In News

นายกฯลงติดตามอุทกภัยประชุมแก้ปัญหา ตั้งศปช.ส่วนหน้า/แบ่งงานให้จบใน30วัน



เชียงราย-จิตอาสา เจ้าหน้าที่ สุดปลื้ม นายกฯ เป็นกันเอง จบงานฟื้นฟู เชียงรายรัฐบาลจัดเลี้ยงอาหารค่ำพร้อมขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุ่มเททำงานช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ ก่อหน้านี้​นายกฯ ลุยโคลนยันค่ำ อำนวยการฟื้นบ้านธนารักษ์ หลังจมนาน 17 วัน สั่งการเร่งระดมเครื่องมือช่วยเหลือเต็มกำลัง ขอให้จบในต้นเดือน และนายกฯมอบเงินเยียวยากับผู้ประสบอุทกภัยเชียงราย ย้ำ รัฐบาลไม่ทิ้งประชาชน ยืนยันเตรียมเยียวยารอบใหม่ในการประชุมคณะรัฐมนตรีอังคารนี้ และในช่วงบ่ายนายก“แพทองธาร” ลงพื้นที่ เชียงราย ประชุมส่วนราชการ ตั้ง ศปช. ส่วนหน้า เชียงรายเพื่อเป็นศูนย์สั่งการ และประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด มอบ มท. 4 เป็นประธาน บูรณาการช่วยเหลือ เยียวยา ฟื้นฟู ผู้ประสบภัย จ.เชียงรายและพื้นที่ภาคเหนือ

วันนี้ (27 กันยายน 2567)  เวลา 20.00 น. ณ ร้านอาหารท่าน้ำภูแล อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภายหลังร่วมรับประทานอาหารค่ำ เพื่อจัดเลี้ยงอาหารเจ้าหน้าที่กู้ภัย และจิตอาสา ที่เหน็ดเหนื่อยจากการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ในนามตัวแทนรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณเจ้าหน้าที่กู้ภัยและจิตอาสาที่ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ประกอบด้วย กองอาสารักษาดินแดนส่วนกลาง จำนวน 120 คน กองอาสารักษาดินแดนจังหวัดแม่ฮ่องสอน จำนวน 100 คน มูลนิธิสยามเชียงราย จำนวน 200 คนมูลนิธิแสงธรรมเชียงราย จำนวน 20 คน  ทีมงานทีมงานเชียงรายแอดเวนเจอร์  4×4  จำนวน 30 คน ชมรมจิตอาสาแทนคุณแผ่นดินจังหวัดเชียงใหม่  จำนวน 10 คน และชมรมหินหมุน + เด็กดื้อจังหวัดพิษณุโลก จำนวน 10 คน

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมีความจริงใจอยากให้แผนการดำเนินการต่าง ๆ เดินไปอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะการเยียวยา และการช่วยเหลือจากภาครัฐ ภาคเอกชน ซึ่งทุกภาคส่วน ทุกคนตั้งใจลงพื้นที่ช่วยเหลือ และดีใจที่ได้พูดคุยกับทุกคนในวันนี้ ในส่วนของรัฐบาลมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงแบ่งกันลงพื้นที่ของ เพื่อกระจายการทำงานช่วยเหลือประชาชน

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึง การกู้ภัยรวมถึงจิตอาสาต่าง ๆ ทราบว่าเหนื่อยมาก ๆ ทั้งแรงกาย แรงใจ ขอให้กินอิ่ม นอนหลับ มีแรงกาย ส่วนแรงใจรัฐบาลพร้อมจะสนับสนุนทุกอย่าง อย่างเต็มที่ ได้ทราบปัญหาแล้วว่าตรงไหนเกิดขึ้นบ้าง ซึ่งวันอังคารนี้ จะนำเรื่องช่วยเหลือเพิ่มเติมเข้า ครม.

นายกรัฐมนตรี ระบุถึงปัญหาน้ำท่วมว่า มีความทุกข์ใจ แต่ขอให้อุ่นใจว่า  รัฐบาลจะไม่ทิ้งประชาชนแน่นอน แม้ว่าขั้นตอนต่าง ๆ อาจจะเยอะ รัฐบาลจะพยามทำให้เร็วที่สุดก็ ขอส่งกำลังใจให้กับพี่น้องชาวเชียงรายทุกคน และอาสาสมัครทุกจังหวัดที่มาในวันนี้ 

นายกฯ ลุยโคลนยันค่ำ อำนวยการฟื้นบ้านธนารักษ์ หลังจมนาน17วัน

เวลา 18.00 น. ณ โครงการบ้านธนารักษ์ กองทัพบก อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ติดตามและเร่งรัดการฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากสถานการณ์อุทกภัย นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้พูดคุยทักทายให้กำลังใจชาวบ้านโครงการบ้านธนารักษ์ กองทัพบก โดยให้ความมั่นใจว่ารัฐบาลจะไม่ทอดทิ้ง เดินหน้าเร่งฟื้นฟูให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ส่วนเอกสารยื่นขอรับเงินเยียวยา ขอชาวบ้านอย่าได้เป็นกังวล หากเอกสารหาย ให้ผู้นำหมู่บ้านรับรองก็สามารถนำมายื่นขอรับเงินเยียวยาได้

จากนั้น นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะลงพื้นที่สำรวจความบ้านเรือนประชาชนที่ได้เสียหายจากดินโคลนรุกล้ำที่อยู่อาศัย ในโครงการบ้านธนารักษ์ กองทัพบก โดยผู้ประสบภัยได้ชื่นชมที่วันนี้ นายกรัฐมนตรีได้จัดตั้ง ศปช. ส่วนหน้า จึงอยากให้มีการประสานงานระหว่าง  ศปช. ส่วนหน้า และ ศปช. ชุมชน ซึ่งผู้แทนที่พักอาศัย แจ้งว่าตั้งแต่ 10 กันยายน ถึงวันนี้  17 วันแล้ว ที่ประสบภัยน้ำท่วม ดินโคลนถล่ม  ซึ่งไม่ใช่เหตุการณ์ปกติเป็นภัยพิบัติที่ไม่เกิดขึ้นก่อน ซึ่งมีเครื่องมืออุปกรณ์แต่ไม่เพียงพอ  ตรงจุดที่นายกรัฐมนตรีมาสำรวจ เป็นจุดที่ตลิ่งเริ่มพังจึงอยากเสนอให้มีระบบการแจ้งเตือนภัย (warning system) ในพื้นที่ใกล้กับตลิ่งริมน้ำ และชุมชนที่มีความเสี่ยง โดยมีการจัดประเภทพื้นที่ (classify) ให้ชัดเจน   

โดยนายกรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่และรับทราบความต้องการของผู้ประสบภัย  โดยมอบหมายและสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถอดบทเรียนเหตุการณ์ เพื่อกำหนดเป็นแนวทางป้องกันอุทกภัย วาตภัย  ต่อไป  ทั้งนี้ ตลอดที่ขบวนรถนายกรัฐมนตรีเคลื่อนผ่าน จะพบเห็นหน่วยทหารได้ออกมาให้ความช่วยเหลือ ช่วยเก็บกวาดโคลนให้กับผู้ที่อยู่อาศัยตลอดเส้นทาง 

นายกฯมอบเงินเยียวยากับผู้ประสบอุทกภัยเชียงราย 

เวลา 17.30 น. ณ หอประชุมโรงเรียนเทศบาล 6 นครเชียงราย อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีมอบเงินเยียวยาให้ประชาชนผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงรายโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยอำเภอเมืองเชียงราย จำนวน 30 ครอบครัว เป็นเงิน 1,485,000 บาท  อำเภอเทิง จำนวน 6 ครอบครัว เป็นเงิน 297,000 บาท อำเภอเวียงแก่น จำนวน 18 ครอบครัว เป็นเงิน 891,000  บาท  และมอบเงินช่วยเหลือฯ ตาม มติ ครม. เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567  ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม พร้อมมอบชุดอุปกรณ์ทำความสะอาดบ้านเรือนให้กับผู้ประสบภัย

นายจิรายุ กล่าวว่า นายกฯ กล่าวทักทายประชาชนเป็นภาษาเหนือว่า “สวัสดีเจ้า” พร้อมกล่าวว่า วันนี้มาในนามของตัวแทนรัฐบาล นำ ครม. ลงพื้นที่ให้กำลังใจพี่น้องชาวเชียงราย ซึ่งทราบว่าชาวเชียงรายเจอปัญหาน้ำท่วมหนักที่สุดในรอบหลายปี และปัญหาดินโคลนถล่มสถานการณ์หนักจริงๆ ซึ่งหากแห้งแล้วจะทำความสะอาดยาก วันนี้ได้นำสิ่งของมามอบให้ประชาชนใช้ในการทำความสะอาด พร้อมนำเครื่องมือจากกรุงเทพและจังหวัดอื่นๆ มาช่วยเหลือพี่น้องอย่างเต็ม โดยทุกภาคส่วนมาช่วยเหลือเพื่อแสดงให้รู้ว่ารัฐบาลเต็มที่ในการช่วยเหลือและเยียวยาฟื้นฟู

นายกรัฐมนตรีกล่าวให้กำลังใจชาวเชียงรายว่า  ขอให้รู้ว่ารัฐบาลเป็นกำลังใจให้ วันนี้เงินช่วยเหลือมาถึงพี่น้องประชาชนแล้ว และในวันอังคารจะมีการนำเสนอเรื่องในการประชุม ครม. เพื่อขยายความช่วยเหลือ ยืนยันจะมีการช่วยเหลืออย่างแน่นอน ทั้งนี้ รัฐบาลเร่งช่วยเหลือเยียวยาเพื่อให้ประชาชนได้กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ  เข้าใจว่า หลายๆ บ้าน ประสบปัญหาอย่างหนัก โดยเฉพาะในอำเภอแม่สาย บางคนเดือดร้อนถึงขั้นร้องไห้

”ยืนยันรัฐบาลไม่ทิ้งประชาชนอย่างแน่นอน พร้อมช่วยอย่างเต็มที่ขอให้ประชาชนมั่นใจ รัฐบาลขอเป็นกำลังใจและจะช่วยเหลือทุกอย่างพร้อมจะระดมกำลังคนมาช่วยทำความสะอาดคืนพื้นที่ให้กับประชาชนโดยเร็วที่สุด ขออย่าพึ่งท้อสู้กันต่อไป ทนอีกนิดนึง ขอให้มีกำลังใจ  ขอส่งความรักให้พี่น้องประชาชนชาวเชียงรายทุกคน“ นายกรัฐมนตรี ย้ำ

นายก“แพทองธาร” ลงพื้นที่ เชียงราย ประชุมส่วนราชการตั้ง ศปช.ส่วนหน้า

ช่วงบ่ายเมื่อเวลา 16.30 น. ณ ห้องประชุมท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษก ศปช. เผย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมบูรณาการแผนฟื้นฟูและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ หลังจากเหตุการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมด้วยรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่จังหวัดเชียงรายเข้าร่วม

นายกรัฐมนตรีกล่าวก่อนการประชุมว่า ได้ติดตามข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสั่งการกับทุกหน่วยงานให้เข้ามาช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างเร่งด่วน รวมถึงการฟื้นฟูเยียวยา และการสาธารณสุข ซึ่ง ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ช่วยกันช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ทั้งหน่วยงานปกครอง หน่วยงานความมั่นคง และอาสาสมัครจากทั่วประเทศ รวมทั้งการรับบริจาคเงิน และสิ่งของต่างๆ ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่าวันนี้ ลงพื้นที่ในนามรัฐบาล ได้มาตรวจราชการและประชุมในพื้นที่ ซึ่งในเย็นนี้จะไปให้กำลังใจ และแก้ไขปัญหาในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ส่วนวันพรุ่งนี้จะลงพื้นที่อำเภอแม่สาย และพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่

นายกรัฐมนตรีตระหนักถึงความเดือดร้อนของประชาชนจากน้ำท่วม โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ที่มีปัญหาดินโคลนถล่มสร้างความเสียหายค่อนข้างมาก ได้มอบนโยบายให้กระทรวงมหาดไทย เร่งรัดการจ่ายค่าเยียวยาให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบให้เร็วที่สุดและมอบหมายปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หารือกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง พิจารณาเพิ่มค่าเยียวยาประชาชนที่เดือดร้อนและทรัพย์สินเสียหาย ให้เหมาะสม

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึง การแก้ปัญหาดินโคลนที่ติดค้างอยู่ในบ้านเรือนของประชาชน โดยให้ระดมสรรพกำลังจากทุกภาคส่วน แบ่งขอบเขตโซนความรับผิดชอบในการทำงาน มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เคลื่อนการแก้ปัญหาให้เสร็จโดยด่วน โดยให้ส่วนราชการอื่น ๆ สนับสนุนเครื่องจักร/เครื่องมือ และอัตรากำลังคน เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาอย่างเต็มกำลัง พร้อมให้กระทรวงการคลัง ได้เตรียมดำเนินการเรื่อง Soft loan สำหรับฟื้นฟูกิจการ หรือซ่อมแซมที่พักอาศัยหลังน้ำลด วงเงินรวม 50,000 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายสำหรับกลุ่ม Micro SME ขึ้นไป รวมถึงบุคคลธรรมดา ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ได้เตรียมอุปกรณ์ทำความสะอาด และซ่อมแซม มอบให้แก่ผู้ประสบภัยเป็นจำนวนมาก รวมถึงสินค้าธงฟ้าในราคาประหยัด เพื่อให้ประชาชนสามารถซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นได้

จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้ติดตามการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและดินโคลนถล่มผ่านระบบ Video conference จากผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมรับฟังรายงานความคืบหน้าการจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยรายงาน ภายหลังรับฟังรายงานฯ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และเจ้าหน้าที่ทุกท่าน อาสาสมัคร พี่น้องประชาชนที่ช่วยแก้ไขปัญหา สถานการณ์น้ำท่วม ในแต่ละพื้นที่ และได้สั่งการต่อที่ประชุม ดังนี้

1.ให้จัดตั้ง ศปช. ปฎิบัติการส่วนหน้า เพื่อเป็นศูนย์สั่งการ และประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยให้ รมช. มหาดไทย นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ เป็นประธาน และรมช. กลาโหม พลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ เป็นที่ปรึกษา และที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ เป็นโฆษก ให้ประจำที่หน้างานเป็นเวลาอย่างน้อย 30 วัน จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย โดยให้มีการระดมพลผ่านทางกระทรวงกลาโหม และกระทรวงยุติธรรม ร่วมกับอาสาสมัคร และหน่วยงานเอกชนต่างๆ

2.การแก้ไขปัญหาในพื้นที่เขตอำเภอเมืองเชียงรายและอำเภอแม่สาย ให้ดำเนินการดังนี้
1) ให้กระทรวงมหาดไทย ให้มีการแบ่งพื้นที่รับผิดชอบ (zoning) ให้มีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และอธิบดี กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประชุมติดตามผลการดำเนินงาน และปัญหา อุปสรรค จากหัวหน้าหน่วยที่รับผิดชอบแต่ละโซนทุกวัน เพื่อรายงานไปยังศปช. สนับสนุนการดำเนินงานและแก้ไขปัญหา เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามแผน ที่วางไว้ต่อไป โดยรัฐบาลขอตั้งเป้าหมายในพื้นที่ที่ได้เริ่มเยียวยาแล้วภายในวันที่ 20 ตุลาคม 2567 นี้ ส่วนในพื้นที่อื่นๆ ขอให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จอย่างเร่งด่วน
2) ให้ทุกส่วนราชการสนับสนุนเครื่องจักร/เครื่องมือ บุคลากร ในการดำเนินงาน โดยรายงานไปที่ศูนย์ศปช. และสำเนาผู้ว่าราชการจังหวัด เชียงราย และอธิบดีกรมป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยทราบด้วย
3) หากพบว่าเครื่องจักร/เครื่องมือมีไม่เพียงพอ ให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีการจัดจ้างจากเอกชน เพื่อระดมการแก้ไขปัญหาให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยมอบหมายให้ กรมบัญชีกลาง พิจารณากระบวนการจัดจ้างให้เกิดความรวดเร็ว โดยไม่ขัดกับระเบียบที่เกี่ยวข้อง และสำนักงบประมาณสนับสนุนงบประมาณกับหน่วยงาน ดำเนินการ เพื่อแก้ไขความเดือดร้อนให้กับประชาชนต่อไป
4) การอำนวยความสะดวกเพื่อซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้างอาคารบ้านเรือน ถนน สะพาน เสาไฟฟ้า อ่างเก็บน้ำ ท่อระบายน้ำ ตลอดจนการบริหารจัดการขยะ และโคลน ให้ผ่อนผันเรื่องการเข้าใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่ป่าอนุรักษ์ และที่ราชพัสดุ ที่ส่วนราชการต่างๆใช้อยู่ เช่น พื้นที่ของกองทัพ โดยให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำเสนอประเด็นดังกล่าวต่อ คณะรัฐมนตรีต่อไป
5) ระบบเตือนภัย ให้ส่วนราชการที่รับผิดชอบในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมเร่งรัดดำเนินการ ทั้งในพื้นที่นี้ และพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศที่มีความเสี่ยง ให้แล้วเสร็จก่อนฤดูฝนปีหน้า
6) เพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาว มอบหมาย ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กระทรวงคมนาคม (กรมเจ้าท่า, กรมทางหลวง, กรมทางหลวงชนบท) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมชลประทาน) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (กรมทรัพยากรธรณี, กรมป่าไม้, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช) กระทรวงมหาดไทย (จังหวัดเชียงราย, กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย) กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ วางแผนการแก้ไข ปัญหาระยะกลาง และระยะยาว เช่น การขุดลอกแม่น้ำสายไม่ให้ตื้นเขิน พิจารณา ขยายสะพานหรือท่อระบายน้ำ เพื่อมิให้เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ การป้องกัน การพังทลายของ ตลิ่งและการจัดทำระบบเตือนภัย และสรุปผลเสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาโดยด่วนต่อไป

“การจ่ายเงินเยียวยาให้กับราษฎรที่ได้รับผลกระทบ ขอให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการเบิกจ่ายให้กับราษฎรฯ โดยเร็วที่สุด รวมถึงมาตรการเยียวยาเพิ่มเติม ที่ทุกภาคส่วนจะเร่งเสนอต่อครม. ต่อไป” นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำ