EDU Research & ESG
รามาธิบดี ม.มหิดลกับระบบประเมินผล สำหรับนักศึกษาแพทย์รุ่นใหม่
กรุงเทพฯ-วันนี้ (9 ตุลาคม2567) ณ ห้องประชุม 910Bชั้น 9 อาคารเรียนและปฏิบัติการรวมด้านการแพทย์และโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานแถลงข่าว รามาธิบดีกับระบบประเมินผลสำหรับนักศึกษาแพทย์รุ่นใหม่ (Ramathibodi and the Reform of Assessment for the Next Generation Medical Students)ขึ้น เพื่อเพื่อต้องการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การปรับเปลี่ยนเกณฑ์การนำเสนอผลการเรียนการสอนในรายวิชาของหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีและสถาบันร่วมผลิตโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ในการปรับหลักสูตรและระบบการประเมินผลใหม่เริ่มใช้ในนักศึกษาที่เข้าเรียนในปีการศึกษา 2568 เป็นต้นไป โดยยกเลิกการประเมินแบบมีแต้มประจำคือ A-F หรือ เกรด 0-4 เปลี่ยนเป็นการประเมินแบบไม่มีแต้มประจำ โดยใช้สัญลักษณ์ S-Satisfactory (พอใจหรือผ่าน) /U-Unsatisfactory (ไม่พอใจหรือตก) โดยยังคงให้มีเกียรตินิยมอันดับ 1 และ 2 ตามการประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ที่หลักสูตรได้กำหนดไว้
ศ.คลินิก นพ.อาทิตย์ อังกานนท์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มีวิสัยทัศน์ที่จะเป็น “สถาบันการแพทย์ชั้นนำในระดับสากล” ในฐานะที่เป็นส่วนงานหนึ่งของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีวิสัยทัศน์ที่จะเป็น 1 ใน 100 World Class University โดยมีกลยุทธ์พันธกิจด้านการศึกษา เป็นการศึกษาที่มุ่งผลลัพธ์ของการเรียนรู้โดยมีรากฐานของวัฒนธรรมองค์กรที่สำคัญตั้งแต่เปิดดำเนินการมา ซึ่งเปิดกว้างให้อาจารย์และนักศึกษาแพทย์ แลกเปลี่ยนความคิดโดยให้เกียรติซึ่งกันและกัน อาจารย์และนักศึกษามีความใกล้ชิดเป็นกันเอง ทำให้ช่วยส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนมุ่งเน้นกระบวนการคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหา และส่งเสริมการทำประโยชน์สู่ชุมชนและสังคม โดยมีนักศึกษาแพทย์เป็นแกนหลักในกิจกรรมต่าง ๆ มาโดยตลอด หลักสูตรของแพทยศาสตรบัณฑิตได้พัฒนาจากการสร้างแพทย์ที่มีความเก่ง เชี่ยวชาญในวิชาชีพแพทย์ มีทักษะในการให้การบริบาลรักษาผู้ป่วย สร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคให้แก่ประชาชน
หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตในปัจจุบันมีการจัดการศึกษาด้วยปรัชญาการศึกษา แบบ Outcome-based Education จัดการศึกษาที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนโดยใช้การเรียนรู้เป็นศูนย์กลาง เพื่อให้ผู้เรียนสามารถสร้างเสริมความรู้ ความสามารถและทักษะใหม่ได้ด้วยตนเองและมีสมรรถนะของการเป็นแพทย์ที่มีมาตรฐานวิชาชีพและเป็น change agent ในปีการศึกษา 2568 คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ปรับระบบการประเมินผล โดยยกเลิกเกรด A-F และแต้ม 0-4 ที่เรียกว่าการประเมินแบบมีแต้มประจำ เป็นการรายงานผลการประเมินในแต่ละรายวิชาเป็น พอใจ (Satisfactory) ไม่พอใจ (Unsatisfactory) S/U หรือระบบการประเมินแบบไม่มีแต้มประจำ นักศึกษาแพทย์ที่สอบผ่านได้ตามมาตรฐานของรายวิชา ไม่ว่าจะด้วยคะแนนเท่าไหร่ จะได้รับผลการเรียนเป็น พอใจ (Satisfactory) นักศึกษาแพทย์ที่ไม่ผ่านมาตรฐานรายวิชาจะได้รับไม่พอใจ (Unsatisfactory)โดยมีเป้าหมายหลักในการปรับการประเมินผลและประเมินสมรรถนะผู้เรียนแบบใหม่นี้ เพื่อ 1)ประเมินทุกสมรรถนะของผู้เรียนในหลักสูตร Outcome-based education ได้เท่าเทียมมากขึ้นทั้งความรู้ ทักษะ เจตคติ ความเป็นผู้นำ การทำงานเป็นทีมและสมรรถนะอื่น ๆ ที่หลากหลาย2) ส่งเสริมการประเมินเพื่อการเรียนรู้และพัฒนา นอกเหนือไปจากการประเมินเพื่อตัดสิน 3) ลดเปรียบเทียบแข่งขันกัน ส่งเสริมการเรียนรู้ร่วมกัน ช่วยเหลือและทำงานเป็นทีมมากขึ้น 4) ส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเองตลอดชีวิต ร่วมกับระบบอาจารย์ที่ปรึกษา 5) ฝึกการสร้างแรงจูงใจในการเรียนโดยไม่ได้ใช้เกรดเป็นตัวกระตุ้น 6) ส่งเสริมการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับความต้องการของนักศึกษาแต่ละคน7) ส่งเสริม well-being ที่ดีขึ้น
ทั้งนี้ การปรับการประเมินผลแบบใหม่นี้ เพื่อให้คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของประเทศในการผลิตบัณฑิตแพทย์ได้แพทย์ที่มีมาตรฐานวิชาชีพและมีความรู้ความสามารถทันสมัยรอบด้าน ตรงกับความต้องการและความสามารถเฉพาะบุคล ที่อาจมีศักยภาพแตกต่างหลากหลาย ให้ได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพ เป็นแพทย์มีสุขภาวะที่ดี สร้างการเปลี่ยนแปลงสู่สุขภาวะที่ดีของสังคมโลกต่อไป
นอกจากนี้ คณะฯ ในปีพ.ศ. 2565 ได้มีการยกระดับความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กับโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา กระทรวงสาธารณสุข โดยการปรับปรุงหลักสูตรเดิมและเปลี่ยนชื่อเป็น “หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี สถาบันร่วมผลิตโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา” เพื่อมุ่งเน้นการผลิตบัณฑิตรับใช้ชุมชน และเปิดรับนักศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2566 เป็นต้นมา
ศ. นพ. สามารถ ภคกษมา รองคณบดีฝ่ายการศึกษาคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มีการรับนักศึกษาแพทย์ 2 รอบ ได้แก่ รอบรับตรง TCAS-1 ซึ่งใช้การพิจารณาแฟ้มสะสม (Portfolio) และการสัมภาษณ์ คัดเลือกนักศึกษารับเข้าหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตเรียน 6 ปี และหลักสูตร 2 ปริญญาเรียน 7 ปี ได้แก่ หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต นานาชาติ (สาขาวิศวกรรมชีวการแพทย์) และหลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิต (นานาชาติ) ปริญญาโทควบคู่ไปกับหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต และคัดเลือกผ่าน กสพท. TCAS-3 ในส่วนของหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี สถาบันร่วมผลิตโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา จะเปิดรับในรอบ TCAS-2 ซึ่งคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดกว้างในการรับนักศึกษาแพทย์อย่างมาก ทั้งจากโรงเรียนไทย นานาชาติและต่างประเทศ
จุดเด่นของหลักสูตรคณะฯอาทิ มีอาจารย์แพทย์เชี่ยวชาญหลายสาขาดูแลใกล้ชิด มีการเรียนการสอน จัดประสบการณ์เกี่ยวกับระบบสุขภาพในระดับชุมชน นักศึกษาได้ลงพื้นที่ชุมชนในชนบท นักศึกษามีผลงานวิจัยและได้รับการพัฒนาทักษะด้านการวิจัยและให้ทุนสนับสนุน สามารถนำเสนอผลงานได้ทั้งภายในและต่างประเทศมีการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น Game based learning, Metaverse ที่หลักสูตรจัดทำขึ้นเองเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เลือกเรียนในหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต นานาชาติ (วิศวกรรมชีวการแพทย์) และหลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิต นานาชาติ ควบคู่ไปกับหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต มีวิชาเลือกและกิจกรรมนอกหลักสูตรหลากหลายเพื่อพัฒนาความสามารถของผู้เรียนให้รอบด้านทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก มีระบบอาจารย์ที่ปรึกษาให้คำแนะนำ มีศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จทำประโยชน์ให้กับสังคม มีคู่ความร่วมมือทางการศึกษากับสถาบันนานาชาติเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ศึกษาวิชาเลือกได้โดยมีทุนสนับสนุน และการสภานักศึกษาแพทย์รามาธิบดีที่เข้มแข็ง นักศึกษามีส่วนร่วมในสถาบันจนได้รับรางวัลระดับนานาชาติ ASPIRE-to-Excellence 2022 Award for Student Engagement จาก Association for Medical Education in Europe (AMEE) สำหรับหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ในปี 2565มีปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือ วท.บ. (วิทยาศาสตร์การแพทย์) รองรับกรณีนักศึกษาไม่สามารถสำเร็จการศึกษาได้ตามเงื่อนไข
นพ.ณัฐกุล แย้มประเสริฐ ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านภารกิจผลิตบุคลากรและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา กล่าวว่าหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีสถาบันร่วมผลิต โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2568 เป็นหลักสูตรที่อยู่ในโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนทบท ภายใต้การลงนามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดลและกระทรวงสาธารณสุข รับนักเรียนที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตสุขภาพที่ 9 ได้แก่จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ กำลังศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายตลอดหลักสูตรในโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีจุดเด่นของหลักสูตรคือ การเรียนการสอนที่ใช้โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลศูนย์ของกระทรวงสาธารณสุขที่มีจำนวนผู้ป่วยและความหลากหลายของโรคครอบคลุมเพียงพอต่อการประกอบเวชปฏิบัติ เป็นฐานฝึกปฏิบัติในระดับชั้นคลินิก เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจภาพรวมบริบทของการให้บริการด้านสาธารณสุขของประเทศโดยเฉพาะในเขตสุขภาพที่ 9 จัดเรียนการสอนชั้นปีที่ 1 ที่มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ชั้นปีที่ 2-3 ที่สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ และชั้นปีที่ 3 ตอนปลายจนถึงปีที่ 6 ที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาและโรงพยาบาลชุมชนในเขตสุขภาพที่ 9 รับนักเรียนเข้ามาในหลักสูตรผ่านระบบ TCAS รอบที่ 2 (โควตา) โดยมีรายละเอียดคุณสมบัติของผู้สมัครตามประกาศของมหาวิทยาลัยมหิดล
ผศ. พญ. ปองทอง ปูรานิธี รองคณบดีฝ่ายการศึกษาระดับปริญญาคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าการปรับระบบการประเมินผลใหม่ มีเป้าหมายเพื่อให้นักศึกษาแพทย์ได้ฝึกฝนการมีทักษะรอบด้าน ฝึกทักษะในการเรียนรู้ด้วยตนเองต่อเนื่องตลอดชีวิตโดยไม่ต้องมีเกรด มีสุขภาวะที่ดีขึ้น ลดความเครียด และส่งเสริมการเรียนและทำงานร่วมกันเป็นทีม กระบวนการที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ เป็นหนึ่งในแผนพัฒนาระบบการประเมินผลให้มีหลักการแบบ Programmatic assessment นำมาประยุกต์ใช้ ซึ่งใช้ในสถาบันชั้นนำสากล ซึ่งริเริ่มแผนตั้งแต่ในสมัยผู้บริหารวาระที่ผ่านมา และได้ทำการพัฒนาระบบต่าง ๆอย่างต่อเนื่อง ทางคณะแพทย์ได้มีการทำประชาพิจารณ์ รับฟังความเห็นจากคณาจารย์ ผู้บริหาร นักศึกษาและบุคลากร เจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งทางคณะผู้บริหารคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มีมติรับรองการเปลี่ยนแปลงระบบประเมินผลแบบใหม่ เนื่องจากเป็นประโยชน์ในระยะยาวต่อนักศึกษาที่จะเป็นแพทย์ในอนาคต และได้รับการรับรองจากสภามหาวิทยาลัย ผ่านข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหิดลว่าด้วยการศึกษาระดับอนุปริญญาและปริญญารี พ.ศ.2567 รายละเอียดของการประเมินผลแบบใหม่ มีดังนี้
การยกเลิกเกรดA-Fหรือ 0-4 หรือแบบมีแต้มประจำ เปลี่ยนเป็นแบบ S/U จะมีผลใช้ในนักศึกษารหัส 68 ที่จะรับเข้าเริ่มการศึกษาในปี 2568 ในชั้นปี 1 และจะมีผลต่อเนื่องเมื่อนักศึกษาศึกษาในชั้นปีต่อไป ตลอดหลักสูตร 6 ปี และยังคงมีเกียรตินิยมอันดับ1และ2 โดยนักศึกษาที่มีผลการประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ 7 ด้านตลอดหลักสูตร อยู่ในเกณฑ์ดีมากจะได้รับเกียรตินิยมอันดับ 2 และ ผลการประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ 7 ด้านตลอดหลักสูตร อยู่ในเกณฑ์ดีเลิศจะได้รับเกียรตินิยมอันดับ 1 ทั้งนี้ต้องไม่มีรายวิชาใดได้ U มีระยะเวลาเรียนไม่เกินระยะเวลาเรียนปกติ สอบผ่านตามเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนด และจะต้องมีความประพฤติเหมาะสมแก่ศักดิ์ศรีแห่งปริญญาด้วย
การยกเลิกเกรด จะแยกคนที่เรียนเก่ง เรียนอ่อนได้หรือไม่อย่างไรคณะฯได้จัดทำระบบการติดตามความก้าวหน้าของนักศึกษา โดยนักศึกษาและอาจารย์ที่ปรึกษา สามารถเข้าดูความก้าวหน้าของสมรรถนะของนักศึกษาแพทย์ได้ โดยมีข้อมูลป้อนกลับที่มีรายละเอียดมากกว่าเกรดA-Fในแต่ละรายวิชา รวมทั้งรวบรวมผลงานกิจกรรมนอกหลักสูตร กิจกรรมจิตอาสา รางวัล งานวิจัยต่างๆ ซึ่งอาจารย์ที่ปรึกษาจะช่วยให้นักศึกษาฝึกสะท้อนคิดการเรียนรู้ของตนเอง และวางแผนพัฒนาตนเอง โดยอาจารย์ให้คำแนะนำ ทั้งนี้ไม่ได้ต้องการแยกคนเรียนเก่งหรืออ่อน แต่ต้องการให้นักศึกษามีแผนพัฒนาตนเองรายบุคคล เพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะบุคคลมีความแตกต่างหลากหลาย
การเปลี่ยนระบบประเมินจะมีผลต่อนักศึกษาแพทย์ในการสมัครเรียนต่อได้หรือไม่เนื่องจากคณะฯวางแผนเก็บข้อมูลผลการสอบ การประเมินสมรรถนะต่าง ๆ กิจกรรมเสริมในและนอกหลักสูตร ผลงานของนักศึกษา และวิชาที่นักศึกษาแพทย์เรียนเสริม เพิ่มศักยภาพ ข้อมูลเหล่านี้สามารถบ่งบอกตัวตน ประสบการณ์และสมรรถนะของนักศึกษาได้ โดยมีรายละเอียดที่ดีกว่าเกรด A-F จึงช่วยเป็นข้อมูลให้สถาบันฝึกอบรมสามารถพิจารณาคัดเลือกนักศึกษาต่อไปได้
หากสอบตก นักศึกษามีโอกาสสอบแก้ตัวได้ 1 ครั้งหรือตามแต่ที่ประกาศคณะฯกำหนด หากยังสอบแก้ตัวไม่ผ่าน จะได้สัญลักษณ์ U นักศึกษาจะได้รับการประเมินว่าต้องการความช่วยเหลือด้านใน ซึ่งทางคณะฯมีระบบให้ความช่วยเหลือทั้งทางด้านการศึกษาและทางจิตใจ นักศึกษาสามารถลงทะเบียนเรียนซ้ำได้อีก 2 ครั้ง หากยังได้ U อาจมีผลพ้นสภาพตามข้อบังคับมหาวิทยาลัย โดยหลักสูตรปรับปรุงปี 2568 รองรับกรณีที่นักศึกษาที่ไม่สามารถสำเร็จการศึกษาได้ตามเกณฑ์การสำเร็จการศึกษาของหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต แต่เรียนครบสอบผ่านอย่างน้อย 4 ปีตามเงื่อนไข นักศึกษาสามารถขอรับปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือ วท.บ. (วิทยาศาสตร์การแพทย์) ได้ เมื่อครบตามเงื่อนไขที่หลักสูตรกำหนดไว้ ซึ่งแตกต่างจากหลักสูตรปัจจุบัน
การประเมินผลแบบS/Uจะมีการสอบ การวัดและประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ทั้ง 7 ด้าน โดยเน้นให้ทุกการสอบมีความหมาย มีข้อมูลนำไปพัฒนาตนเองต่อได้ และให้โอกาสได้รับการพัฒนาและประเมินใหม่เป็นระยะ จำนวนครั้งในการสอบอาจไม่ได้ลดลง แต่ความเครียดจากการสอบตกจะลดลง เพราะนักศึกษาจะมีโอกาสเก็บคะแนนและสอบแก้ตัวได้มากขึ้น ลดความเครียดจากการแข่งขัน เปรียบเทียบกันเพื่อให้ได้เกรดสูงกว่าจะลดลง
นักศึกษาบางคนอาจมีความคุ้นชินจากการเรียนโดยมีเกรดมีการแข่งขันเปรียบเทียบกระตุ้นในระดับมัธยมเมื่อไม่มีเกรด สิ่งที่จะกระตุ้นให้นักศึกษาตั้งใจคือการรู้จักประเมินตนเองต่อเนื่อง วางแผนพัฒนาตนเอง โดยอาศัยข้อมูลผลการสอบหรือการประเมินที่มีรายละเอียดเพียงพอ และมีอาจารย์ที่ปรึกษาช่วยติดตาม ในระยะแรกนักศึกษาอาจจะต้องการการปรับตัวและต้องการความช่วยเหลือ แต่ในระยะยาวคาดหวังว่าจะสามารถสร้างแรงจูงใจในการเรียนได้ด้วยตนเอง สร้างทักษะที่ติดตัวไปตลอด เมื่อจบจากคณะแพทย์จะสามารถพัฒนาความรู้ ทักษะของตนเองเป็นหมอที่มีความรู้ มีทักษะรอบด้านที่ทันสมัยอยู่เสมอได้ด้วยตนเอง ในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีเกรดและการแข่งขัน
ผศ. พญ.สุธิดา สัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนแพทย์รามาธิบดี สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์กล่าวว่า สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ เปิดดำเนินการตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2560 ปัจจุบันโรงเรียนแพทย์รามาธิบดี สามารถจัดการศึกษาทั้งในระดับพรีคลินิกและคลินิก เป็นแหล่งเรียนรู้ที่เหมาะสมกับการพัฒนาศักยภาพของนักศึกษา มีอาจารย์ที่เป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์ PhD, PhD-MD และอาจารย์แพทย์สาขาต่าง ๆ ร่วมสอนในหลักสูตร ทำให้สามารถบูรณาการความรู้ในระดับวิทยาศาสตร์การแพทย์กับความรู้ทางคลินิก สถาบันฯ มีทรัพยากรการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ มีอาคารสถานที่และเทคโนโลยีทางการศึกษาที่มีความพร้อม โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์มีประเภทผู้ป่วยที่มีความหลากหลายและเหมาะสมกับการเรียนรู้ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ยังมุ่งเน้นให้เกิดงานวิจัยเชิงลึกที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน เพื่อการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่และเป็นแหล่งเรียนรู้การทำวิจัยของนักศึกษาแพทย์ สนับสนุนพันธกิจของมหาวิทยาลัย เพื่อให้มีมาตรฐานการศึกษาและการวิจัยในระดับสากล เป็น 1 ใน 100 World Class University
ในด้านการดูแลนักศึกษา คณะฯ ได้จัดให้มีระบบอาจารย์ที่ปรึกษา (Mentoring system) โดย อาจารย์ mentor จะดูแลนักศึกษาในชั้นปีเดียวกัน เป็นกลุ่มย่อย ตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 ถึงชั้นปีที่ 6 โดยมีวัตถุประสงค์ 3 ด้าน 1) Student support อาจารย์ที่ปรึกษามีบทบาทสำคัญในการเป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำแก่นักศึกษา ทั้งเรื่องการปรับตัวในชีวิตมหาวิทยาลัย การจัดการเวลา การจัดการความเครียดจากการเรียน หรือปัญหาทางด้านจิตใจ 2) Personal growth คือการส่งเสริมให้นักศึกษาพัฒนาตัวเองในด้านต่าง ๆ เป็นการเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต ทั้งในด้านการพัฒนาทักษะการสื่อสาร การจัดการตนเอง และการปรับตัวให้เข้ากับสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยมุ่งเน้นที่การสร้างความสามารถในการตัดสินใจและแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง เพื่อให้นักศึกษามีความพร้อมในด้านการทำงานและการใช้ชีวิตหลังจบการศึกษา3) Professional identity formation เป็นอีกบทบาทที่สำคัญของอาจารย์ที่ปรึกษาคือการสนับสนุนการสร้างอัตลักษณ์ทางวิชาชีพ (Professional Identity Formation) ทั้งทักษะด้านวิชาชีพ การพัฒนาค่านิยม ความเชื่อ และทัศนคติที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพ ช่วยให้นักศึกษาเข้าใจบทบาทและความรับผิดชอบของตนในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม รวมถึงการกำหนดเป้าหมายและทิศทางในการพัฒนาตนเองในสายงาน อาจารย์ที่ปรึกษามีบทบาทในการกระตุ้นให้นักศึกษาสำรวจและทบทวนแนวคิดและค่านิยมทางวิชาชีพ รวมทั้งสนับสนุนให้ปฏิบัติตนตามหลักจริยธรรมและจรรยาบรรณในวิชาชีพ
นักศึกษาแพทย์เวธินี สืบนุการณ์ ชั้นปีที่ 6 และ นักศึกษาแพทย์เสกสรร ยอดสนิท ชั้นปีที่ 4 ผู้แทนสภานักศึกษาแพทย์รามาธิบดี กล่าวว่าการประเมินผลแบบไม่มีแต้มประจำช่วยลดความเครียดจากการสอบ และทำให้เกิดแรงจูงใจในการเรียนรู้จากตนเอง ทำให้ใช้เวลาเรียนรู้และเข้าใจภาวะของผู้ป่วยได้อย่างลึกซี้งเป็นองค์รวมมากขึ้น สภานักศึกษาแพทย์มีส่วนสำคัญในการพัฒนาหลักสูตร การเรียนการสอน การประเมินผล และกิจกรรมนอกหลักสูตรมาโดยตลอด นักศึกษาแพทย์มีผลงานระดับชาติและนานาชาติมากมาย และได้รับรางวัลระดับนานาชาติ ASPIRE-to-Excellence 2022 Award for Student Engagement จาก Association for Medical Education in Europe (AMEE) เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ของการมีส่วนร่วมของนักศึกษาที่เข้มแข็ง และนักศึกษาแพทย์รามาธิบดีมีความเป็น Change agent ผู้ผลักดันให้เกิดการพัฒนาเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับนโยบายและกิจกรรมต่างๆ ภายในและภายนอกคณะฯ