In News

จันทร์นี้นายกฯเรียกถกรับมือเหตุน้ำท่วม ตั้งศปภ./ห่วงความปลอดภัยอาสากู้ภัย



กรุงเทพฯ-พรุ่งนี้ (16 ก.ย.) นายกฯ เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับมือเหตุน้ำท่วม จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) เตรียมความพร้อมรับมืออุทกภัย และนายกรัฐมนตรี ห่วงใยอาสากู้ภัย จิตอาสาที่ร่วมภารกิจในพื้นที่น้ำท่วม เน้นความปลอดภัย แนะประชาชนปฎิบัติตามคำแนะนำสธ. อย่างเคร่งครัด

วันนี้ (15 กันยายน 2567) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พรุ่งนี้ ( 16 กันยายน 2567) จะเรียกประชุมทีมงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับมือเหตุน้ำท่วม ณ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเตรียมจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) , คณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม และจัดตั้งศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและบริหารสถานการณ์ เพื่อให้ทุกภาคส่วนบูรณาการเข้ามาบริหารจัดการวิกฤตอุทกภัยครั้งนี้อย่างคล่องตัวรวดเร็วมากขึ้น และเพื่อให้การเตรียมการรับมือและเผชิญเหตุเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำแนวทางการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งในส่วนกลางและในระดับพื้นที่ รวมถึงกรุงเทพมหานคร เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในห้วงต่อไป เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ทั่วถึง และลดผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นให้น้อยที่สุด

"จังหวัดที่ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย ขอให้เร่งเข้าความช่วยเหลือประชาชนที่ยังติดค้างอยู่ในที่อยู่อาศัย โดยจัดศูนย์พักพิงชั่วคราวรองรับผู้ประสบภัยให้เพียงพอ ตลอดจนให้ดูแลด้านการดำรงชีพเบื้องต้นให้เพียงพอ เหมาะสม และให้พิจารณาความต้องการพิเศษ โดยเฉพาะผู้ประสบภัยที่เป็นกลุ่มเปราะบาง ทั้งผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็ก และผู้ป่วย รวมถึงจัดทีมแพทย์เข้าดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจผู้ประสบภัย พร้อมดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ประสบภัย และเร่งฟื้นฟูระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยเฉพาะระบบไฟฟ้าและน้ำประปาที่ได้รับความเสียหาย ต้องกลับมาให้บริการประชาชนได้ตามปกติโดยเร็ว" นายกรัฐมนตรี กำชับ

นายกฯห่วงอาสากู้ภัยจิตอาสาที่ร่วมภารกิจในพื้นที่น้ำท่วมเน้นความปลอดภัย

นอกจากนี้นางสาวแพทองธาร ยังได้แสดงความเป็นห่วงอาสากู้ภัย  จิตอาสา อาสาสมัคร ที่เข้าไปร่วมช่วยเหลือประชาชนและสัตว์ รวมถึงภารกิจต่างๆ ในหลายๆ พื้นที่น้ำท่วม ขอให้คำนึงถึงความปลอดภัย ปฏิบัติงานด้วยความระมัดระวัง และให้พักผ่อนอย่างเพียงพอ   ซึ่งต้องขอขอบคุณในความเสียสละของทีมอาสากู้ภัย และเจ้าหน้าที่ทุกนายที่ได้ทำหน้าที่เพื่อผู้อื่นอย่างเต็มที่ นับเป็นการกระทำที่น่ายกย่อง และแสดงออกถึงน้ำใจของคนไทยที่ทั่วโลกประทับใจ ในส่วนขอรัฐบาลได้เตรียมแผนเผชิญภัยในพื้นที่เสี่ยง และแผนฟื้นฟูในพื้นที่น้ำท่วมที่เริ่มคลี่คลาย โดยคาดว่าจะได้มีการหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารนี้ด้วย 

นายกรัฐมนตรี ยังห่วงใยสุขภาพประชาชนขอให้ดูแลตนเองและคนในครอบครัวตามคำแนะนำของ กระทรวงสาธารณสุข อย่างเคร่งครัด สำหรับโรคที่ต้องเฝ้าระวัง คือ โรคที่มากับน้ำท่วม ได้แก่ โรคฉี่หนู โรคน้ำกัดเท้า โรคตาแดง โดยเฉพาะโรคท้องร่วง  ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้แนะนำวิธีป้องกันการเกิดโรค คือ ล้างมือด้วยน้ำสะอาดกับสบู่หรือแอลกอฮอล์ทุกครั้ง หลังสัมผัสน้ำสกปรก ก่อนกินอาหารและหลังการใช้ห้องน้ำ  และดูแลตักเตือนไม่ให้เด็กเล็กเล่นน้ำที่ท่วมขัง นอกจากนี้ ต้องกินอาหารที่สะอาด ร้อน ปรุงสุกใหม่ กรณีที่ประชาชนต้องลุยน้ำออกจากบ้าน ต้องสวมรองเท้าบูทกันน้ำทุกครั้ง 

สำหรับสถานการณ์น้ำที่ จ.เชียงราย  นายกรัฐมนตรี ได้รับรายงานความคืบหน้าการกู้ระบบประปาของสถานีผลิตน้ำที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมจังหวัดเชียงราย ขณะนี้สามารถจ่ายน้ำประปาให้ประชาชนในจังหวัดเชียงรายได้ตามปกติแล้ว และจะสามารถส่งน้ำได้ในพื้นที่เขตตัวเมืองภายในเที่ยงวันนี้ เพื่อให้ประชาชนได้สามารถนำน้ำมาทำความสะอาดบ้านและชำระล้างดินและทรายได้ก่อนในลำดับแรก   เนื่องจากน้ำประปายังคงมีความขุ่นเล็กน้อย ซึ่งทาง กปภ. จะเร่งปรับปรุงคุณภาพน้ำให้ได้เกณฑ์มาตรฐานภายในวันพรุ่งนี้  (16 ก.ย. 67) ส่วนประปา สาขาแม่สาย กองบัญชาการกองทัพไทยร่วมกับกรมอุทยาน ส่งเจ้าหน้าที่เข้าช่วยแก้ไขปัญหาดินโคลนและตะกอนทรายทับถมโรงผลิตระบบผลิตน้ำประปา ให้สามารถกลับมาผลิตน้ำประปาได้ภายใน 5-7 วัน