In Thailand

ผู้เลี้ยงโคนมระบายน้ำนม'วันดื่มนมโลก'



มหาสารคาม-โควิด-19 กระทบกลุ่มผู้เลี้ยงโคนมโคกก่อ นำผลิตภัณฑ์ออกจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า เป็นการระบายน้ำนมพร้อมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนดื่มนม เนื่องในวันดื่มนมโลก World Milk Day  วันที่ 1 มิถุนายน ของทุกปี

( 1 มิ.ย.64) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อกลุ่มผู้เลี้ยงโคนม ในจังหวัดมหาสารคาม โดยเฉพาะสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมโคกก่อ จำกัด ปัจจุบันมีสมาชิกที่ประกอบอาชีพเลี้ยง โคนม 108 ครอบครัว มีโคนม 4,700 ตัว มีธนาคารเลี้ยงโคนม ทดแทน 4 แห่ง มีปริมาณน้ำนมดิบ ประมาณ 22,000 กก.ต่อวัน มีศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ 2 แห่ง คือ เขตอำเภอเมืองและเขตอำเภอบรบือ ซึ่งภายหลังจากสถานศึกษาต่างๆ ได้ปิดเรียนและเลื่อนการเปิดภาคเรียน ไปทำการเรียนการสอนแบบออนไลน์  ทำให้สหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมโคกก่อ จำกัด ต้องหาวิธีในการที่จะระบายน้ำนมดิบโดยการบุกตลาดในห้างสรรพสินค้าเสริมไทยคอมเพล็กซ์มหาสารคาม และเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนชาวจังหวัดมหาสารคาม ดื่มนมโคโคกก่อ เนื่องในวันดื่มนมโลก World Milk Day  ตรงกับวันที่ 1 มิถุนายน ของทุกปี  พร้อมกับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมสด อาทิ นมโคพาสเจอไรซ์ แกลลอนละ 40 บาท นมยูเอสที และไอศกรีมนมสด ราคา 10 บาท โดยได้รับความสนใจจากชาวมหาสารคาม โดยเฉพาะเด็กๆ มาอุดหนุนเป็นจำนวนมาก 

นายณัฐวุฒิ ประทีปวะณิช รักษาการ ผจก.สหกรณ์โคนมโคกก่อ จำกัด กล่าวว่า ในยุควิกฤตโควิด-19 ได้นำผลิตภัณฑ์นมโคโคกก่อ มาบุกตลาดในห้างสรรพสินค้าเสริมไทยคอมเพล็กซ์มหาสารคาม โดยได้รับความเอื้อเฟื้อสถานที่ จาก นพ.กิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดมหาสารคาม เขต 1 มาวางจำหน่ายเพื่อลดช่องว่างระหว่างผลิตภัณฑ์นมโคโคกก่อกับผู้บริโภค ให้สามารถซื้อสินค้าได้อย่างสะดวก คล่องตัวมากขึ้น เป็นการให้ประชาชนได้เลือกซื้อและบริโภคผลิตภัณฑ์นมโคโคกก่อ ที่ผลิตจากน้ำนมสดแท้ 100% ไม่ผสมนมผง ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายของคนในครอบครัวแทนการเลือกซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภคที่ไม่จำเป็นต่อสุขภาพ 

อีกทั้งเป็นการช่วยเหลืออาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและเป็นการหาช่องทางจำหน่ายใหม่ๆ และทันสมัย เพื่อเพิ่มยอดขาย โดยยึดหลักการ “คนสารคาม ดื่มนมโคสารคาม” สร้างเงินหมุนเวียนในท้องถิ่น โดยในแต่ละปี จะผลิตน้ำนมดิบเฉลี่ยปีละ 25 ตัน สร้างเงินหมุนเวียนให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม กว่าปีละ 200 ล้านบาท...

พิเชษฐ ยากรี/มหาสารคาม