In News
อย่าเชื่อ-อย่าแชร์! 'ยาแคปซูลมะระขี้นก' รักษาเบาหวานได้/มันคือ'ข่าวปลอม'
กรุงเทพฯ-กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ตรวจพบข่าวปลอมรายสัปดาห์ ที่ประชาชนให้ความสนใจสูงสุดอันดับที่ 1 เรื่อง “ยาแคปซูลมะระขี้นก รักษาเบาหวาน และลดน้ำตาลในเลือดสูง” รองลงมาคือเรื่อง “กินผลิตภัณฑ์วิตามินซี รักษาไข้หวัดได้” โดยขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข่าวปลอม เลือกเชื่อ เลือกแชร์ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ หวั่นสร้างความสับสน เข้าใจผิด และส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง
นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 6 – 12 กันยายน 2567 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 843,777 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 179 ข้อความ
สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 160 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 18 ข้อความ และช่องทาง Facebook จำนวน 1 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 154 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 59 เรื่อง
ทั้งนี้ กระทรวงดีอี ได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย
กลุ่มที่ 1 : นโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ จำนวน 74 เรื่อง
กลุ่มที่ 2 : ผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายจำนวน 37 เรื่อง
กลุ่มที่ 3 : ภัยพิบัติ จำนวน 8 เรื่อง
กลุ่มที่ 4 : เศรษฐกิจ จำนวน 9 เรื่อง
กลุ่มที่ 5 : กลุ่มอาชญากรรมออนไลน์ จำนวน 26 เรื่อง
นายเวทางค์ กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจในลำดับต้นๆ ในสัปดาห์นี้ พบว่าเป็นข่าวผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมาย โดยเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตประจำวัน และสุขภาพของประชาชน มากถึง 8 อันดับ ซึ่งเป็นข่าวที่มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยข่าวที่ได้รับความสนใจจากประชาชนมากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่
อันดับที่ 1 : เรื่อง ยาแคปซูลมะระขี้นก รักษาเบาหวาน และลดน้ำตาลในเลือดสูง
อันดับที่ 2 : เรื่อง กินผลิตภัณฑ์วิตามินซี รักษาไข้หวัดได้
อันดับที่ 3 : เรื่อง กินวิตามินซีพร้อมกุ้ง ทำให้ตายเฉียบพลันจากสารหนู
อันดับที่ 4 : เรื่อง น้ำสับปะรดปั่นและน้ำใบย่านางปั่น ป้องกันและรักษาเส้นเลือดสมองตีบ
อันดับที่ 5 : เรื่อง ประกาศจัดตั้งจังหวัดใหม่เพิ่มอีก 7 จังหวัด ทำให้ประเทศไทยมี 84 จังหวัด
อันดับที่ 6 : เรื่อง อาการขี้หนาวเป็นสัญญาณของไตขวาเสื่อม
อันดับที่ 7 : เรื่อง พอกผิวด้วยฟักทอง ช่วยบำรุงให้ผิวขาวขึ้น
อันดับที่ 8 : เรื่อง มีการฉีดฮอร์โมนเร่งโตในไก่
อันดับที่ 9 : เรื่อง หากสูดดมสารอะซีโตนในน้ำยาล้างเล็บเข้าไป จะก่อกวนฮอร์โมนเพศหญิง ทำให้รอบเดือนมีความผิดปกติ
อันดับที่ 10 : เรื่อง คดีความใดที่เกี่ยวกับกรมสรรพากร สามารถอายัดบัญชีธนาคารได้ทันที โดยไม่ต้องขอคำสั่งศาล
“เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ประชาชนสนใจมากที่สุด จาก 10 อันดับข้างต้น พบว่าเป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมาย มากถึง 8 อันดับ และเป็นข่าวด้านความมั่นคงและหน่วยงานรัฐ 2 อันดับ ซึ่งทั้งหมดมีผลกระทบต่อประชาชน อาจเกิดความเสียหาย การเข้าใจผิด เกิดเป็นความวิตกกังวลให้กับประชาชนเป็นวงกว้าง หากมีการแชร์ส่งต่อกันไปในสังคม” นายเวทางค์ กล่าว
สำหรับอันดับ 1 เรื่อง “ยาแคปซูลมะระขี้นก รักษาเบาหวาน และลดน้ำตาลในเลือดสูง” เป็นข้อมูลเท็จ โดยกระทรวงดีอี ได้ประสานงานกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ผลิตภัณฑ์ยาที่มีมะระขี้นกเป็นส่วนส่วนประกอบ ได้รับอนุญาตเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีสรรพคุณแก้ไข้ แก้ร้อนในเท่านั้น ไม่พบข้อมูลที่จะสามารถช่วยรักษาหรือป้องกันโรคเบาหวาน ลดน้ำตาลในกระแสเลือดได้ ซึ่งมะระขี้นก เป็นพืชสมุนไพรที่มีรสขม นิยมใช้ส่วนของผลในการปรุงเป็นอาหาร และเข้าตำรับยา โดยจะมีสรรพคุณช่วยแก้ไข้ แก้ร้อนใน
ด้านข่าวปลอม อันดับ 2 “กินผลิตภัณฑ์วิตามินซี รักษาไข้หวัดได้” พบว่าเป็น ข้อมูลเท็จ โดยกระทรวงดีอี ได้ประสานงานร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า วิตามินซีมีข้อบ่งใช้ในการป้องกันและรักษาอาการขาดวิตามินซี เช่น เลือดออกตามไรฟัน แต่ไม่ได้มีข้อบ่งใช้เพื่อรักษาอาการหวัดแต่อย่างใด โดยวิตามินซี เป็นสารอาหารที่พบมากในผักและผลไม้ มีหน้าที่ช่วยให้หลอดเลือดแข็งแรง ช่วยสร้างเนื้อเยื่อคอลลาเจนและเนื้อเยื่อเอ็นข้อต่อกระดูก มีส่วนช่วยในกระบวนการต้านอนุมูลอิสระ
อย่างไรก็ตาม ดีอี มีความห่วงใยประชาชน เรื่องความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ โซเชียล ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทัน ส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม ทำให้เกิดการหลงเชื่อ สร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน หรือข้อมูลส่วนบุคคล และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง ดังนั้นจึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวหรือลิงก์เว็บไซต์ให้แน่ชัด โดยหากประชาชนสนใจและต้องการทราบข้อมูลด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.fda.moph.go.th หรือโทรสายด่วน 1556
สามารถแจ้งเบาะแส ข่าวปลอม และอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ โทรสายด่วน 1111 (24 ชม.)| Line ID: @antifakenewscenter | เว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com