EDU Research & ESG
วว./พันธมิตรเสริมแกร่งเกษตรกรปทุมฯ จัดอบรมชุดบ่มเลี้ยงหัวเชื้อกลุ่มจุลินทรีย์
ปทุมธานี-ดร.โศรดา วัลภา รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการ “ชุดบ่มเลี้ยงหัวเชื้อกลุ่มจุลินทรีย์ ที่มีประสิทธิภาพย่อยสลายตอซังข้าว” จัดโดย ห้องปฏิบัติการทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพวัสดุ (BioD) ในสังกัดศูนย์พัฒนาและวิเคราะห์สมบัติของวัสดุ (MPAD)วว. ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือของ วว. จังหวัดปทุมธานี กลุ่มเกษตรกร และบริษัทอาปิโก ฟอร์จจิ้ง จำกัด (มหาชน) ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้านการเกษตรของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
โอกาสนี้ ดร.จิตรา ชัยวิมล รองผู้ว่าการบริการอุตสาหกรรมนางศศิธร ชาญประเสริฐ เกษตรจังหวัดปทุมธานี นายสุพรชัย รัตนสิทธิ์วงศ์ Plant Director บริษัทอาปิโกฯ ดร.ดวงพร อุนพานิช ผอ.MPAD นางปริยะดา วิสุทธิแพทย์ ผอ.สำนักสื่อสารองค์กร ดร.อัญชนา พัฒนสุพงษ์ ผอ.BioDนางสาวปัทมา ลิ่วเลิศมงคล ผอ.กองประชาสัมพันธ์ และคณะนักวิจัย วว. เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งประกอบด้วยการบรรยายถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับที่มาและแผนการดำเนินโครงการฯในพื้นที่ปทุมธานี วิธีการใช้งานชุดบ่มเลี้ยงหัวเชื้อกลุ่มจุลินทรีย์และการนำไปใช้ในพื้นที่ รวมทั้งกิจกรรมฝึกปฏิบัติการขยายหัวเชื้อกลุ่มจิลินทรีย์เพื่อการใช้งานในพื้นที่ ในวันที่ 24 กันยายน 2567 ณ ห้องบ่มเพาะธุรกิจ ชั้น 1อาคาร 60 ปี วว. เทคโนธานี
ทั้งนี้ วว. และพันธมิตรดังกล่าวประสบผลสำเร็จในการพัฒนา“กลุ่มจุลินทรีย์ BioD I วว. เพื่อย่อยสลายตอซังข้าว” ที่มีประสิทธิภาพเพิ่มธาตุอาหารในแปลงนาและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนโดยจุลินทรีย์มีประสิทธิภาพในการย่อยสลายตอซังและฟางข้าว ซึ่งเกษตรกรที่นำไปใช้มีความพึงพอใจ เนื่องจากใช้ระยะเวลาในการหมักเพื่อย่อยสลายสั้น จุลินทรีย์ไม่ส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตของข้าว และไม่กระทบต่อระบบนิเวศ นอกจากนี้เพื่อให้ใช้งานสะดวกและมีความยั่งยืนในการใช้จุลินทรีย์ของเกษตรกร วว. ได้คิดค้น “ถังบ่มเพาะหัวเชื้อกลุ่มจุลินทรีย์ฯ” ซึ่งเกษตรกรสามารถผลิตขยายจุลินทรีย์ได้เอง และมีจุลินทรีย์กระจายสู่เกษตรกรในชุมชนได้ทั่วถึง