Authority & Harm
วันสถาปนาสภาทนายความครบรอบ39ปี 'ทวี สอดส่อง'ร่วมยินดีฝากเรื่องสิทธิปชช.
กรุงเทพฯ-เมื่อวันอังคารที่ 10 กันยายน 2567 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 5 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ถนนพหลโยธิน กรุงเทพมหานคร สภาทนายความได้จัดให้มีพิธีทำบุญและเจริญพระพุทธมนต์ เนื่องในวันสถาปนาสภาทนายความ ครบรอบ 39 ปี (นับจากมีพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528) เพื่อความเป็นสิริมงคลและอุทิศบุญกุศลให้ทนายความที่ล่วงลับไปแล้ว โดยมีสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์
ในโอกาสนี้ได้รับเกียรติจาก พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ร่วมงาน โดยมี ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ เป็นประธานจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย และถวายเครื่องไทยธรรมแก่พระภิกษุสงฆ์ จากนั้นพระสงฆ์สวดอนุโมทนา เจริญชัยมงคลคาถา พร้อมประพรมน้ำพระพุทธมนต์ให้แก่ผู้ร่วมงานในพิธี โดยมีคณะกรรมการบริหารสภาทนายความ บุคคลสำคัญ ๆ ทางด้านกฎหมาย ผู้แทนสภาวิชาชีพทั้ง 11 องค์กร ผู้แทนจากภาคเอกชนและสมาชิกทนายความเข้าร่วมงานอย่างอย่างคับคั่ง
สำหรับบรรยากาศภายในงานเป็นไปอย่างชื่นมื่นและอบอุ่น โดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะสภานายกพิเศษแห่งสภาทนายความ กล่าวแสดงความยินดี เนื่องในโอกาสวันสถาปนาสภาทนายความ ครบรอบ 39 ปี พร้อมกล่าวว่า ทนายความนั้นเป็นเสาหลักในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะคดีอาญา ซึ่งเป็นหนึ่งใน 5 เสาหลัก ประกอบด้วย (ศาล อัยการ ทนายความ พนักงานสอบสวน ราชทัณฑ์) ซึ่งจะขาดอันหนึ่งอันใดไม่ได้ จึงเป็นเรื่องที่ท้าท้ายของสภาทนายความที่เป็นเสาหลักในกระบวนการยุติธรรมที่อยู่คู่กับประชาชน เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมให้ได้รับความเป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้สึกของประชาชนที่มีความรู้สึกว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญต้องสร้างการสื่อสารและความเข้าใจที่ดี ขอให้สภาทนายความช่วยสื่อสารให้สังคมรับรู้รับทราบและเข้าใจต่อไป
ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ กล่าวว่า ผู้ประกอบวิชาชีพทนายความจะต้องอยู่บนพื้นฐานประโยชน์ของประชาชน คือ การอำนวยความยุติธรรม โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือทางคดี การให้คำปรึกษาทางกฎหมาย โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายและการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ซึ่งต้องมีจิตอาสา และเป็นมิติใหม่ของวิชาชีพทนายความที่มี “ทนายความจิตอาสา” ในการให้บริการทางกฎหมายแก่สังคม โดยบริบทของสภาทนายความต่อการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนนั้น จะเป็นการดำเนินงานตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ เพื่อให้สังคมเกิดความสงบสุข
นอกจากนี้สภาทนายความยังได้จัดกิจกรรมอื่น ๆ ได้แก่ การจัดอบรมวิชาการ เรื่อง การดำเนินคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะด้านวิชาการให้แก่สมาชิกทนายความ และจัดกิจกรรมเพื่อสังคม โดยสภาทนายความร่วมกับชมรมทันตกรรมจิตอาสาบุญญานุภาพจังหวัดเชียงรายและชมรมทันตกรรมจิตอาสา ให้บริการทันตกรรม และร่วมมือกับสมาคมทัศนมาตรแห่งประเทศไทย ให้บริการตรวจวัดสายตาแก่สมาชิกสภาทนายความ ทนายความอาสา พนักงานเจ้าหน้าที่และประชาชน โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น
สำหรับวันสถาปนาสภาทนายความ สืบเนื่องจากวันที่ 10 กันยายน 2528 ซึ่งเป็นวันที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระมหากษัตริย์ไทย รัชกาลที่ 9 ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 และพระองค์ท่านได้ทรงพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯให้สภาทนายความอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2553 ซึ่งในปีนี้สภาทนายความ ครบรอบ 39 ปี