In Thailand
กาฬสินธุ์ขับเคลื่อนโครงการลดการเผา อ้อยแก้ไขปัญหาฝุ่นPM2.5ภาคเกษตร
กาฬสินธุ์-จังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมกับบริษัทน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด และมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) บูรณากาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เดินหน้าขับเคลื่อนโครงการ Big Rock Kalasin Model ลดการเผาอ้อยอย่างยังยืน ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ นำร่องในอำเภอกุฉินารายณ์ และอำเภอนามน เพื่อสร้างต้นแบบการบริหารจัดการไร่อ้อยแบบครบจร ยกระดับผลผลิตอ้อยให้กับเกษตรกรกร และแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ภาคเกษตร
วันที่ 24 กันยายน 2567 ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ (นานม) นายสนั่น พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ นายไพฑูรย์ ประภาถะโร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มงานอ้อยในนาม บริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด และรองศาสตราจารย์จิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ร่วมกันลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการ Big Rock Kalasin Model ลดการเผาอ้อยอย่างยั่งยืน พื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ โดยมีผดุงศักดิ์ อิ่มเอิบ ปลัด จ.กาฬสินธุ์ นายอดุลย์ ครองเคหัง ผู้อำนวยการด้านอ้อยน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชน และเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยเข้าร่วมกิจกรรมอย่างพร้อมเพียง
นายอดุลย์ ครองเคหัง ผู้อำนวยการด้านอ้อยน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ กล่าวว่า สำหรับโรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ มีชาวไร่คู่สัญญา จำนวน 11,000 ราย มีพื้นที่ปลูกอ้อยทั้งหมด 326,000 ไร่ ครอบคลุม จ.กาฬสินธุ์ และจ.ร้อยเอ็ด โดยในปี 2566/67 มีปริมาณอ้อยเข้าหีบรวมทั้งสิ้น 2.8 ล้านตัน ส่งผลให้ชาวไร่มีรายได้จากการขายอ้อย 1,800 - 1,900 บาทต่อตัน มีการจ้างแรงงานในภาคการเกษตรมากกว่า 15,000 ครัวเรือน สร้างรายได้ให้กับชาวไร่อ้อยและชุมชน มีเงินหมุนเวียนมากกว่า 12,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ในปีที่ผ่านมา พบว่าเกษตรกรมีการเผาอ้อยก่อนตัดเข้าสู่โรงงาน และชาวไร่ที่ตัดอ้อยสดก็มีการเผาใบหลังตัดอ้อย ทำให้เกิดมลพิษด้านสิ่งแวดล้อม เกิดฝุ่นละออง PM 2.5 มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งทางโรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ได้เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ ดังนั้นเพื่อลดผลกระทบจากการเผาอ้อย บริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด จึงได้ ร่วมกับ จังหวัดกาฬสินธุ์ และ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ จัดทำโครงการ Big Rock Kalasin Model ลดการเผาอ้อยอย่างยั่งยืน พื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ขึ้น
โดยสอดคล้องกับนโยบายของประเทศไทย ที่ต้องการลดภาวะก๊าซเรือนกระจก และตอบสนองยุทธศาสตร์การพัฒนาของจ.กาฬสินธุ์ พร้อมทั้งสนับสนุนนโยบายภาครัฐในการแก้ไขมลพิษทางอากาศจากภาคเกษตร ด้วยการพัฒนาต้นแบบการบริหารจัดการไร่อ้อยแบบครบวงจร นำร่องในเขตพื้นที่ปลูกอ้อยอำเภอนามน และอำเภอกุฉินารายณ์ พื้นที่ประมาณ 20,000 ไร่ พร้อมทั้งสามารถขยายผลไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ในจ.กาฬสินธุ์ และจังหวัดใกล้เคียงในระดับประเทศได้
นายไพฑูรย์ ประภาถะโร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มงานอ้อย กล่าวว่า บันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ เพื่อร่วมมือในการขับเคลื่อน โครงการ Big Rock Kalasin Model ลดการเผาอ้อยอย่างยั่งยืนพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ เพื่อแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ และลดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ภาคเกษตร สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนตอบสนองยุทธศาสตร์การพัฒนาของจังหวัดร่วมกับศึกษาปัญหา และดำเนินงานวิจัย ส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยที่เข้าร่วมในโครงการนำเทคโนโลยีไปใช้ในการทำไร่อ้อย โดยไม่เผา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างยั่งยืน และสร้างต้นแบบการบริหารจัดการไร่อ้อยแบบครบวงจร โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ (มิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม) ยกระดับผลผลิตตันต่อไร่ คุณภาพอ้อย และรายได้ของเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยให้สูงขึ้น และนำโมเดลไปสู่การขยายผลในพื้นที่อื่นๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล และสนับสนุนแนวทางทางการดำเนินธุรกิจ ESC ของกลุ่มมิตรผลในด้านสังคมและสิ่งสิ่งแวดล้อม
ด้านนายสนั่น พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า บันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นการขับเคลื่อนการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ มหาวิทยาลัย ภาคเอกชน และพี่น้องชาวไร่อ้อย อย่างไรก็ตามที่สำคัญเกษตรกรชาวไร่อ้อย จะต้องให้ความร่วมมือ ในการตัดอ้อยสด ลดการเผาอ้อยเข้าสู่โรงงาน โดยนำเทคโนโลยีการจัดการไร่อ้อยแบบทันสมัยมาใช้ เพื่อเป็นการลดต้นทุนและยกระดับผลผลิตอ้อย ให้สูงขึ้น ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการตัดอ้อยสด อีกทั้งสามารถขยายผลไปสู่พี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อยรายอื่น ๆ ให้หันมาสนใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย