EDU Research & ESG
วว.จับมือมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ขึ้นทะเบียนเครื่องหมายฉลากสีเขียว
กรุงเทพฯ-วว. จับมือ มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยขึ้นทะเบียนห้องปฏิบัติการทดสอบผลิตภัณฑ์ สำหรับการรับรองเครื่องหมายฉลากเขียว ฉลากสิ่งแวดล้อม
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจด้านการตรวจสอบวิเคราะห์และรับรองผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านคุณภาพผลิตภัณฑ์และสิ่งแวดล้อม มีระยะเวลาดำเนินงาน3 ปี โอกาสนี้ดร.จิตรา ชัยวิมล รองผู้ว่าการบริการอุตสาหกรรม วว. นางสาวฉัตรตรี ภูรัต ผอ.ฝ่ายฉลากเขียวและฉลากสิ่งแวดล้อม มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (ม.ส.ท.) ร่วมเป็นสักขีพยาน โดยมีคณะผู้บริหารและบุคลากรทั้งสองหน่วยงานร่วมเป็นเกียรติและแสดงความยินดีด้วย ในวันที่ 19 กันยายน 2567 ณ ห้องประชุม Jasper 1 ชั้น 3 โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี
ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้จะร่วมกันดำเนินงาน เพื่อขึ้นทะเบียนห้องปฏิบัติการของ วว. ที่มีความพร้อมในการทดสอบผลิตภัณฑ์ สำหรับการรับรองเครื่องหมายฉลากเขียวและฉลากสิ่งแวดล้อม ของมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย รวมทั้งการตรวจประเมินสถานประกอบการตามมาตรฐาน ISO 9001 และ ISO 14001สําหรับการรับรองเครื่องหมายฉลากเขียวและมาตรฐานอื่นๆ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวมีความสำคัญมากต่อผู้ประกอบการนอกเหนือจากความสามารถในการผลิตสินค้าที่ดีมีคุณภาพแล้ว ยังเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าการผลิตผลิตภัณฑ์ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือแนวทางตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อม รวมทั้งให้ความสำคัญและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
โดยการดำเนินงานระหว่าง วว. และมูลนิธิฯ จะช่วยกันผลักดันและส่งเสริมการรับรองผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย กระตุ้นให้กลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตหันมาเลือกใช้เทคโนโลยีสะอาดผลิตผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เพื่อส่งผลตอบแทนทางเศรษฐกิจแก่ผู้ผลิตในระยะยาวควบคู่ไปกับการป้องกันและรักษาสิ่งแวดล้อมร่วมด้วย อันจะก่อให้เกิดเศรษฐกิจสีเขียว Green Economy ที่ยั่งยืนต่อประเทศ
ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า ในปี 2567 วว. ได้เริ่ม Kick offโครงการเพื่อช่วยลดกระทบต่อสภาวะโลกร้อน โดยมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศ ด้วยการสร้างความตระหนักให้พนักงานได้รับทราบปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากสิ่งแวดล้อม รวมถึงจูงใจให้พนักงานรักษาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นทั้งที่ทำงานและที่บ้าน ผ่าน 4 โครงการหลัก ดังนี้ 1) โครงการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ระบบไฟฟ้าส่องสว่างเป็น ระบบ solar cell 2) โครงการ วว. (Like) ไร้ขยะ 3) โครงการบริหารจัดการพื้นที่การทำงาน เช่น เปลี่ยนหรือจัดการอุปกรณ์เครื่องทำความเย็นให้เหมาะสม 4) โครงการการกำหนดแนวปฏิบัติในการสร้างความตระหนักด้านการลดการใช้พลังงาน เช่น การพัฒนาระบบ e -meeting, e -document เป็นต้น ซึ่งการดำเนินโครงการดังกล่าว วว. ตั้งเป้าหมายที่จะลดก๊าซเรือนกระจกที่ปลดปล่อยจากองค์กรเท่ากับ 20 ตัน คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าในปี 2568 เพื่อให้องค์กรเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดประมาณก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย
“...วันนี้ถือเป็นวันที่สำคัญของ วว. ที่เราภูมิใจได้มีโอกาสทำงานร่วมกับหน่วยงานที่มีความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม มีบทบาทสำคัญในการนำเสนอแนะนโยบายสาธารณะด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งยุทธศาสตร์และทิศทางของประเทศด้านสิ่งแวดล้อม และยังมีบทบาทด้านการพัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรม และมาตรฐานสิ่งแวดล้อมให้เป็นที่อ้างอิงเพื่อเสริมสร้างศักยภาพภาคส่วนต่างๆ จัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งถือเป็นบทบาทสำคัญด้านการพัฒนางานด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยให้ทันต่อประเทศชั้นนำระดับโลก เชื่อมั่นว่าความตั้งใจของทั้งสองหน่วยงานในการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมครั้งนี้ จะสำเร็จในเร็ววัน เพื่อให้ประเทศไทยและโลกของเรายังคงเหลือทรัพยากรธรรมชาติที่ดีให้กับคนรุ่นหลังมีโอกาสได้ใช้อย่างรู้คุณค่าต่อไป...” ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต กล่าว
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย มีปรัชญาพื้นฐานในการทำงานมุ่งเน้นการประสานให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ เพื่อเชื่อมโยงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความสมดุล และเป็นรากฐานสำคัญสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับประเทศและระดับโลก ความร่วมมือกับ วว. ในครั้งนี้ทั้งสองหน่วยงานมุ่งมั่นตั้งใจให้การดำเนินงานประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรมในระยะเวลาอันใกล้ ภายใต้วิสัยทัศน์ของสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ในการเป็นองค์กรชั้นนำด้านสิ่งแวดล้อม ตามมาตรฐานสากลที่ยึดมั่นในความเป็นกลาง เพื่อร่วมสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน