Authority & Harm
ชาวกาฬสินธุ์ผวาน้ำชีขึ้นสูงจ่อเอ่อท่วมฝั่ง จุดก่อสร้าง7ชั่วโคตรจมมิด/สั่งเฝ้า24ชม.
“กาฬสินธุ์” แฉน้ำท่วมจุดก่อสร้าง 7ชั่วโคตรหายเกลี้ยง แม่น้ำชีกลืน ตลิ่งรับเหมาทิ้งงาน ชาวบ้านผวาซ้ำน้ำชีหนุนสูงกัดเซาะงานก่อสร้างเป็นโพรงใต้ดิน จุดก่อสร้างเสี่ยงแตก ตั้งเฝ้า 24 ชั่วโมงด้าน ปปท. เผยส่งสำนวนถึงมือ ปปช.ส่วนกลาง นานแล้วเป็นคดีทุจริตรวมหลักฐานเชือดสัญญาฉาว
ชาวบ้าน อ.กมลาไสย-อ.ฆ้องชัย ผวาฤทธิ์แม่น้ำชีหลากหนุนกัดเซาะตลิ่ง 7 ชั่วโคตร ล่าสุดกลืน เสาเข็ม กองวัสดุ หิน เนื้องานก่อสร้างงบกรมโยธาฯเกลี้ยง ด้านชาวบ้านหวั่นฝนตกซ้ำน้ำหลากกัดเซาะจุดก่อสร้างหากขาดจะเกิดน้ำท่วมใหญ่แน่ สวดยับรับเหมาทิ้งงานทำชาวบ้านลำบากหวาดผวานอนไม่หลับจนต้องแจ้งปัญหาถึงอำเภอพร้อมจัดเวรยาม 24 ชั่วโมง ขณะที่ ปปท.เผยชงเรื่องส่ง ปปช.ส่วนกลาง รับเป็นคดีทุจริต ด้าน กรมโยธาฯ เร่งรวมเอกสารความเสียหายเรียกเงินคืนแผ่นดินก่อนหาผู้รับจ้างรายใหม่ทำงานในปี 2568
กรณีปัญหางานก่อสร้าง 8 โปรเจกใหญ่ งบประมาณ 545 ล้านบาท โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ทั้งหมดมีวัตถุประสงค์เพื่อการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ครอบคลุม 3 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมืองกาฬสินธุ์ อ.ฆ้องชัย และ อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ มี คู่สัญญาระหว่าง สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นผู้ว่าจ้าง และ 2 หจก.ใหญ่ ประกอบด้วย หจก.ประชาพัฒน์ และ หจก.เฮงนำกิจ เป็น “ผู้รับจ้าง” ตามแต่ละโครงการ และทุกโครงการ ผู้รับจ้าง ไม่สามารถก่อสร้างให้แล้วเสร็จได้แม้แต่โครงการเดียว เกิดผลกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนในชุมชนเมือง และเกิดปัญหากระทบต่อสิ่งแวดล้อม สวัสดิภาพความมั่นคงต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ทำให้เศรษฐกิจในชุมชนเมืองพังเสียหายหลายร้อยล้านบาท ทำให้ เครือข่าย ปปท.ประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ และ ธรรมาภิบาลจังหวัดกาฬสินธุ์ ผู้นำชุมชนได้ลุกขึ้นมาตรวจสอบตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน 2567 ล่าสุดเกิดผลให้ กรมโยธาธิการและผังเมือง ยกเลิกสัญญาก่อสร้างทั้ง 8 โครงการกับผู้รับเหมาทั้งสองรายนี้ ซึ่งรายงานแจ้งว่า กรมโยธาฯ กำลังเร่งตรวจสอบเอกสารหลักฐานพร้อมประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการเรียกเงินคืนจากผู้รับจ้างทั้งสองรายนี้ ก่อนที่จะประกาศจัดหาผู้รับจ้างรายใหม่ เข้าก่อสร้างต่อในปี 2568 นอกจากนี้ ปปท.- ปปช.- สตง.-ดีเอสไอ เป็นหน่วยงานตรวจสอบก็กำลังดำเนินการสอบสวนเนื่องจากพฤติกรรมที่ส่อไปในทางทุจริต ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2567 ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ รายงานว่า ปัญหาความเดือดร้อนนอกจากในชุมชนเมืองกาฬสินธุ์ บริเวณรอบนอกที่มีการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งตามแนวพนังกั้นลำน้ำชีพบว่า เสาเข็มและวัสดุที่ถูกนำมากองไว้ได้ถูกอิทธิพลของน้ำในแม่น้ำชีท่วมหายไปหมด อาทิจุดก่อสร้าง เขื่อนป้องกันตลิ่งบ้านหนองหวาย-หนองคล้า ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย ความยาว 300 เมตร งบ 39,525,000 บาท ,จุดก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำชี วัดใหม่สามัคคี ต.เจ้าท่า อ.กมลาไสย ความยาว 423 เมตร งบประมาณ 59,306,000 บาท และจุดก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำชี (ระยะที่ 2) วัดลำชีศรีวนาราม ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย ความยาว 385 เมตร งบ 59,270,000 บาท ที่ในแต่ละจุดเป็นจุดที่น้ำชีเคยกัดเซาะเข้าท่วมพื้นที่ทางการเกษตรเสียหาย การที่มีน้ำหลากเข้ามาจำนวนมากจึงทำให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณดังกล่าวเกิดอาการหวาดผวา เกรงว่าหากปริมาณน้ำหลากหรือมีฝนตกหนักเข้ามาในพื้นที่จะทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมใหญ่ก็เป็นได้
นายเรียงชัย ระดาฤทธิ์ ม.13 บ.ท่าสามัคคี ต.เจ้าท่า อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า เป็นงบประมาณที่น่าเสียดายที่สุด เพราะงบประมาณนี้เกิดจากความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนมีการร้องขอผ่านไปยังผู้แทนราษฎรในพื้นที่จนมีโครงการแก้ไขปัญหานี้ขึ้นมา แต่กลับไม่สามารถก่อสร้างได้แล้วเสร็จจึงเป็นเรื่องที่ชาวบ้านวิตกว่าหากเกิดฝนกตกลงมาแล้วเกิดน้ำท่วมใหญ่ขึ้นมาใครจะรับผิดชอบ โดยเฉพาะจุดก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำชี วัดใหม่สามัคคี ต.เจ้าท่า อ.กมลาไสย ความยาว 423 เมตร ความแรงของแม่น้ำชีพุ่งสูงและบริเวณจุดก่อสร้างอยู่บริเวณวัด คาดว่าถูกกัดเซาะเข้าไปข้างในเป็นโพรงใต้น้ำทำให้พระต้องทิ้งกุฎิย้ายขึ้นไปจำวัดในกุฎิชั่วคราวหรือในโบสถ์แทน ตนได้รายงานไปยังนายอำเภอกมลาไสยพร้อมจัดเวรยามเฝ้าระวัง 24 ชั่วโมง ถึงสถานการณ์ที่ชาวบ้านวิตกกังวลและหวาดกลัวต่อสถานการณ์ เนื่องจากปริมาณน้ำหนุนสูงอาจจะทำให้เกิดรอยแตกร้าวพนังขาดน้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่ก็เป็นได้
“ตนก็จะเฝ้าติดตามข่าวการตรวจสอบขององค์กรอิสระในการติดตามงบประมาณคืนจากผู้รับจ้างทิ้งงาน ว่า กรมโยธาฯ หรือ กรมบัญชีกลาง จะสามารถเรียกเงินที่ให้ผู้รับจ้างเบิกไปได้หรือไม่ เพราะนี่คือภาษีของประชาชนที่นำมาก่อสร้าง จึงต้องชดใช้และไม่ต้องการให้ประวิงเวลาให้เกิดความล่าช้าทั้งการติดตามเรียกร้องเงินคืนรวมถึงการตรวจสอบเอาผิดหากพบว่ามีการทุจริตในทุกโครงการฯก็ควรที่จะดำเนินการตามกฏหมายให้ถึงที่สุด”
ด้านแหล่งข่าวระดับสูง ใน ปปท. เปิดเผยว่า ปัญหาก่อสร้าง 7 ชั่วโคตร ที่ จ.กาฬสินธุ์ ได้รับรายงานจากเครือข่าย ปปท.จ.กาฬสินธุ์ มาตั้งแต่มีการร้องเรียน (ระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม) และ ปปท. ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบร่วมกับเครือข่ายฯ ทราบว่าชาวบ้านได้ร้องเรียนปัญหาการก่อสร้างท่อระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ งบประมาณกว่า 148 ล้านบาท เพราะการก่อสร้างได้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่และสวัสดิภาพของประชาชน รวมถึงทำให้เศรษฐกิจพังเสียหาย จนเป็นที่แน่ชัดว่า ปัญหาการทิ้งงานและการส่อเอื้อประโยชน์ผู้รับจ้างผ่านช่องว่างทางระเบียบพัสดุ ว.1459 (กรมบัญชีกลาง) อาจจะส่อไปในทางทุจริต เนื่องจากการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จแต่มีการเบิกจ่ายเงินที่สูงกว่า 50% ของเนื้องาน อีกทั้งงบดังกล่าวต้องมี อาคารชลศาสตร์ถึง 2 แห่งในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ก็ยังไม่พบว่าจะมีการก่อสร้างที่ใด พบมีเบิกจ่ายเงินไปกว่า 80 ล้านบาท กรณีนี้ ปปท.ขอนแก่น ได้ส่งเรื่องไปยัง ปปช.ส่วนกลาง ที่ทราบว่ารับเป็นคดีทุจริตไปแล้ว ส่วน ปปช.ส่วนกลาง จะลงมาสอบสวนเอง หรือมอบให้ ปปช.ประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ ดำเนินการคงจะต้องรอติดตามเรื่อง
“แนวทางการตรวจสอบโดย ปปท. จึงเป็นการตรวจสอบติดตามผลการร้องเรียนของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบความเดือดร้อนงานก่อสร้างได้รับการแก้ไขปัญหาและรักษางบประมาณแผ่นดิน ทราบว่า ”ผู้รับจ้าง“ หรือผู้รับเหมาที่ได้รับงานจาก กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทยนั้น “ผู้รับจ้าง” มี 2 ห้างหุ้นส่วนจำกัน และเป็นเครือญาติกัน ปรากฏข้อมูลการรับจ้างมีงานก่อสร้างในพื้นที่ของเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์กว่า 148 ล้านบาท แต่ยังมีอีก 7 โครงการใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอของ จ.กาฬสินธุ์ ประกอบด้วย อ.เมืองกาฬสินธุ์ อ.ฆ้องชัย และ อ.กมลาไสย รวมทั้งสิ้น 8 โครงการใหญ่ งบประมาณกว่า 545 ล้านบาท ตามรายงานของเครือข่าย ปปท.จ.กาฬสินธุ์ ระบุว่า ทุกโครงการ มีการแอดว๊านซ์จำนวน 15% ให้เป็นทุนสำรองกับผู้รับจ้าง เมื่อมีการก่อสร้างก็เบิกจ่ายค่างวดงานตามสัญญา ได้อนุมัติให้เบิกไปแล้ว กว่า 250 ล้านบาท ตามข้อสังเกตุคิดได้ว่า การเบิกจ่ายเงินจะมีความคุ้มค่าต่องบประมาณแผ่นดินหรือไม่ เพราะในบางโครงการ “ผู้รับจ้าง” เหมือนจะยังไม่ได้ลงมือทำ พบเพียงการนำวัสดุมากองเอาไว้ ทั้งนี้ทุกโครงการ สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดกาฬสินธุ์ ทำหน้าที่เป็น“ผู้ว่าจ้าง” คือ คู่สัญญากับ “ผู้รับจ้าง”
แหล่งข่าว ปปท.ระบุว่า การที่จะก่อสร้างต่อนั้น จากการสอบถามไปยัง กรมโยธาธิการและผังเมือง คาดว่า โครงการในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ จะสามารถหาผู้รับจ้างรายใหม่ได้ในปี 2568 ซึ่งในระหว่างนี้ที่มีการยกเลิกสัญญาทั้ง 8 โครงการนั้น ด้านกรมโยธาธิการและผังเมือง กำลังดำเนินการรวบรวมเอกสาร เกี่ยวกับงานก่อสร้างทั้งหมด เพื่อพิจารณาด้านความเสียหาย โดยเฉพาะเงินแอดวานซ์ 15% รวมถึงผลงานก่อสร้างทั้งหมด เพื่อเรียกร้องไปยัง 2 หจก. “ผู้รับจ้าง”ได้ชดใช้เงินหลวง โดย กรมโยธาฯ ถือเป็นผู้เสียหายจะเป็นผู้หาหลักฐานไปเรียกร้องเงินคืน ส่วนการดำเนินคดีทุจริตนั้นจะเป็นหน้าที่ของ ปปช. ต่อไป