In Thailand
อุดรฯชี้ผู้ติดเชื้อโควิดอินเดียหาย3นอน1
อุดรธานี-โควิดอุดรฯ ผู้ติดเชื้อสายพันธุ์อินเดียหายแล้ว 3 ยังนอน รพ.1
วันที่ 1 มิถุนายน 2564 เวลา 11.00 น. นายอุเทน หาแก้ว รอง .สสจ.อุดรธานี เปิดเผยว่า สำหรับสายพันธุ์อินเดียที่พบใน จ.อุดรธานี ผู้ป่วยทั้ง 4 ราย ได้รักษาหายและกลับบ้านไปแล้ว 3 ราย นอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลกุมภวาปี 1 ราย และไม่มีอาการแทรกซ้อนทางปอด เป็นผู้ป่วยที่ต้องนอนอยู่โรงพยาบาล เพื่ออยู่ดูอาการให้ครบ 14 วัน หลังจากนั้นก็จะต้องดูแลเข้มข้นกักตัวอยู่ที่บ้านอีก 14 วัน เพราะว่าสายพันธุ์อินเดียและสายพันธุ์อังกฤษความรุนแรงจะเท่ากัน ความเร็วในการแพร่เชื้อก็ไม่น่าจะแตกต่างกันมากนัก โดยผู้ป่วยทั้ง 4 ราย รายแรก (409 ) เป็นผู้หญิง 24 ปี อ.โนนสะอาด ทำงานอยู่เขตปทุมวัน เช่าบ้านอยู่ที่หลักสี่ แจ้งวัฒนะ กทม.กลับมาอุดรธานีพร้อมกับสามี ตรวจพบเชื้อทั้งสองราย แต่แยกตรวจแยกสายพันธ์พบว่าภรรยาติดสายพันธุ์อินเดีย กลุ่มเสี่ยง 8 ราย ตรวจครั้งที่ 1 ไม่พบเชื้อ ตรวจครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ผลยังไม่ออก
สำหรับรายที่ 2 ( 413) ผู้หญิง 26 ปี อ.บ้านดุง ทำงานรับจ้างที่หลักสี่ กทม. มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 1 ราย ตรวจครั้งที่ 1 วันที่ 15 พฤษภาคม ไม่พบเชื้อ ตรวจครั้งที่ 2 ไม่พบเชื้อ ไม่มีการแพร่เชื้อไปสู่บุคคลอื่น รายที่ 3 (412) เด็กหญิง 13 ปี อ.กุดจับ ไปอยู่กับพ่อแม่ที่กรุงเทพฯ กลับมาอุดรธานี อยู่กับคุณตาคุณยาย สัมผัสเสี่ยงสูงญาติและเพื่อนบ้าน 10 ราย ตรวจพบเชื้อ 1 รายคือคุณตา อีก 9 ราย ตรวจ 2 ครั้งไม่พบเชื้อ แต่รอผลคุณยาย ผลน่าจะออกวันนี้ รายที่ 4 (449) ผู้ชาย 53 ปี อาชีพรับเหมาก่อสร้างที่หลักสี่ กทม.โดยสารรถตู้กลับมา จ.อุดรธานี พร้อมกับทีม จ.นครพนม ลงที่ จ.อุดรธานี 1 คน ก็ตรวจพบเชื้อ ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 4 ราย ตรวจ 2 ครั้งไม่พบเชื้อ ตรวจครั้งที่ 3 รอผล
รายที่ 1-3 ได้กลับบ้านไปแล้วไม่มีอาการแทรกซ้อน ไม่มีความรุนแรง ส่วนรายที่ 4 ยังนอนอยู่ รพ.กุมภวาปี ไม่มีอาการร้ายแรง ไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่ปอด สำหรับผู้ป่วยเมื่อกลับไปบ้านแล้ว จะกักตัวอย่างเข้มข้น เพื่อไม่ให้แพร่เชื้อสู่บุคคลอีก เพาะฉะนั้นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจะมีการเฝ้าระวัง มีการกักตัวอย่างเข้มงวดไม่ให้แพร่ระบาดในพื้นที่ จ.อุดรธานีอีก
ส่วนการฉีดวัคซีนรอบ แอสต้าเซเนก้า ในวันที่ 7 มิถุนายน ท่านนายกรัฐมนตรี บอกว่าได้ฉีดแน่ๆ ซึ่งจังหวัดอุดรธานี ที่ผ่านมาได้จองวัคซีนได้จำนวนมาก รองจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 246,600 โดส ซึ่งมีการโจมตีว่าอุดรธานี ได้เยอะเกินไป มากกว่าในจังหวัดส่วนกลางที่มีการแพร่ระบาด จึงได้มีการนำไปจัดสรรกันใหม่ ดูตามจำนวนผู้ป่วย ตามจำนวนประชากร จึงยังไม่แจ้งตัวเลขมาว่าอุดรธานี จะได้วัคซีน จำนวนเท่าไหร่ อยู่ในระหว่างการรอ ถึงจะมีการวางแผน
สำหรับการฉีดจะไม่เน้นการจองแบบเดิม เพราะจองลงไปเยอะๆ แต่ไม่มีวัคซีนให้ จึงต้องเอาใหม่ คือได้วัคซีนเท่าไหร่จะจัดคิวมาฉีด กลุ่มแรกที่ฉีดคือ กลุ่มผู้ป่วยสูงอายุ กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ลงทะเบียนหมอพร้อมไปก่อนหน้านี้ จะนำมาฉีดก่อน อันดับที่ 2 จะเป็นกลุ่มครู ที่จะเปิดเทอมในวันที่ 14 มิถุนายน นี้ จะฉีดให้ได้ตามแผน 15,000 คน แต่ไม่รู้ว่าวัคซีนจะได้มามากน้อยแค่ไหน อยู่ในระหว่างติดตาม ส่วนกลุ่มอื่นๆ ก็จะฉีดต่อไป ตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจนมากนัก เนื่องจากไม่มีวัคซีน ยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน
การติดเชื้อจากการเดินทางเข้ามาใน จ.อุดรธานี มีทั้งครูและนักเรียน กลุ่มเป้าหมายที่จะต้องตรวจเชิงรุก Swab 31 พ.ค. - 6มิ.ย.คือกลุ่มครู ตรวจกลุ่มเสี่ยงคือครูทุกอำเภอ ใน จ.อุดรธานี ด้วยการสุ่มตรวจเป็นบางโรงเรียน และบางพื้นที่ ที่มีความเสี่ยงและมีประวัติครู นักเรียน โรงเรียนนั้นติดเชื้อก่อนหน้านี้ หรือในหมู่บ้าน หรือชุมชนนั้น มีการติดเชื้อก็จะมีการสุ่มตรวจ และตรวจอาชีพที่เสี่ยง เช่นอาชีพพบปะผู้คน แกร๊ป เคอรี่ส่งสินค้า หน่วยราชการที่ประชาชนไปติดต่อจำนวนมาก เช่นที่ว่าการอำเภอ สถานีตำรวจ สำนักงานที่ดิน ไปรษณีย์ เพื่อให้เกิดความมั่นใจ และค้นหาผู้ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ
ส่วนวัคซีนทางเลือก มีท้องถิ่นจะช่วยเหลือสนับสนุนวัคซีน ทางจังหวัด มี อบจ.อุดรธานี และนายกเทศบาลนครอุดรธานี ที่เสนอซื้อวัคซีนมาฉีดให้ประชากรภายในเขตเทศบาลนครอุดรธานี สภาหอการค้า จ.อุดรธานี ซื้อมาฉีดให้ภาคธุรกิจ โดยซื้อวัคซีน “ซิโนฟาร์ม” จากสถาบันจุฬาภรณ์ “
นายพรหมินทร์ เค้าโคตร นักวิชาการสาธารณสุข จังหวัดอุดรธานี กลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ เปิดเผย ในวันนี้เป็นวันที่2 ในเชิงรุก ตรวจแบบ Swab ทางเดินหายใจ ในการหาเชื้อโควิด ของกลุ่มข้าราชการครูโรงเรียนเทศบาล11 ,กลุ่มสำนักงานจัดหางานและกลุ่มตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งเมื่อวานนี้ได้ตรวจข้าราชการตำรวจสภ.เมืองอุดรธานี ไป จำนวน 263 นาย ไม่มีใครติดเชื้อ โดยในวันที่ 4 มิถุนายน จะถึงนี้ จะเป็นกลุ่มครูในสังกัดเทศบาลนครอุดรธานี จำนวนหลายโรงเรียน จะมีครู700 คน ที่จะมาตรวจ ซึ่งกำลังของเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ มีความพร้อม โดยศักยภาพ สามารถตรวจได้วันละ700 คน เช่นเดียวกัน
กฤษดา จันทร์ดวง ผู้สื่อข่าว จ.อุดรธานี