพฤติกรรมสุขภาพคนทำงานกลุ่มภาคประชาสังคม” คุณบรรชา ช่างเหล็ก ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม (กสป.) กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คุณสินี จักธรานนท์ ประธานกรรมการมูลนิธิอโชก้า (ประเทศไทย) ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยน “ทิศทางกลไกการขับเคลื่อนความร่วมมืองานสุขภาวะองค์กรกลุ่มภาคประชาสังคม” นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม เสริมพลัง Happy Workplace สร้างสุของค์กรภาคประชาสังคม     โดย คุณวินัยศักดิ์ เหมืองทอง (วิทยาการกระบวนการ) ผู้จัดการโครงการ SHAP กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “ผนึกกำลังร่วมขับเคลื่อนองค์กรสุขภาวะภาคประชาสังคม” ในวันนี้ ยังมีการจัดบูธนิทรรศการประเด็นงานส่งเสริมสุขภาวะ จากหลายองค์กร เช่น SAANSOOK สสส. สำนัก 8 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เครือข่ายคนไทยไร้พุง  ธนาคารจิตอาสา และสถาบันสิงแวดล้อมไทย งานนี้เปิดโอกาสให้ ภาคีเครือข่ายกลุ่มภาคประชาสังคม กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จำนวนมากกว่า 70 ท่าน เข้า "ร่วมขับเคลื่อนองค์กรแห่งความสุข  ประกาศเจตนารมณ์ “ลด แอลกอฮอร์ บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า” เพื่อสุขภาพที่ดีของคนทำงาน"  และ Work Shop กิจกรรม "เสริมพลัง Happy Workplace สร้างสุของค์กรภาคประชาสังคม" ไปด้วยกัน