Authority & Harm

ทัพเรือภาคที่2บุกจับกุมเรือขนสินค้าบุหรี่ นำเข้าผิดกฎหมายชายแดนใต้



สงขลา-เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2567 เวลา 1300 พลเรือโท นเรศ  วงศ์ตระกูล ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 2 แถลงข่าวการจับกุมเรือขนสินค้าบุหรี่ผิดผิดกฎหมาย รายละเอียดการแถลงข่าว ทัพเรือภาคที่ 2 ได้รับแจ้งเบาะแสจากแหล่งข่าวของกรมข่าวทหารเรือ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค ๒ และแหล่งข่าวของทัพเรือภาคที่ 2 ในพื้นที่ว่ามีเรือลักลอบขนสินค้าที่ไม่ผ่านพิธีการทางศุลกากรพื้นที่ด้านใต้ 

พลเรือโท นเรศ  วงศ์ตระกูล ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 2 ได้สั่งการให้ เรือหลวงแหลมสิงห์ ลาดตระเวนพิสูจน์ทราบ โดยในวันที่ 21 ตุลาคม 2567 เวลา 1030 เรือหลวงแหลมสิงห์ ได้เข้าทำการตรวจสอบเรือที่มีพฤติกรรมต้องสงสัย ชื่อ เดอะวัน 3 บริเวณ แลตติจูด 6 องศา 22.45 ลิปดาเหนือ ลองจิจูด 102 องศา 4.8 ลิปดาตะวันออก (แบริ่ง 355 ระยะ 8.6 ไมล์ จากปากแม่น้ำโกลก จว.นราธิวาส) หรือ บริเวณทิศเหนือ ระยะ 15  กิโลเมตร จากปากแม่น้ำโกลก ห่างจากชายฝั่งอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส 10 กิโลเมตร ซึ่งทำการบรรทุกบุหรี่ จำนวน 1,050 ลัง แต่ได้ตรวจพบ จำนวนเพียง 505 ลัง ขาดไป จำนวน 545 ลัง  ตรวจสอบเอกสารการออกเรือบันทึกว่ามีผู้ควบคุมเรือพร้อมลูกเรือสัญชาติไทย จำนวน ๓ นาย แต่จากการตรวจสอบพบว่า มีลูกเรือพร้อมลูกเรือ จำนวน 2 นาย โดยผู้ควบคุมเรือแจ้งว่าลูกเรืออีก 1 นาย ได้ขอขึ้นฝั่งเนื่องจากมีอาการปวดฟัน และจากการตรวจสอบเอกสารไม่พบสัญญาจ้างของลูกเรือทั้ง 3 นาย อีกทั้งขณะเข้าตรวจพบโดยละเอียดได้พบลูกเรือเพิ่มอีก 1 นาย ซุกซ่อนตัวอยู่ในห้องเครื่อง ทั้งนี้ได้ตรวจสอบพบว่ามีบัตรประจำตัวต่างด้าว แต่ไม่มีเอกสารรายชื่อในใบแจ้งออกเรือ 

การดำเนินคดีกับเรือบรรทุกสินค้าเดอะวัน ๓ เนื่องจากเป็นการจับกุมในพื้นที่เขตน่านน้ำภายในจึงได้ตั้งข้อกล่าวหาผู้กระทำความผิดไว้ 5 ข้อหา ดังนี้

1. ความผิดฐานไม่มีสัญญาจ้างเก็บรักษาไว้ในเรือ (ตาม พ.ร.บ.เดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2446 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 258 ประกอบ มาตรา 290 )
2. ความผิดฐานไม่จัดให้มีข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือเป็นหนังสือไว้ในเรือ (พ.ร.บ.แรงงานในทะเล พ.ศ.2558 มาตรา 43 ประกอบ มาตรา 110)
๓. ความผิดฐานเคลื่อนย้ายของออกจากยานพาหนะโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานศุลกากร (พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 242)
4. ความผิดฐานผู้ใดแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ โดยเป็นธุระจัดหา ซื้อ ขาย จำหน่าย พา มาจากหรือส่งไปยังที่ใด หน่วงเหนี่ยวกักขัง จัดให้อยู่อาศัย หรือรับไว้ซึ่งบุคคลใด ใช้อำนาจโดยมิชอบ มาตรา 6 (1) ความผิดฐานผู้ใดกระทำดังต่อไปนี้ ระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ โดยสนับสนุนการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ มาตรา 7 (1) ความผิดฐานผู้ใดตระเตรียมเพื่อกระทำความผิดตามมาตรา 6 ระวางโทษ 1 ใน 3 ของโทษที่กำหนดไว้ในความผิดนั้น มาตรา 8 ประกอบ มาตรา 5 (พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551)
5ความผิดฐานเป็นคนต่างด้าวไม่เดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร ตามช่องทางด่านตรวจคนเข้าเมือง เขตท่า สถานี หรือท้องที่และตามกำหนดเวลาที่ประกาศโดยฝ่าฝืนกฎหมาย (พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 11 ประกอบ มาตรา 62) 

สำหรับการจับกุมเรือลักลอบขนสินค้าที่ไม่ผ่านพิธีการทางศุลกากร ในพื้นที่ทัพเรือภาคที่ 2 ในปีงบประมาณ 2568 ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2567 จนถึงปัจจุบัน มีการจับกุม จำนวน 1 ครั้ง เรือของกลาง 1 ลำ ผู้ควบคุมเรือพร้อมลูกเรือ จำนวน 4 คน ทั้งนี้การปฏิบัติดังกล่าว เป็นไปตามนโยบายผู้บัญชาการทหารเรือ ปี ๒๕๖๘ โดยร่วมกับ กรมข่าวทหารเรือ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 2 ในการประสานการปฏิบัติ ตั้งแต่ด้านการข่าว และจัดกำลังทางเรือ และอากาศนาวี ลาดตระเวน เฝ้าตรวจ และคุ้มครองผลประโยชน์ของชาติทางทะเลอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นย้ำการรุกล้ำน่านน้ำไทยของเรือประมงต่างชาติ เพื่อเข้ามาทำการประมงโดยผิดกฎหมาย จนประสบความสำเร็จในการจับกุมในครั้งนี้

ท้ายนี้ ทัพเรือภาคที่ ๒2และ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 2 ขอขอบคุณพี่น้องชาวประมง ในความร่วมมือที่ได้แจ้งเบาะแสของเรือที่กระทำความผิด และขอให้ความมั่นใจกับพี่น้องประชาชนและชาวประมงไทยว่า “ในพื้นที่รับผิดชอบของทัพเรือภาคที่ 2 ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ ๑๑๓,๒๗๕ ตารางกิโลเมตร นั้น เราจะปกป้อง และรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลอย่างเต็มความสามารถ โดยมิยอมให้เรือประมงต่างชาติรุกล้ำเข้ามาแย่งชิงทรัพยากรในการทำการประมงเป็นอันขาด ทั้งนี้เพื่อให้ทรัพยากรของประเทศไทย คงอยู่กับลูกหลานของคนไทยตลอดไป

ซัมซูดิน/รายงาน