EDU Research & ESG
ข่าวดี! เอ็มโอยู.สกสค.-ธอส.จัดให้เต็มที่ ลดดอกเบี้ยพัฒนาชีวิตครูเหลือ1.71%
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ร่วมกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จัดแชมเปญใหญ่ โครงการสวัสดิการเพื่อลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ปรับลดดอกเบี้ย เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากอัตราร้อยละ 6-7 บาทต่อปี เหลือเพียง 1.71 บาทต่อปี
ที่ห้องประชุมราชวัลลภ อาคารราชวัลลภ ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.กระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการ สกสค. ดร.พีระพันธ์ เหมะรัต เลขาธิการ สำนักงาน สกสค. และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) โดยนายกมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการ ในการร่วมกันให้บริการทางวิชาการด้านการบริหาร หรือวางแผนทางการเงินและการออม เพื่อการมีบ้านตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ทางการเงิน อาทิ เงินฝาก สินเชื่อ เพื่อส่งเสริมสวัสดิการและลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยมีนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ คณะที่ปรึกษา รมว.กระทรวงศึกษาธิการ และโฆษกประจำกระทรวงศึกษาธิการ นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา และผู้บริหารจากทั้ง 2 หน่วยงาน ร่วมพิธี
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการ สกสค. ได้หารือกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ จนมีความเห็นและแนวทางร่วมกันในการจัดสวัสดิการการออม สวัสดิการผู้เกษียณอายุ และแก้ไขปัญหาหนี้สินด้วยการลดดอกเบี้ยสูงจากอัตราร้อยละ 6 - 7 บาทต่อปี เหลือ 1.71 บาทต่อปี เพื่อให้ครูมีเงินได้รายเดือนเหลือมากขึ้น จนมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ นับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ครูและบุคลากรทางการศึกษา จะได้มีสวัสดิการ รวมทั้งมีบริการผลิตภัณฑ์ด้านการเงินต่างๆ ทั้งด้านการออมและสินเชื่อที่มีคุณภาพเป็นทางเลือกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ครอบครัวครูและบุคลากรทางการศึกษา ส่งผลให้สามารถพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนของครูและนักเรียนให้ดียิ่งขึ้น
นายกมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ กล่าวว่า สกสค. และ ธอส. ร่วมมือกันให้บริการทางวิชาการด้านการบริหารหรือวางแผนทางการเงิน และการออมเพื่อการมีบ้านตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงแก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้คำปรึกษาแก้ไขปัญหาทางการเงินและกฎหมายแก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งมีภาระผูกพันกับสถาบันการเงินอื่น และมีความประสงค์ปรับโครงสร้างหนี้กับทางธนาคาร และความร่วมมือในการการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ทางการเงิน อาทิ เงินฝาก สินเชื่อเพื่อส่งเสริมสวัสดิการและลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ประกอบด้วย
1)โครงการโรงเรียนการเงิน เงินฝากประจำสะสมทรัพย์ 24 เดือน เพื่อส่งเสริมการออมอย่างยั่งยืน สม่ำเสมอ ในวงเงินตั้งแต่ 1,000 บาท ถึง 25,000 บาทต่อเดือน ในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1.7% ต่อปี เมื่อฝากครบ 24 เดือนติดต่อกันจะได้รับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มอีก 1% ตั้งแต่ต้น, 2) โครงการสวัสดิการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา Refinance In เพื่อลดค่าครองชีพจากอัตราดอกเบี้ยสูง 6 – 7 % เหลือ 1.71 % โดยให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยกับสถาบันการเงินอื่นมา Refinance ปรับโครงสร้างหนี้กับ ธอส. ซึ่งจะทำให้มีรายได้ต่อเดือนคงเหลือเพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง และ 3) โครงการสวัสดิการเกษียณสุขสำราญ Reverse Mortgage ให้ผู้เกษียณได้มีรายได้เพิ่มเป็นการช่วยเหลือค่าครองชีพ โดยให้ผู้เกษียณแล้วอายุระหว่าง 60 – 75 ปี ที่มีบ้านปลอดภาระจำนอง ได้เข้าโครงการกู้เงินในอัตราครึ่งหนึ่งของราคาประเมินทรัพย์สินแต่ไม่เกิน 10 ล้านบาท รับเงินกู้เป็นรายเดือนโดยไม่ชำระดอกเบี้ยได้ถึงอายุ 85 ปี”
ด้าน ดร. พีระพันธ์ เหมะรัต เลขาธิการ สำนักงาน สกสค. กล่าวว่า “ทั้ง 3 โครงการข้างต้นจะเป็นการลดภาระและแก้ไขปัญหาหนี้สินให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้ที่ Line OA : สกสค. “ศูนย์ปรึกษาทางการเงิน” ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ขณะที่ พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรงศึกษาธิการมีนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” เพื่อลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษาให้สามารถพัฒนาการศึกษาของชาติให้บรรลุเป้าหมาย การจัดให้มีสวัสดิการต่างๆ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูเป็นภารกิจสำคัญอย่างหนึ่ง ที่กระทรวงศึกษาธิการต้องขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยมีสำนักงานคณะกรรมการ สกสค. เป็นหน่วยงานหลักที่มีบทบาทหน้าที่สำคัญในการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ ดังนั้นการลงนามความร่วมมือ MOU ระหว่าง สกสค. กับ ธอส. จัดใหญ่ลดดอกเบี้ยเหลือ 1.71 บาทต่อปี จึงถือได้ว่าเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตครู และบุคลากรให้ดีขึ้น ที่จะเป็นการหนุนเสริมให้การพัฒนาศักยภาพการเรียนการสอน และการปฏิบัติหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพและคุณภาพมากขึ้น