Authority & Harm

แขวงทางหลวงแปดริ้วชี้สะพานบางปะกง ปลอดภัย/รอเงินประกันภัยค่อยซ่อม



ฉะเชิงเทรา-แขวงทางหลวงฉะเชิงเทรายัน สะพานคู่ขนานข้ามแม่น้ำบางปะกงไป จ.ชลบุรี ปลอดภัย ส่วนการสำรวจความเสียหายเพื่อซ่อมแซม ยังต้องรอผู้เชี่ยวชาญมาทำการวิเคราะห์โดยละเอียด เพื่อเช็คบิลเอาผิดทางแพ่งจากทางบริษัทประกันภัยของเรือที่พุ่งชน

วันที่ 22 ต.ค.67 เวลา 15.00 น. ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยถึงความคืบหน้าในการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงและความเสียหาย กรณีเรือลากจูงบรรทุกสินค้าพุ่งชนสะพานเทพหัสดิน ในพื้นที่ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา จากนายทศพร พยูรวงศ์ รอง ผอ.ฝ่ายวิศวกรรมแขวงทางหลวงฉะเชิงเทรา ว่า จากการตรวจสอบเสาตอม่อของสะพานเทพหัสดิน ข้ามแม่น้ำบางปะกง ทางหลวงหมายเลข 34 จุดที่เกิดเหตุนั้นไม่ใช่ช่องทางหลักเป็นสะพานข้ามแม่น้ำช่องทางคู่ขนานจากบางปะกงมุ่งหน้าไป จ.ชลบุรี 

ซึ่งเดิมเป็นสะพานที่เปิดให้ประชาชนใช้ข้ามไปยัง จ.ชลบุรีได้ 3 ช่องทางจราจร ระหว่างหลัก กม.ที่ 50+500 เรือได้ทำการชนเสาเข็มตอม่อ ซึ่งเป็นเสากลุ่มของสะพานตับด้านซ้ายสุด ทำให้เกิดการแตกตัวตามที่ปรากฎภาพบนสื่อหลายช่องทาง หลังจากร่วมกันตรวจสอบแล้ว แขวงทางหลวงฉะเชิงเทรา จึงได้ทำการปิดช่องจราจรด้านซ้ายสุด จุดที่โดนกระทำเพื่อเป็นการเฉลี่ยหรือลดน้ำหนักที่เลนช่องซ้ายสุด ในขณะที่ช่องทางที่ 2 และ 3 จากซ้ายเรายังเปิดให้ใช้งานได้ตามปกติ 

เนื่องจากทางผู้เชี่ยวชาญด้านสะพานจากสำนักสร้างทาง ศูนย์ปทุมธานี ได้เข้ามาดำเนินการสำรวจตรวจสอบโดยละเอียดแล้ว และกำลังอยู่ในช่วงประเมินความเสียหายและออกแบบเพื่อที่จะซ่อมแซมถาวรต่อไป โดยครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 แล้วที่เกิดการชนใหญ่กับตอม่อสะพาน นับจากที่ตนเข้ามาอยู่ที่นี่ ในขณะเดียวกันทางแขวงฯ ได้ทำหนังสือไปถึงยังผู้ที่ละเมิด เพื่อติดตามให้ผู้ละเมิดมาชดใช้ค่าเสียหายตามลำดับแล้ว โดยจะใช้ระยะเวลาในการซ่อมแซมนานเท่าใดนั้น ยังไม่ทราบ เนื่องจากแบบที่จะซ่อมยังไม่ออกมา 

ส่วนสะพานยังสามารถใช้สัญจรได้ตามปกติ ตามที่ได้แจ้งไปแล้ว โดยทำการปิดช่องทางด้านซ้ายเพื่อป้องกันอุบัติเหตุซ้ำซ้อนเท่านั้น ส่วนผู้ละเมิดยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบว่าเป็นเรือของใคร เนื่องจากเป็นบริษัทซับคอนแทรคที่รับช่วงงานกันเข้ามาหลายบริษัท จึงยังไม่ทราบว่าบริษัทที่แท้จริงเป็นอย่างไรของใครที่แน่ชัด โดยยังอยู่ระหว่างการให้ทาง จนท.ตำรวจ ติดตามหาอยู่ขณะนี้ 

สำหรับเรือที่ชนสะพานนั้น เป็นเรือพ่วงลากจูงบรรทุกสินค้าขนส่งเกี่ยวกับวัสดุก่อสร้าง ส่วนที่ชนคือ ส่วนที่ลากมาลำแรกจากทั้งหมด 3 พ่วงที่ลากมา ส่วนเสาเข็มที่เสียหายนั้นจะลุกลามไปแค่ไหน กระทบต่อชิ้นส่วนอื่นหรือไม่ อย่างไรบ้างนั้น ยังต้องรอตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง 

ในด้านมูลค่าความเสียหายและการเรียกร้องเพื่อให้เรือที่พุ่งชนชดใช้ความเสียหายอย่างไรบ้างนั้น จะมีลักษณะคล้ายคลึงกันกับการเรียกร้องค่าเสียหายจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทางบก โดยจะเรียกร้องผ่านไปยังทางบริษัทประกันภัย โดยการแจ้งความและบันทึกประจำวันต่อทาง จนท.ตำรวจ สภ.บางปะกง ไว้ และจะติดตามค่าเสียหายตามที่ได้ลงบันทึกประจำวันไว้ โดยที่ทางเรือนั้นไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ขณะที่เรือลำที่พุ่งชนนั้น ทราบว่ามีการทำประกันภัยประเภท 1 ไว้ด้วย จึงมั่นใจได้ว่าเขาจะชดใช้ให้แน่ เพียงแต่ว่า เราจะต้องมีเวลาในการตรวจสอบจากทางผู้เชี่ยวชาญหรือวิศวกรด้านโครงสร้างสะพานให้มาดำเนินการโดยละเอียด เพื่อไม่ให้ขาดจุดใดจุดหนึ่งไป 

ขณะที่การออกแบบโครงสร้างและระยะห่างของตอม่อ รวมถึงความสูงของสะพานนั้น เป็นไปตามมาตรฐานทั่วไป ที่มีช่องว่างของความสูงนั้นอยู่ในระดับของน้ำขึ้น น้ำลง ที่เป็นไปตามกลไกของธรรมชาติ โดยผู้ขับขี่เรือจะต้องมีความรู้ เหมือนกับผู้ที่ได้รับใบอนุญาตขับขี่รถทางบก ที่จะต้องทราบว่า ในเมืองควรขับที่ด้วยความเร็วเท่าไหร่ นอกเมืองขับขี่ได้ที่ความเร็วเท่าไหร่

สำหรับเทคนิคในการซ่อมแซมเสาสะพานที่ได้รับความเสียหายนั้น วิศวกรผู้เชี่ยวชาญทางด้านสะพานเท่านั้นที่จะเป็นผู้แนะนำ ว่าจะตัดเติมหรือต่ออย่างไรได้บ้าง และจะเป็นผู้ออกแบบมา โดยเราจะต้องหาบริษัทรับจ้างที่มีประสบการณ์ทางด้านงานสะพานโดยตรงเข้ามาทำ ที่ยังต้องใช้ระยะเวลา และขอยืนยันว่าช่องทางคู่ขนานที่เปิดให้ประชาชนใช้สัญจรผ่านได้ตามปกตินั้น ยังคงมีความปลอดภัย หากพบว่าไม่มีความปลอดภัยเมื่อใด เราจะปิดทันที

และหากปิดสะพาน จะมีผลกระทบต่อประชาชนที่จะใช้เส้นทางไป จ.ชลบุรีบ้าง เพราะเส้นทางในการเดินทางจะหายไปอีก 2 ช่องทาง แต่ยังมีสะพานทางหลักที่ยังสามารถให้สัญจรได้ 3 ช่องทาง ขณะนี้สะพานคู่ขนานเราปิดไปแค่เพียงช่องเดียวจากทั้งหมด 3 ช่องจราจร สรุปรวมช่องทางบนสะพานที่ยังคงรองรับการจราจรจากบางปะกงไปยัง จ.ชลบุรีคงใช้การได้จำนวน 5 ช่องจราจร 

สำหรับสาเหตุของการพุ่งชนตามที่ได้แจ้งความไว้นั้น เป็นการขับขี่โดยประมาทหรือผู้ขับขี่ไม่ชำนาญ เพราะการลากเรือผ่านร่องน้ำใต้สะพานนั้น จะต้องเผื่อระยะพ่วงท้ายไว้ด้วย โดยลักษณะของการพุ่งชนสะพานนั้น เป็นการพุ่งชนโดยตรงของเรือพ่วงลากลำแรก ไม่ใช่การเหวี่ยงเข้ามาฟาดกับตอม่อ นายทศพร กล่าว

ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยข้อมูลทางด้านวิศกรรมในเชิงโครงสร้างของสะพานแห่งดังกล่าว จากแหล่งข่าวและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องว่า เสาตอม่อสะพานที่ถูกเรือพุ่งชนนั้น เป็นเสาค้ำแถวนอกสุด โดยเป็นหนึ่งในกลุ่มเสา 38 ต้นในมัดเดียวกัน ที่ถูกออกแบบมาอย่างแน่นหนาแข็งแรงทนทาน เนื่องจากเป็นสะพานข้ามแม่น้ำ โดยเสาแต่ละต้นจะมีหน้าที่รับโหลดหรือรับน้ำหนักต้นละประมาณ 90 ตัน ขณะที่การออกแบบนั้นได้เผื่อน้ำหนักให้แต่ละต้นสามารถรับน้ำหนักได้มากกว่าโหลดที่คำนวณไว้ประมาณ 10 เท่า เพื่อรับแรงกระแทกของรถที่วิ่งขับผ่าน

เมื่อนำมาหารเฉลี่ยน้ำหนักรวมกันแล้ว จากเสาทั้งหมดในกลุ่มเดียวกัน 38 ต้น เสาที่ยังเหลืออยู่นั้นยังคงสามารถที่จะรับน้ำหนักของสะพานได้โดยไม่เกิดอันตรายใดๆ เมื่อเสาที่ทำหน้าที่ค้ำสูญเสียการรับน้ำหนักไป 1 ต้น โดยที่โหลดนั้นได้ถูกเฉลี่ยไปยังเสาต้นอื่นๆ อีก 37 ต้น แต่ยังมีข้อกังวลอยู่บ้างว่า ชิ้นส่วนที่แตกร้าวของเสาค้ำที่ถูกชนจนได้รับความเสียหาย อาจจะหลุดร่วงหล่นลงมาทับเรือที่กำลังสัญจรผ่านได้ แหล่งข่าระบุ 

 สนทะนาพร อินจันทร์/ฉะเชิงเทรา