EDU Research & ESG

นักวิจัยมมส.รุกเปิดตัว'ไวน์'ไร้แอลกอฮอล์ แปรรูปมันแกวเพิ่มมูลค่าช่วยเกษตรกร



มหาสารคาม-อาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยีการอาหาร คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) เปิดตัวผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ “ระบือ นอนแอล สปาร์กลิงไวน์” และ เครื่องดื่ม “จิคาซ่า นอนแอล สปาร์กลิงไวน์” จากมันแกวอำเภอบรบือ ของดีจังหวัดมหาสารคาม เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มจากน้ำมันแกวบรบือ ผลักดันและต่อยอดให้เป็นสินค้าประจำจังหวัดที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันแกวของจังหวัดมหาสารคาม

วันนี้ (5 กันยายน 2567)  หน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมประจำพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (SID-ESAN) นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มณีรัตน์ วงษ์ซิ้ม หัวหน้าหน่วยฯ พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิริพร ลาวัลย์ ผู้พัฒนานวัตกรรม เปิดตัวผลิตภัณฑ์ผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยเครื่องดื่ม NON-ALCOHOL “ระบือ นอนแอล สปาร์กลิงไวน์” และเครื่องดื่ม “จิคาซ่า นอนแอล สปาร์กลิงไวน์” ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมการนำมันแกวมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มไวน์ที่ปราศจากแอลกอฮอล์ เป็นครั้งแรก

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิริพร ลาวัลย์ กล่าวว่า การพัฒนาผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เป็นเครื่องดื่มที่ปราศจากแอลกอฮอล์ พัฒนาต่อยอดจากไซรัปมันแกวบรบือ โดยมีแนวคิดหลักคือการใช้ประโยชน์จากมันแกวบรบือที่เป็นพืช GI ของจังหวัดมหาสารคาม เพื่อช่วยเกษตรกรชาวสวนมันแกว อีกทั้งคุณประโยชน์ของมันแกว มีฤทธิ์เพิ่มภูมิต้านทาน ป้องกันกระดูกพรุน มีสารไฟโตเอสโตรเจนช่วยผิวให้ชุ่มชื้น ลดการสร้างเมลานิน ให้แคลอรีน้อย ปริมาณเส้นใยสูง หัวมันแกวมีองค์ประกอบของน้ำมากถึงร้อยละ 65 จึงมีความสนใจนำมาพัฒนาเป็นเครื่องดื่มในรูปแบบไวน์น้ำมันแกว เพราะในกระบวนการหมักไวน์แอลกอฮอล์ที่เกิดขึ้น จะช่วยสกัดสารสำคัญในมันแกวออกมาได้ในปริมาณมาก และยังเกิดกรดอินทรีย์ที่มีประโยชน์ ขณะเดียวกันเพื่อให้ได้เครื่องดื่มที่สามารถดื่มได้ทุกเพศวัย มีประโยชน์ต่อสุขภาพส่งผลกับความสวยงาม นำมาทำให้ปราศจากแอลกอฮอล์ด้วยความร้อนต่ำ เพื่อยังคงคุณประโยชน์ของมันแกวครบถ้วน 

สำหรับที่มาของชื่อผลิตภัณฑ์นั้น มาจากแหล่งวัตถุดิบมันแกว อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม จึงตั้งเป็นชื่อ “ระบือ นอนแอล สปาร์กลิงไวน์” และ ภาษาสเปนเรียกมันแกวว่า จิคามา (jicama) จึงดัดแปลงให้เข้ากับผลิตภัณฑ์เป็นที่มาของ “จิคาซ่า นอนแอล สปาร์กลิงไวน์”

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มณีรัตน์ วงษ์ซิ้ม กล่าวว่า ทิศทางของการนวัตกรรมเพื่อสังคมเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญในการขับเคลื่อนสังคมไทย การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกกลุ่ม ทั้งด้านสุขภาพ การศึกษา และการเข้าถึงบริการและสวัสดิการของรัฐ นำไปสู่การแก้ไขปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และความไม่เสมอภาค โครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมเชิงพื้นที่ เป็นโครงการที่มุ่งเน้นให้เกิดการแก้ปัญหาสังคมและลดความเหลื่อมล้ำในกลุ่มจังหวัดยากจนของประเทศ หรือกลุ่มพื้นที่เป้าหมายด้วยนวัตกรรม ผ่านการดำเนินงานร่วมกับ “หน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมเชิงพื้นที่” ที่จัดตั้งขึ้นกระจายตัวตามภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อช่วยอบรมบ่มเพาะเพิ่มความสามารถด้านนวัตกรรมให้กับชุมชนและผู้ประกอบการทางสังคม จนสามารถพัฒนา “ผลงานนวัตกรรมเพื่อสังคม” ในพื้นที่ที่ตอบโจทย์ปัญหาและตรงตามความต้องการของสังคมหรือชุมชน อันจะนำไปสู่โมเดลการแก้ปัญหาสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มุ่งเน้นการพัฒนางานวิจัยเพื่อแก้ไขโจทย์และปัญหาชุมชนในด้านต่าง ๆ รวมทั้งเอาปัญหาและอุปสรรคของชุมชน มาเป็นโจทย์วิจัยสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน เป็นการเพิ่มพลังชุมชนให้มีส่วนร่วมในกระบวนการวิจัย เพื่อช่วยเสริมพลังคนในชุมชนให้สามารถกำหนดปัญหา ความต้องการในการพัฒนาชุมชนและท้องถิ่นของตนเองได้ และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีผลงานที่รับการสนับสนุนจาก SID-ESAN จำนวน 12 ผลงาน มีผลงานที่โดดเด่นมากมาย รวมถึงผลงาน “ระบือ สปาร์กลิงไวน์ : เครื่องดื่มไวน์ไร้แอลกอฮอล์จากมันแกว” ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิริพร ลาวัลย์ ด้วย

ผลิตภัณฑ์ “ระบือ นอนแอล สปาร์กลิงไวน์” และ เครื่องดื่ม “จิคาซ่า นอนแอล สปาร์กลิงไวน์” เป็นผลิตภัณฑ์ที่สำเร็จสมบูรณ์พร้อมจำหน่ายให้กับผู้สนใจ และยังพร้อมที่จะร่วมทุนการผลิต ตลอดจนเผยแพร่เทคโนโลยีการแปรรูป และผลักดันเป็นสินค้าประจำจังหวัดมหาสารคาม ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิริพร ลาวัลย์ คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โทรศัพท์ 094-1952562 หรือ 089-2794564

พิเชษฐ  ยากรี - มหาสารคาม