EDU Research & ESG
มจธ.ตั้งโจทย์พรบ.ภาษีที่ดินคำตอบหรือ ทางตันการอนุรักษ์เสือปลา
กรุงเทพฯ-เสือปลา 1 ใน 9 สัตว์ตระกูลแมวที่พบในประเทศไทย ปัจจุบันอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธ์จากกิจกรรมของมนุษย์ ทั้งจากการล่า การบุกรุกพื้นที่รกร้าง ทำให้พื้นที่หากินและแหล่งอาหารของเสือปลาลดลง ส่งผลให้โอกาสในการขยายพันธุ์ลดลง รวมถึงเกิดภาวะเลือดชิดที่จะส่งผลต่อคุณภาพประชากรเสือปลารุ่นถัดไป นำไปสู่การสูญพันธุ์จากประเทศไทยได้ในอนาคต
จึงเป็นที่มาของการศึกษาวิจัย โครงการอนุรักษ์เสือปลาอย่างยั่งยืนในพื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศไทย ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ที่ต้องการสร้างฐานข้อมูลเสือปลาในพื้นที่ต่างๆ ทั้งการปรากฏ ขนาดประชากร การเปลี่ยนแปลงประชากร อัตราการรอดชีวิต รวมถึงภัยคุกคามของเสือปลา เพื่อนำไปสู่การกำหนดแนวทางการอนุรักษ์เสือปลาในประเทศไทยของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
ผศ. ดร. นฤมล ตันติพิษณุ นักวิจัยจากสถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มจธ. หนึ่งในผู้ทำวิจัยเรื่องนี้กล่าวว่า จากการตั้งกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ การเก็บตัวอย่างมูล และการสอบถามจากคนในพื้นที่ ในช่วงปี 2562 จนถึงปัจจุบัน บริเวณเขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และพื้นที่โดยรอบ เป็นพื้นที่ที่มีเสือปลาอาศัยอยู่มากที่สุดของประเทศ ขณะที่การเก็บข้อมูลในพื้นที่ธรรมชาติอื่นๆ ที่เคยมีการพบเสือปลามาก่อนในอดีต ทั้งในเขตชายฝั่งอ่าวไทยตอนใน ภาคตะวันออก และพื้นที่ชุ่มน้ำจังหวัดพัทลุงและสงขลา กลับพบการปรากฏตัวของเสือปลาน้อยมาก หรือบางแห่งไม่เจอเสือปลาเลย
“ในพื้นที่ตำบลพันท้ายนรสิงห์ (สมุทรสาคร) เราได้ภาพถ่ายในจุดที่คาดว่าจะเป็นที่หากินแหล่งสุดท้ายของเขา ขณะที่ไม่ได้ภาพจากทางภาคตะวันออกแต่อย่างใด แม้จะติดตั้งกล้องมาแล้วครึ่งปี สิ่งนี้สะท้อนถึงความเสี่ยงว่า พื้นที่เขาสามร้อยยอด อาจเป็นแหล่งอาศัยสุดท้ายของเสือปลาในไทย แต่นอกเหนือจากข้อสรุปในเบื้องต้นนี้แล้ว สิ่งที่น่าสนใจอีกประการคือ เราพบร่องรอยการดำรงอยู่ของเสือปลาในพื้นที่รกร้างของชาวบ้านหลายแปลง หลายพื้นที่”
ผศ. ดร. นฤมล กล่าวว่า เนื่องจากเสือปลาเป็นสัตว์ผู้ล่าที่กินสัตว์ได้หลายชนิด หากพื้นที่ใดมีแหล่งน้ำและมีอาหารของมัน สัตว์ชนิดนี้ก็จะสามารถปรับตัวและอยู่รอดได้ ซึ่งกล้องที่เข้าไปติดในสวนปาล์ม และสวนมะพร้าวเก่าที่เจ้าของปล่อยทิ้งไว้ไม่ใช้ประโยชน์หลายแห่ง สามารถเก็บภาพและยืนยันว่าเป็นถิ่นหากินและอยู่อาศัยของเสือปลาได้
“คนที่จะกำหนดทิศทางของที่ดินแปลงนั้นว่าจะปล่อยไว้หรือนำมาพัฒนาคือตัวเจ้าของที่ดิน ดังนั้น สิ่งที่เราทำได้ในตอนนี้ก็คือ หากเราพบเสือปลาอยู่ในที่ดินแปลงใด เราก็จะมีการเข้าไปพูดคุยกับเจ้าของที่ดินแต่ละราย เพื่ออธิบายให้เขาเข้าใจว่า ที่ดินของเขานั้นคือ ถิ่นอาศัยของสัตว์หลายชนิด รวมถึงเสือปลาที่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ที่มีโอกาสจะสูญพันธุ์ไปจากเมืองไทย ซึ่งจากการพูดคุยพบว่า ณ ปัจจุบันเจ้าของที่เขายังไม่มีโครงการหรือแผนในการปรับเปลี่ยนสภาพพื้นที่ไปในเชิงพาณิชย์ แต่การประกาศใช้ พรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ อาจเป็นแรงผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์ในพื้นที่รกร้างเหล่านั้นเพื่อลดภาระจากการเสียภาษีในอัตราก้าวหน้า หรือขายต่อให้กับนายทุนรายอื่น ซึ่งจะทำลายถิ่นอาศัยของสัตว์ต่างๆ รวมถึงเสือปลาที่จะต้องหายไปจากพื้นที่แห่งนั้น”
สำหรับแนวทางในการรักษาไว้ซึ่งพื้นที่อาศัยที่เหมาะกับเสือปลาในพื้นที่ของชาวบ้านหรือภาคเอกชนนั้น ผศ. ดร. นฤมล ได้ยกตัวอย่างประเทศออสเตรเลียที่มีการจ่ายเงินให้กับคนที่ครอบครองพื้นที่ซึ่งพบว่ามีความสำคัญต่อสัตว์ป่าหรือพืชพื้นถิ่น ในขณะที่สิ่งที่พอเป็นไปได้สำหรับประเทศไทยก็อาจจะอยู่ในรูปแบบของมาตรการจูงใจ เช่น การลดหย่อนหรือยกเว้นภาษี ให้กับเจ้าของที่ดินที่ยินยอมจะปล่อยพื้นที่นั้นให้เป็นพื้นที่อาศัยตามธรรมชาติของสัตว์ป่า
“ในส่วนนี้คือหน้าที่ของภาครัฐ ที่ต้องมีการประชุมหารือกันตั้งแต่ระดับกรม ไปจนถึงระดับกระทรวง เพื่อกำหนดนโยบายในการจัดการกับพื้นที่นอกเขตอนุรักษ์เพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าที่มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมพอจะจูงใจให้เจ้าของที่ดินเลือกที่จะปล่อยพื้นที่แปลงนั้น ให้สัตว์ที่สำคัญหลายชนิดสามารถอาศัยและดำรงชีวิต” ผศ. ดร. นฤมล สรุป
สำหรับการวิจัยเพื่อการอนุรักษ์เสือปลาอย่างยั่งยืนในพื้นที่ชุ่มน้ำ ของสถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มจธ. นี้ ประกอบด้วยงานวิจัยหลายโครงการที่ดำเนินการร่วมกับหลายหน่วยงานในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยในพื้นที่เขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร แพนเทอรา (Panthera) ประเทศไทย ภายใต้ชื่อโครงการอนุรักษ์และวิจัยประชากรเสือปลาในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดและพื้นที่โดยรอบ ในขณะที่โครงการการอนุรักษ์เสือปลาอย่างยั่งยืนในพื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และองค์การสวนสัตว์ เป็นการดำเนินการในพื้นที่ชุ่มน้ำอื่นๆทั่วประเทศไทย ทั้งพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยตอนใน ภาคตะวันออก และพื้นที่ชุ่มน้ำจังหวัดพัทลุงและสงขลา ซึ่งทุกโครงการล้วนมีเป้าหมายร่วมกันคือ นำไปสู่การทำให้เกิดแผนการจัดการการอนุรักษ์เสือปลาในประเทศไทยอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ