Authority & Harm
ภาค8ตรวจความพร้อมกับศูนย์ปฏิบัติการ ช่วยผู้ประสบภัย-วิเคราะห์สถานการณ์
ชุมพร-เมื่อเวลา 08.00 น.วันที่ 11 ตุลาคม 2567 ที่บริเวณหน้าสถานีตำรวจภูธรหลังสวน อ.หลังสวน จ.ชุมพร พล.ต.ต.วิมล พิทักษ์บูรพา รอง ผบช.ภ.8 ได้เป็นประธานในพิธีตรวจความพร้อมหน่วยในสังกัด ภ.8 ในการเตรียมพร้อมศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยและวิเคราะห์ภารกิจตามสถานการณ์ในพื้นที่ โดยมี พ.ต.อ.จิตเกษม สนขำรอง ผบก.รรท.รอง ผบก.ภ.จว.ชุมพร,พ.ต.อ.นิรันดร์ กันจูรอง ผบก.ภ.จว.ชุมพร,พ.ต.อ.ฉลาด พลนาการ ผกก.สภ.หลังสวน,พ.ต.อ.มนต์ศักดิ์ ศรีสุวรรณ์ผกก.สภ.พะโต๊ะ,พ.ต.อ.วิษณุ สุระวดีผกก.สภ.สวี และข้าราชการตำรวจ เข้าร่วม จำนวน 95 นาย
พล.ต.ต.วิมล พิทักษ์บูรพา รอง ผบช.ภ.8 เปิดเผยว่า สืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่10 ต.ค.2567 ที่ผ่านมา ทาง กองพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งเตือนว่า ระหว่างวันที่ 9-15 ตุลาคม 2567 สภาวะอากาศฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ ฝนฟ้าคะนอง คลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน จำนวน 7 จังหวัด ประกอบด้วย ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่ ซึ่งเป็นพื้นที่รับผิดชอบ ภ.8ให้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก และฝนที่ตกสะสม อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพนันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะที่ลาดเชิงเขา ใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทย หลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ตลอดช่วงเวลา อุณหภูมิ เมฆ ฝน ลม และคลื่น ภาคใต้ฝั่งตะวันตกและตะวันออก
พล.ต.ต.วิมล พิทักษ์บูรพา รอง ผบช.ภ.8กล่าวว่า ทาง พล.ต.ท.สุรพงษ์ ถนอมจิตร ผบช.ภ.8 ได้ให้ความสำคัญและเป็นห่วงหากเกิดภัยพิบัติขึ้น จึงมอบหมายให้ตนเองลงตรวจและการเตรียมความพร้อมของ ทุกสถานีตำรวจในสังกัด ภ.8 ให้ติดตามพยากรณ์อากาศ และการแจ้งเตือนสภาวะอากาศฝนฟ้าคะนองจาก กรมอุตุนิยมวิทยา และ ศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัย อย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมรับสถานการณ์อุทกภัย พร้อมแจ้งเตือนและตรวจสอบข้าราชการตำรวจในสังกัด ให้ขนย้ายทรัพย์สิน อุปกรณ์ สิ่งของจำเป็นของใช้ส่วนตัวและครอบครัว ให้อยู่ในสถานที่ปลอดภัย พร้อมปฏิบัติภารกิจ ดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงการอำนวยความสะดวกด้านการจราจรในพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย
พล.ต.ต.วิมล พิทักษ์บูรพา รอง ผบช.ภ.8กล่าวอีกว่า โดยกำชับให้แต่ละพื้นที่ ร่วมปฏิบัติและเข้าประชุมกับศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ วิเคราะห์ภารกิจตามสถานการณ์ ให้เป็นไปตามขีดความสามารถของกำลังพล ให้สอดคล้องกับยานพาหนะ อุปกรณ์ประจำกาย ที่สามารถให้การช่วยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยใช้พละกำลังมาก ควรสับเปลี่ยนกำลังพลบ่อยๆ โดยผู้บังคับบัญชา จะต้องร่วมการปฏิบัติอย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจ และที่สำคัญ กำชับให้ซักซ้อม ตรวจสอบ การแต่งกายและยานพาหนะและอุปกรณ์ เพื่อพร้อมในการปฏิบัติในภารกิจดังกล่าว