Think In Truth

ชำแหละผลจากสังคมก้มหน้า...ตอนที่2 (Just Look Up) โดย : ฅนข่าว 2499



เป็นที่ทราบทราบกันดีว่าปัจจุบันโลกเราอยู่ใน ยุคสังคมก้มหน้า ตามองจอ ไม่ว่ามองไปทางไหน ก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนถึงพฤติกรรมการเสพติดสมาร์ทโฟนไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ทำอะไร ก็จะก้มหน้าก้มตาจิ้มๆ เขี่ยๆ บนสมาร์ทโฟนในมือ จนบางครั้งก็ลืมคน ลืมสิ่งแวดล้อมรอบข้างไปเลยก็มี

ในยุคสมัยที่มีแต่ความเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม และเทคโนโลยีหรือโซเชียลมิเดียกำลังเข้ามามีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของคนในปัจจุบัน และคาดว่าในอนาคตโซเชียลมีเดีย จะมีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อย ๆ ย่อมส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมแบบไลฟ์สไตล์ หรือแม้กระทั่งความคิดของผู้คน จนนำไปสู่การประกอบสร้างตัวตนผ่านโซเชียลมีเดีย

ทั้งนี้ อันเนื่องมาจากเทคโนโลยีที่รุดหน้าอย่างก้าวกระโดดในทุกวันนี้ ทำให้มนุษย์เรามีความสะดวกสบายขึ้นเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการพัฒนาของเทคโนโลยีการสื่อสาร ทำให้สมาร์ทโฟนหรือแท็ปเล็ต การมาเป็นอุปกรณ์พื้นฐานที่คนส่วนใหญ่มีไว้เพื่อติดต่อกันร่วมถึงติดตามข่าวสาร เมื่อเราสามารถพึ่งพาอุปกรณ์สุดไฮเทคนี้ได้มากขึ้น จึงทำให้เกิดผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในประเทศต่างๆทั่วโลก ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ปรากฏการเสพติดการสื่อสารออนไลน์

ถ้าว่ากันตามข้อเท็จจริงแล้วเทคโนโลยีถือว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์และมีอิทธิพลกับสังคมในปัจจุบันเป็นอย่างมาก สามารถแลกเปลี่ยนความรู้หรือสิ่งที่สนใจร่วมกันได้หรืออาจจะใช้เพื่อการโฆษณา เอื้อต่อการประกอบธุรกิจยิ่งในปัจจุบันคนส่วนมากนิยมใช้เทคโนโลยีเพื่อคลายเครียดและติดต่อกับเพื่อนที่อยู่ไกลกัน

ภาพที่เห็นจนชินตา ก็คือ เด็กวัยรุ่ยไทยเล่นโทรศัพท์ตลอดเวลา แม้กระทั่งในขณะรับประทานอาหาร หรือเดินข้ามถนน ทำให้ขาดการสื่อสารกับบุคคลรอบข้าง สมาร์ทโฟนจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต แม้แต่พ่อแม่ยังไลน์ตามลูกจากบนบ้านลงมาทานข้าวทั้งๆที่อยู่ใกล้กันนิดเดียว  

จริงอยู่ที่เทคโนโลยีสามารถอำนวยความสะดวก แต่ทุกสิ่งย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสีย จากกรณีล่าสุดที่กรมการปกครองถึงขั้นห้ามไม่ให้บุคลากรใช้โปรแกรมโซเซียล เนื่องจากกรมการปกครองได้รับแจ้งว่ามีบุคลากรภาครัฐบางรายใช้คอมพิวเตอร์หรือเครื่องมือสื่อสารเข้าข่ายความผิดทางอาญา หรือกรณีที่คนร้ายตระเวนฟันแขน ทำร้ายร่างกาย โดยเลือกเหยื่อที่ถือโทรศัพท์ราคาแพง

ดังนั้นหากใช้เทคโนโลยีมากเกินไป ก็สามารถส่งผลเสียให้แก่ผู้ใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านประสิทธิภาพในการทำงาน การเรียน สุขภาพ และความปลอดภัย การเสพติดเครื่องมือสื่อสารหรือเเม้เเต่ปัญหาอาชญากรรมที่เคยเกิดจากการใช้เทคโนโลยีที่ผิดๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้พฤติกรรมของมนุษย์เปลี่ยนไป โดยเฉพาะสมัยนี้เด็กประถมก็ยังใช้สมาร์ทโฟนด้วยวัยที่ยังไม่มีวุฒิภาวะหรือเลียนแบบคนใกล้ตัวได้ง่าย ทำให้เด็กตกเป็นทาสของเทคโนโลยี

รศ.ดร. กาญจนา แก้วเทพ อาจารย์ประจำภาควิชาสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุในหนังสือแนวพินิจใหม่ในสื่อสารศึกษาไว้ว่า กระแสโลกาภิวัตน์ทำให้วัฒนธรรมท้องถิ่นเปลี่ยนไปเป็นวัฒนธรรมเดียวเกิดการผสมผสานวัฒนธรรมจนทำให้เกิดการเลียนแบบ และกลายเป็น หมู่บ้านโลกที่เทคโนโลยีก้าวหน้าจนเกิดช่องทางการสื่อสารของสื่อ ทำให้สามารถกระจายสื่อได้อย่างรวดเร็วและกว้างไกล เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถสัมผัสรับรู้เรื่องราว ภาพ และเหตุการณ์ในเวลาเดียวกันทั่วโลก  

ภณสุทธิ์ สุทธิประการ อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความเห็นถึงข้อดีของเทคโนโลยีว่า ตัวสมาร์ทโฟนก็เป็นหนึ่งอุปกรณ์เสริมศักยภาพในการทำงานของคนที่ใช้ในการติดต่อสื่อสาร เนื่องจากโทรศัพท์ในสมัยก่อนใช้ได้เพียงโทรหากัน หรือส่งข้อความสั้นๆ แต่เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น เครื่องมือสื่อสารสามารถตอบสนองแนวความคิด ที่นอกเหนือจากตัวหนังสือได้ทันที ทำให้ปัจจุบันสมาร์ทโฟนกลายเป็นคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กที่สามารถใช้ค้นคว้าข้อมูล ดูหนัง ฟังเพลง หรือใช้ในการบริหารงานผ่านวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ จนแพร่หลายกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่

ในขณะเดียวกันก็มีบางคนที่ไม่พร้อมใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ จึงทำให้เกิดภาวะชะงักเทคโนโลยี หรือภาวะช็อคเทคโนโลยี ซึ่งแต่ก่อนสมาร์ทโฟนถูกมองว่าเป็นสิ่งที่วัดระดับทางสังคม การศึกษา คนที่มีฐานะเท่านั้นถึงจะมีสิทธิ์ใช้งาน แต่ในความเป็นจริงสมาร์ทโฟนไม่ได้ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อแบ่งชนชั้นทางสังคม ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกกรณี ทั้งพื้นที่ชายแดนที่การติดต่อสื่อสารลำบาก เมื่อนำเทคโนโลยีมาใช้ก็สามารถเชื่อมต่อคนสองคนจากต่างพื้นที่ได้ จึงช่วยย่นระยะเวลาและการเดินทาง  

ทั้งนี้ถึงแม้ว่าสมาร์ทโฟนเป็นเครื่องมือที่ช่วยอำนวยความสะดวก แต่ผู้ใช้ก็ควรตระหนักถึงการใช้งาน  ควรนำไปใช้ในทางที่ก่อให้เกิดประโยชน์ หรือใช้เท่าที่จำเป็น เพื่อไม่ให้เทคโนโลยีเข้ามาครอบงำ เเละเเก้ปัญหาการเสพติดเทคโนโลยี (ที่มา : See more at: http://www.jr-rsu.net/article/1361#sthash.sr4xg9Xq.dpuf)

ปรากฏการณ์แห่งความห่างเหิน

ถ้าจะว่าไปแล้วในสังคมก้มหน้ามันก็มีส่วนดีเหมือนกัน คือ อาจสร้างความสะดวกในการสื่อสาร สามารถส่งได้ทั้งภาพและเสียง อีกทั้งประหยัดไม่ต้องเสียค่าโทรศัพท์ส่วนผลเสียอาจมีมากหมายหลายเรื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ยังไม่มีวุฒิภาวะ หากผู้ปกครองไม่ชี้แนะหรือควบคุมการใช้งานอย่างจริงจัง ก็จะส่งผลกระทบทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต อาจเป็นนิสัยแบบเสพตลอดไป

นอกจากนี้แล้วในส่วนของผู้ใหญ่ก็มีผลกระทบเช่นกัน ซึ่งหากผู้ใช้อยู่ในโลกส่วนตัวมากเกินไป ไม่สนใจสิ่งรอบข้างหรือขาดความระมัดระวัง ก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาอุบัติเหตุหรือจราจรเพิ่มขึ้น

นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า แอพพลิเคชั่นไลน์ที่เด็กนิยมเล่นกันนั้น บางคนเล่นทุกวัน จนทำให้เด็กสูญเสียการใช้ชีวิตประจำวันที่ควรจะเป็น เช่นเรื่องสัมพันธภาพ การวางตัว ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นพัฒนาการที่สำคัญของวัยรุ่น และการเล่นจนติดเป็นนิสัยนั้น จะทำให้เด็กมีพฤติกรรมที่แข็งกระด้าง

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดี กรมสุขภาพจิต ให้ความรู้ว่า สถานการณ์ที่เราเห็นร่วมกันในขณะนี้ความจริงแล้วมีการคาดการณ์กันมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว ตั้งแต่เริ่มมีเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนเข้ามาว่าพอไปถึงจุดหนึ่งคนจะอยู่กับเทคโนโลยีที่ตอบสนองตัวเราเองมากขึ้นและสามารถทำอะไรได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเรื่องการติดต่อสื่อสาร ซึ่งจะเป็นส่วนที่ทำให้ดึงความสนใจให้เราไปอยู่ที่หน้าจอโทรศัพท์ และตามมาด้วยคำที่ใช้กันว่าสังคมก้มหน้าเพราะว่าตัวหน้าจอโทรศัพท์ทำให้เราต้องก้มลงไปดูอย่างไม่มีทางเลือก

พฤติกรรมแบบนี้หากไปดูในหลายประเทศอาจจะเคยเห็นสิ่งนี้มาก่อน อย่างเช่น ในประ เทศญี่ปุ่นเพราะไม่อนุญาตให้เปิดเสียงโทรศัพท์เวลาอยู่ในรถสาธารณะ จึงเห็นว่าคนญี่ปุ่นเวลาขึ้นรถไฟสาธารณะหรือรถรางต่างๆ จะเปลี่ยนมาใช้เป็นระบบแชตในการสื่อสารแทน ทำให้ไม่มีเสียงโทรศัพท์และไม่มีการรับโทรศัพท์บนรถสาธารณะ ภาพคนญี่ปุ่นก้มหน้าอยู่กับอุปกรณ์สื่อสารของตัวเองจึงมีให้เห็นอยู่บ่อย ๆ ส่วนในประเทศไทยยังมีผสมกันอยู่ทั้งรับสายโทรศัพท์และก้มหน้าอยู่กับหน้าจอมือถือในพื้นที่สาธารณะ

อย่างไรก็ตามในประเทศไทยส่วนมากสามารถเห็นปรากฏการณ์สังคมก้มหน้าได้บนรถไฟฟ้าและในปัจจุบันสามารถเห็นได้ในที่สาธารณะทุกแห่ง เช่น ร้านอาหาร จะเห็นว่าเมื่อสั่งอาหารเสร็จแล้วต่างคนก็ต่างก้มหน้าอยู่บนจอมือถือของตัวเองอย่างอัตโนมัติ ซึ่งหากมองในแง่ดีก็มี เช่น ประเทศญี่ปุ่นสาเหตุที่ไม่ให้ใช้โทรศัพท์บนรถไฟเพราะจะได้ไม่มีเสียงที่รบกวนออกมา หรืออีกข้อดีระบบที่สื่อสารกันเป็นระหว่างคน 2 คน ไม่เหมือนการพูดคุยโทรศัพท์ในที่สาธารณะที่คนอื่นจะได้ยินว่าเราคุยอะไรกัน

นอกจากนี้ยังเป็นการสื่อสารที่ทำให้คนเราเริ่มค้นพบมุมที่เป็นความสนใจของตัวเองที่เมื่อก่อนอาจจะไม่มีพื้นที่มาก แต่ตอนนี้เริ่มเห็นมีการรวมตัวกัน เช่น คนที่ชอบภาพสีน้ำเหมือนกันก็มีการส่งความสนใจให้กันและกันและขยายวงกว้างมากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มของวัยรุ่นจะเห็นการสร้างผลงานของวัยรุ่นและเยาวชน เป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่เราเห็นเรื่องดี ๆ เช่น วัยรุ่นคนหนึ่งระดมเพื่อทำให้เกิดเงินทุนเข้ามา เหมือนกับน้องคนหนึ่งที่ทำให้กับตำรวจตระเวนชายแดน

ถามว่าถ้าเป็นเมื่อก่อนก็คงทำได้ไม่ง่าย แต่ว่าตอนนี้คนที่ก้มหน้าอยู่บนจอโทรศัพท์มือถือทำให้ช่วงเวลาสั้น ๆ มีการกระจายหรือขยายสิ่งที่คนเรามีความสนใจบางอย่างได้อย่างรวดเร็วและเข้าไปถึงสิ่งสนใจได้ในวงกว้างมากขึ้น ถ้ามองในมุมนี้จะเห็นว่าหากเด็กและเยาวชนรู้จักใช้เพื่อการเรียนรู้ ซึ่งพบว่าอุปกรณ์เหล่านี้บางทีเป็นการส่งเสริมสร้างการเรียนรู้บางอย่าง เพราะการเรียนบนกระดานดำอย่างเดียวอาจจะไม่ตอบโจทย์ของตัววัยรุ่นเอง แต่สิ่งนี้อาจจะใช้เป็นการเรียนรู้ใหม่ ๆ ขณะเดียวกันก็สร้างความเป็นตัวตนของวัยรุ่น เช่น ความสนใจ ความชอบ และผลงานที่ทำถูกส่งต่อและมีผู้คนรับรู้ จึงตอบโจทย์วัยรุ่นทางจิตวิทยาได้ดีว่ามีกลุ่มคนที่สนใจ ไม่ใช่เฉพาะแค่เรา แต่ยังมีคนอื่น ๆ ที่ชื่นชมในความสามารถและมีการรวมกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน

ผลบวกทั้งหมดที่กล่าวมามีประเด็น 2 ส่วนที่เป็นผลทำให้มีผลกระทบทันที คือ

1. เรื่องการใช้เวลากับสิ่งเหล่านี้ แม้สิ่งที่เราทำจะเป็นประโยชน์ ถ้าก้มหน้าได้อย่างเดียวแต่เงยหน้าขึ้นมาไม่ได้เลย ในแง่การใช้เวลากับมันมากเกินไปจนเริ่มรบกวนสิ่งที่เรียกว่า การทำหน้าที่ปกติ เช่น ถึงเวลาต้องรับประทานอาหาร แต่รู้สึกว่าไม่กินก็ได้ หรือถึงเวลาต้องนอนก็ไม่นอน ซึ่งความจริงแล้วมันไม่ได้ อีกอย่างต้องยอมรับว่าการสื่อสารผ่านอุปกรณ์เหล่านี้ไม่ทดแทนการพูดคุยแบบเผชิญหน้ากัน ไม่ใช่แปลว่าเรามีเพื่อนมากมายอยู่ใน Facebook หรือใน Line แต่ในความเป็นจริงหากเราไปไหนแล้วไม่มีคนคุยด้วยหรือคุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง ไม่มีเพื่อนในสังคมจริง ไม่ได้แปลว่าคุณมีเพื่อน เพราะว่าทักษะทางสังคมที่เรียกว่า “Face to face” การมองหน้าหรือสบตากัน การมีจังหวะในการพูดคุย บางคนเสียไปเลย เช่น เวลาจะพูดกับคนอื่นรู้สึกประหม่า หรือว่าไม่เข้าหาคนอื่น หรือวางตัวไม่ถูก หรือว่าภาษาเป็นปัญหา เพราะภาษาที่ใช้ในโซเชียลเน็ตเวิร์กไม่ค่อยปกติ  ยิ่งถึงเวลาเป็นเรื่องของทางการมักเริ่มมีปัญหาว่าจะพูดภาษาที่เป็นทางการอย่างไร

2. โทรศัพท์มือถือนับเป็นของเล่นอย่างหนึ่งเพื่อผ่อนคลาย ถ้าใช้มันเพื่อความบันเทิงอย่างเดียวไม่ได้ใช้ประโยชน์เพื่อการเรียนรู้อื่นใดเลย มันจะเริ่มเสียของเพราะระบบช่วยให้เราสื่อสารเพื่อความเข้าใจกันได้ แต่ถ้าในนั้นมีแต่เรื่องไม่เป็นสาระ จึงทำให้หมดเวลาไปมากและไม่ได้เกิดการเรียนรู้อะไรที่เป็นประโยชน์เลย หรือยิ่งเข้าไปในพื้นที่ที่ไม่เหมาะก็อาจทำให้เรากลายเป็นกลุ่มเป้าหมายที่จะมีคนเข้ามาเพื่อพยายามใช้ประโยชน์หรือทำอะไรที่ไม่ดี เป็นการเปิดพื้นที่ให้กับคนที่ไม่รู้จักวัตถุประสงค์เข้ามาและกลุ่มเหล่านี้มักจะมีทักษะของการที่จะจับได้ว่าเรามีอารมณ์อย่างไรเพื่อแทรกเข้ามาตรงอารมณ์ที่อ่อนไหวและหาประโยชน์ ทำให้มีผลทางลบบางอย่างตามมา

การสังเกตว่าตัวเราหรือคนรอบข้างติดอุปกรณ์เหล่านี้ หลัก ๆ อาจดูจากเรื่องของการจัดการเวลาว่า หากถึงเวลาที่ต้องทำอะไรสามารถทำได้ตามปกติหรือไม่ ไม่มีภาวะอารมณ์เข้ามา ซึ่งบางคนรู้สึกหงุดหงิด หรืออีกเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องสมาธิที่สังเกตตัวเองง่าย ๆ ว่าถึงเวลาที่ต้องทำกิจวัตรประจำวันอย่างอื่นรู้สึกเสียสมาธิหรือไม่ เช่น วางอุปกรณ์ไปได้สักพักรู้สึกสิ่งที่กำลังทำอยู่ตรงหน้าเริ่มเสียสมาธิ เพราะอยากจะกลับมาเล่นอุปกรณ์สื่อสารต่อ อาการแบบนี้เป็นสัญญาณเตือนของคนกลุ่มหนึ่งที่เพิ่งเริ่มเป็นหรือยังเป็นน้อยอยู่

กลุ่มที่ 2 คือไม่อยากทำอย่างอื่น ไม่อยากออกไปมีปฏิสัมพันธ์กับใคร ไม่อยากสนใจอะไรทั้งนั้น เริ่มกระทบต่อการทำหน้าที่ของตัวเอง เช่น ต้องกินก็ไม่สนใจกิน หรือกินไปเล่นไป หรือรีบ ๆ กินเพื่อจะได้ไปเล่น หรือเคยไปเล่นกีฬาก็ไม่อยากไป เพราะคิดว่าเสียเวลา ผลกระทบเริ่มรุนแรงขึ้นถ้ามีการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ ซึ่งมีการศึกษามาว่าถ้าเริ่มมีอารมณ์เสีย หงุดหงิดเวลาไม่ได้เล่น ใครมาขัดคอ แปลว่ากำลังจะข้ามไปสเต็ป3 แล้ว เพราะเริ่มโมโหที่มีคนมาขัดขวาง ซึ่งกลุ่มนี้มักมีกลุ่มคนอาการติดเกมรวมอยู่ด้วย หากมีแค่การเล่นแอพพลิเคชั่น Line อาจจะไม่ถึงขนาดนั้น

หากใครที่เริ่มรู้สึกว่าตัวเองมีอาการตั้งแต่กลุ่มที่ 1-3 ต้องลดการใช้โทรศัพท์มือถือลง เช่น บางคนที่ไม่ได้มีอะไรเร่งด่วนอยู่ในบ้านควรวางโทรศัพท์มือถือลงบ้าง อย่าไปจ้องดูมันมาก หรือในต่างประเทศเองเริ่มมีโปรแกรมท่องเที่ยวที่มีการนัดกันไปพักผ่อนแบบครอบครัวและไม่พกพาอุปกรณ์สื่อสารไปด้วย หรือปิดสัญญาณอินเทอร์เน็ต แต่ว่าเรายังสามารถรับสายได้ และเริ่มมีคำแนะนำว่าในช่วงเวลากลางคืนให้ปิดโทรศัพท์ เพราะดีต่อสุขภาพ บางคนตื่นเช้ามาค่อยเปิดโทรศัพท์ ซึ่งถ้าเราหยุดบ้างก็จะดีต่อสุขภาพและเริ่มมีความคุ้นชินใหม่ ๆ ว่าไม่ใช้โทรศัพท์มือถือบ้างก็มีเรื่องอื่น ๆ ให้ทำเหมือนกัน

สำหรับใครที่มีการติดรุนแรงมาก แนะนำว่าต้องจัดเวลาตัวเองใหม่ จำกัดเรื่องการใช้โทรศัพท์มือถือลงและกำหนดให้ชัดเจนว่าในช่วงนี้ของวันจะเป็นช่วงที่ไม่จำเป็นไม่ต้องเข้าเล่นเกมหรือแชต รวมทั้งดึงความสนใจของตัวเองออกไปให้มีกิจกรรมอื่นเข้ามา เพราะไม่เช่นนั้นจะรู้สึกว่าเกมเป็นแหล่งเดียวที่ให้ความเพลิดเพลินและอยากกลับไปเล่นอีก จึงต้องมีกิจกรรมอย่างอื่นเข้ามาทดแทนที่ทำให้เรารู้ว่ามันก็ให้ความเพลิด เพลินเหมือนกันไม่จำเป็นต้องผ่อนคลายตัวเองกับการเล่นเกมเพียงอย่างเดียว

ส่วนในประเทศเกาหลีมีปัญหาในสังคมผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก ซึ่งประเทศไทยเราก็กำลังจะค่อยเริ่มเป็น ดังนั้นครอบครัวต้องระวังมากหน่อย ถ้าลูกติดเล่นพ่อก็ติดด้วยแถมสนับสนุนลูกอีก เวลาแม่จะห้ามลูกพ่อก็ขัดขวาง หรือบางครอบครัวแม่ก็ติดเล่นสลับกัน ซึ่งประเทศไทยเรามีโอกาสจะเกิดภาพนี้ได้ หากบ้านไหนที่ยังไม่เป็นหรือกำลังจะก้าวไปสู่จุดนั้นซึ่งไม่จำเป็นเฉพาะเด็ก ผู้ใหญ่ก็อาจติดก้มหน้าจนละเลยในเรื่องอื่น ๆ ไปโดยเฉพาะเรื่องในครอบครัว ให้ลองสังเกตตัวเองถึงสัญญาณเตือนต่าง ๆ ที่แนะนำไปข้างต้น และเริ่มกำหนดตัวเองและครอบครัว เช่น ตกลงกันไว้ว่าในช่วงเช้าวันอาทิตย์จะทำกิจกรรมร่วมกันและปิดมือถือของทุกคนเพื่อให้มีพื้นที่ของครอบครัวหรือจะตกลงกันว่าถ้าออกไปกินข้าวนอกบ้านต้องไม่เอาโทรศัพท์มือถือไป เพราะมันจะเป็นจุดเริ่มต้นของการแทรกแซงเวลาของครอบครัว

การพูดคุยแบบเผชิญหน้ากันในครอบครัวนับเป็นเรื่องสำคัญ หากปล่อยไปแสดงว่ายอมให้เวลาของครอบครัวถูกแทรกแซง เพราะเวลานั้นเราไม่ได้คุยกับคนในครอบครัวแต่กำลังคุยกับคนอื่นซึ่งเวลาครอบครัวก็ไม่ได้มีมากอยู่แล้วในชีวิตปัจจุบัน ฉะนั้นการที่ไปกินข้าวร่วมกันหรือการทำกิจกรรมที่เป็นเวลาของครอบครัวต้องระมัดระวังโดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่ต้องตั้งหลักให้ได้ก่อน หรือถ้ามีใครคนใดคนหนึ่งในสมาชิกติดต้องช่วยกัน และขอแนะนำว่าอย่าใช้วิธีหงุดหงิดใส่กัน เพราะวิธีนี้เป็นวิธีที่พบว่าเป็นทางลบมากที่สุดและมักแก้ปัญหาไม่ได้ควรจะพูดคุยกัน และดึงออกมาจากสิ่งที่กำลังทำอยู่ให้มามีเวลาอย่างอื่นที่รู้สึกว่าผ่อนคลายลง เหมือนกับการเตือนกันนิด ๆ หากจำเป็นก็ควรหาที่ปรึกษาเพื่อทำให้เราไม่เครียดมากเกินไป ได้แก่ สายด่วนสุขภาพจิตหมายเลข 1323 ที่บริการ 24 ชั่วโมงทั่วประเทศ

โทรศัพท์มือถือเป็นการเรียนรู้ที่เปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตของคนไปตามช่วงเวลา ทุกอย่างที่เปลี่ยนแปลงมีทั้งด้านที่เป็นประโยชน์และด้านที่อาจจะส่งผลกระทบ จึงต้องระมัดระวังผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้ การดูแลหรือควบคุมตัวเองได้ถือว่าดีที่สุดไม่ต้องให้ใครมากำกับหรือออกกฎระเบียบ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ต้องใช้เพื่อพัฒนาทักษะ เพราะต่อไปต้องอยู่กับเทคโนโลยีนี้จึงต้องเรียนรู้ที่จะใช้งานและควบคุมมันให้ได้อย่าให้เทคโนโลยีมาควบคุมเรา

สิ่งสำคัญ 2 ประการที่พ่อแม่ควรคำนึงถึง

ข้อที่ 1    การที่เด็กเล่นอุปกรณ์สื่อสารเพราะพ่อแม่ซื้อให้ อาจเป็นความจำเป็นบางอย่างที่ต้องซื้อให้ เช่น เพื่อใช้ติดต่อสื่อสารกัน ซึ่งการเลือกซื้อโทรศัพท์ให้ลูกไม่จำเป็นต้องเป็นรุ่นราคาแพง หรือไม่ได้อยู่ที่กระเป๋าเงินของพ่อแม่ แต่อยู่ที่ว่าเราจะฝึกลูกอย่างไร ซึ่งมีการแนะนำว่าให้เด็กเห็นจากด้านที่เป็นประโยชน์ก่อนเสมอว่าใช้เพื่อการสื่อสารกันก่อน เช่น เพื่อนัดเจอกัน และการเล่นเกมในเครื่องจริง ๆ แล้วมีกลุ่มเกมที่เป็นประโยชน์ต่อเด็ก เราเองควรมีส่วนร่วมกับลูกด้วย ซึ่งจะทำให้ลูกเห็นว่าพ่อแม่ไม่ได้เข้าไปห้ามอย่างเด็ดขาด เพราะมีทั้งส่วนที่ส่งเสริมถ้าลูกใช้มันเพื่อการเรียนรู้อย่างพอเหมาะพอดี ก็จะไม่ตึงมากเกินไป ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยไม่ทำอะไรจนกระทั่งมีปัญหาพ่อแม่ลุกขึ้นมาอาละวาดซึ่งเป็นปัญหาที่พบบ่อย แต่ไม่เป็นการแก้ปัญหา

ข้อที่ 2    บางทีเด็กก็เพลินมากเกินไปซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น เช่น ติดงอมแงม พ่อแม่ต้องรีบเข้าไปดูแล แต่อย่าดุด่าจนทะเลาะกัน ไม่เช่นนั้นจะทำให้เด็กหลบไปแอบเล่นไม่ให้เห็น แต่ขอให้ตั้งต้นด้วยการคุยกันหรือกำกับ เพราะเด็กก็มีบางทีที่จะเผลอไปบ้าง ถ้าเราเข้าไปด้วยท่าทีที่บอกให้ลูกรู้ว่ามันเริ่มกระทบกับเรื่องอื่นแล้ว พ่อแม่จึงต้องเข้ามาเตือนถ้าลูกกลับไปดูแลตัวเองได้ดีพ่อแม่ก็จะไม่เข้าไปวุ่นวาย ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญจะทำให้เด็กไม่ข้ามไปจุดที่เราเรียกว่าเป็นการติด อาจจะเล่นเยอะไปบ้างเป็นบางช่วง แต่เด็กก็จะสามารถกลับมาปฏิบัติตัวเองได้ดีแบบสบาย ๆ เล่นก็ได้ไม่เล่นก็ได้ ดังนั้นอย่าปล่อยไปจนถึงขั้นติด เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้อารมณ์เด็กเริ่มมีปัญหาและจะพูดคุยกันยากขึ้น

ปรากฏการณ์ “Just Look Up”เงยหน้าคุยกับโลกหน่อย

ปรากฏการณ์ โซเชียลมีเดียซึ่งกำลังกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนทั้งโลก วันนี้กำลังเจอกับแรงต้านอย่างน้อยจากคนที่ต้องการจะมีเพื่อนตัวเป็นๆ มากกว่าเพียงแค่เพื่อนออนไลน์จนกระทั่งคลิปวีดิโอชิ้นหนึ่งที่กำลังแพร่อยู่ในแวดวงสื่อสังคมขณะนี้ น่าสนใจเป็นพิเศษ ชื่อหัวข้อว่า “Just Look Up” (เงยหน้าขึ้นมาบ้างเพื่อนเอ๋ย)ซึ่งเป็นคำร้องขอของหนุ่มคนหนึ่ง ที่บอกว่า แม้เขาจะมีเพื่อนทาง social media 422 คน แต่ผมก็ยังโดดเดี่ยว

เขาบอกว่า ผมพูดคุยกับพวกเขาทุกวัน แต่กระนั้นก็ไม่มีใครสักคนที่รู้จักผม

เขาบอกว่า เราเปิดจอคอมพิวเตอร์ขึ้นมา บอกตัวเองว่านี่คือสังคมแต่ความจริงเรากำลังปิดประตูของการสื่อสารกันและกัน

เขาบอกว่า   คนยุคดิจิทัล ได้กลายเป็นทาสของเทคโนโลยี และเราทุกคนได้กลายเป็นเหยื่อของระบบทุนนิยมเทคโนโลยี ที่จับให้ทุกคนเข้ากรงขังเดียวกันหมด ไม่มีความรู้สึกผูกพันส่วนตัว ไม่มีความเป็นเพื่อน พี่น้อง ญาติมิตร พ่อแม่ และคนมักคุ้นที่สามารถพบปะสังสรรค์และเฮฮากันได้จริงๆ เหมือนแต่ก่อน

เพราะว่า ต่างคนต่างง่วนอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือมือถือเท่านั้น ไม่มีใครเงยหน้ามาสนทนา ถามไถ่ และแลกเปลี่ยนความรู้สึกเหมือนอย่างเคย

เขาบอกว่า ขึ้นรถใต้ดิน ผู้คนหนาแน่น แต่บรรยากาศเงียบงัน เพราะว่าไม่มีใครพูดกับใคร ทุกคนก้มหน้าก้มตากดโทรศัพท์มือถือ ประหนึ่งว่าไม่มีมนุษย์คนอื่นยืนหรือนั่งอยู่ข้างๆ เลยไม่มีใครเงยหน้ามายิ้มให้กัน แลกเปลี่ยนทักทายและมองตากันอย่างเพื่อนร่วมสังคม

เหมือนมีเพื่อนอยู่ใน Line Group แต่ไม่มีปฏิสัมพันธ์กันจริงๆ เมื่อเจอะเจอกัน“เดี๋ยวนี้คนไม่มองตากัน ไม่สัมผัสความรู้สึกกัน ไม่ทักทายกันซึ่งๆ หน้า เด็กยุคนี้มีความเป็นอยู่เหมือนหุ่นยนต์ ส่งสารผ่าน apps และเริ่มจะกลัวการต้องเจอตัวจริงๆ ของคนที่ติดต่อกันทางออนไลน์”

เขาถามว่า  คุณจะเป็นคุณพ่อหรือคุณแม่ที่แท้จริงได้อย่างไร ถ้าหากไม่สามารถสื่อสารกับลูกได้โดยไม่ต้องมี iPadเป็นภาพที่น่าวิตกอย่างยิ่ง เมื่อสนามเด็กเล่นไม่มีเด็กวิ่งไล่จับ ไม่มีเสียงหยอกล้อ หัวเราะ และชิงช้าเด็กๆ ว่างเปล่า เพราะว่าเยาวชนนั่งเล่นเกมอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์หรือก้มหน้าอยู่กับสมาร์ทโฟน

Smart phone จะมีประโยชน์อะไร ถ้ามันผลิต Dumb peopleอุปกรณ์ฉลาดสุดๆ แต่คนเริ่มโง่ลงทุกวัน กระนั้นหรืออัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เคยทำนายไว้ก่อนที่จะมีเทคโนโลยีสื่อสารอย่างทุกวันนี้ด้วยซ้ำไปว่า ถ้าคนสามารถสร้างอุปกรณ์ที่เก่งกาจสามารถทำได้ทุกอย่าง ระดับความฉลาดเฉลียวของมนุษย์ก็จะเริ่มเสื่อมถอย กลายเป็น Generation of Idiots เพราะว่า จะมีแต่ Smart phones กับ Dumb people

ไม่ต้องคิด ไม่ต้องวิเคราะห์ และไม่ต้องสื่อสารสัมพันธ์กับมนุษย์ร่วมโลกคนอื่นวันๆ ก้มหน้าก้มตาอยู่กับคอมพิวเตอร์ หรือมือถือ และนึกว่านั่นคือชีวิตจริงๆ ของตนเขาจึงเรียกร้องว่า

"So, look up from your phone. Shut down the display. Take in your surroundings. Make the most of the day. Just one real connection. It’s all that can take to show you the difference..."

หากคุณใช้เวลาส่วนใหญ่ก้มหน้าดูจอคอมพ์ หรือมือถือ คุณไม่รู้ว่าคุณพลาดอะไรไปบ้างในความเคลื่อนไหวรอบๆ ตัวคุณ

และตอนจบของคลิปนี้ กลายเป็นเรื่อง anti-climax มากๆ เพราะว่า หนุ่มคนที่เรียกร้องให้ทุกคน Just Look Up จากมือถือของตัวเองและสนทนากับผู้คนรอบๆ ตัวนั้น ก็ยอมรับว่า“ผมก็ผิดด้วย เพราะว่า ผมก็ใช้การสื่อสารผ่านระบบดิจิทัลนี้กับท่าน...ดังนั้น ขอให้หยุดดูวีดิโอคลิปของผมชิ้นนี้ และเริ่มใช้ชีวิตจริงๆ ของคุณเสียที”

วันนี้...คุณเงยหน้ามองตาคนรอบตัวคุณหรือยังหรือมันช้าไปเสียแล้วอย่ากลายเป็น “สังคมก้มหน้า” กันนักเลย

ปรากฏการณ์“The Missing Voice”น้ำเสียงที่หายไป

“อยากได้ยินเสียงเธอจัง”

ข้อความสั้นๆในไลน์จากหญิงสาวคนหนึ่ง ทำเอาผมต้องผละมือออกจากสมาร์ทโฟน และอดคิดกับตัวเองไม่ได้ว่า “นั่นน่ะสิ... ทำไมเราถึงไม่ใช้น้ำเสียงพูดคุยกัน” ก้มลงสำรวจตัวเองและคนรอบข้าง จึงทำให้ผมสามารถปะติดปะต่อได้คร่าวๆว่า…เพราะยุคสมัยที่ผันผ่านไป ทำให้เราเสพติด ‘ความโรแมนติกของระยะห่าง’ เช่นกันกับที่เราเคยเห็นความสวยงามของความเหงา นั่นเอง

‘MSN’ เหมือนเป็นช่องทางการสื่อสารแรกๆ ที่ทำให้ใครหลายคนรู้จักการ Chat ยุคที่เปลี่ยนจากการโทรคุยมาเป็นพิมพ์คุย…จึงทำให้ดูส่วนตัวมากขึ้น สิ่งที่เราบรรจงประดิษฐ์อักษรพิมพ์คุยกันก็ถูกบันทึกเอาไว้ได้ด้วยเช่นกัน ทักไปไม่ว่าง…เราก็ไม่ต้องตอบ ว่างๆค่อยมาตอบก็ยังได้ ไม่ดูเป็นการรบกวนเหมือนการโทรที่จะต้องหยุดทุกกิจกรรมเพื่อมานั่งคุยกัน…

แต่ MSN ก็ยังมีข้อจำกัดตรงที่…ไอ่คนที่เราจะคุยด้วยต้องมานั่งหน้าคอมฯพร้อมๆกัน บางทีจะจีบใครก็ต้องไหว้วานเพื่อนที่ขยันออนทั้งวัน คอยเป็นหูเป็นตาให้เราว่าคนๆนั้นออนแล้วหรือยัง? พอออนปุ๊ป! เราก็รีบเปิดคอมฯเด้งออนไลน์ตามเข้ามาติดๆ อย่างไรก็ตาม MSN ก็คงยังไม่เพียงพอที่จะเบ็ดเสร็จนำพาไปถึงขั้นเจอกันได้ ยังไงก็ต้องมีการโทรนัดกัน โทรถามกัน…ถึงวันที่จะออกเดทอยู่ดี

ทุกวันนี้เราสามารถแชทได้ทุกที่ไม่ว่าจะอยู่ส่วนใดของโลก หรือทำอะไรอยู่ก็ตาม เมื่อมีคนทักมาเราก็สามารถตอบกลับไปได้อย่างฉับไว ทุกอย่างดูจะสะดวกสบายไปเสียเกือบหมด บางรายการนัดเจอกันอาจไม่ต้องพึ่งการโทรอีกเลย จนบางครั้งเราหลงลืมบางสิ่งบางอย่างที่เคยคลาสสิคไป สิ่งที่ถูกกลืนหายไปกับกาลเวลาของยุคนี้ คือ ‘น้ำเสียง’

พิพิธภัณฑ์เสียง…พิพิธภัณฑ์ ‘ของหาย’

‘น้ำเสียง‘ เป็นตัวส่งผ่านความรู้สึก และถ้อยคำที่ดีที่สุด น้ำเสียงในทุกวันนี้ถูกแสดงผ่านอีโมชั่น หรือ สติ๊กเกอร์บ้าๆบอๆ…ที่บางทีก็ไม่รู้ว่า ไอคนส่งมันจะรู้สึกอย่างนั้นจริงไหม หรือแค่กดไปกดมาอย่างงั้น เพราะโหลดฟรี! และอยากเล่น! ยิ่งไปกว่านั้นการหยอกล้อกัน การแซวกัน ถ้าขาดซึ่งน้ำเสียง อาจหลงหูหลงตาเข้าใจผิด นึกว่าชวนตีชวนตบกันเลยทีเดียว ที่ร้ายกาจที่สุดคือ…การแชทสามารถทำได้ทีละหลายๆคน เพราะมีช่วงเวลาที่รออีกฝ่ายตอบกลับ จึงสามารถไปคุยกับคนอื่นๆได้ ทำให้เราดูแลเทคแคร์ และให้คำปรึกษากับใครๆได้อีกหลายต่อหลายคนในเวลาเดียวกัน และบางครั้งมันก็กัดกินเวลาของเรา…เวลาที่จะคุยกับคนที่อยู่ตรงหน้าก็เริ่มลดลง

ระยะห่างนำมาซึ่งความโรแมนติก และบางทีการไปถึงคือการทำลายความสวยงามนั้นในตัวมันเอง ดังเช่น การมองดวงจันทร์แสงนวลบนพื้นโลก กับการไปถึงดวงจันทร์แล้วเห็นพื้นผิวขรุขระ…

เดี๋ยวนี้, เรากลับไปคุย ไปแคร์ กับคนที่อยู่ไกลมากกว่าคนที่กำลังนั่งรออยู่ตรงหน้าเสียอีก เราสบตากับหน้าจอ มากกว่า ‘ดวงตา’ ที่กำลังมองมาที่เรา เราหัวเราะชอบใจกับสติ๊กเกอร์ของใครต่อใคร มากกว่า…มุขตลกของคนฝั่งตรงข้าม

ขอให้ความสะดวกสบายของเทคโนโลยีนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ทำให้ ‘การทำความรู้จักกัน’ นั้นง่ายขึ้น แต่ก็ต้องไม่ลืมความสำคัญของ ‘น้ำเสียง’ และการเติมเต็มด้วย ‘การกระทำ’ เมื่อยามพบปะ สิ่งเหล่านี้จะช่วยทะลายกำแพงแห่งความรู้สึก ทำให้คนสองคนเปิดใจ และหลอมรวมเข้าไว้ด้วยกัน เมื่อนั้นแล้ว…อะไรก็ฉุดไม่อยู่!

อนึ่ง, เหนือกว่าการแชท คือ การโทร…เหนือกว่าการโทร คือ การได้มองตากัน

ที่มา : นิตยสาร Mellow Magazine

ภาพปก : Credit : msan10