EDU Research & ESG

อวโดยวว.จับมือMRCS/สทนช.สร้าง ศักยภาพชุมชนปท.ลุ่มแม่น้ำโขงด้วยวทน.



กรุงเทพฯ-วันนี้ ( 4 พ.ย. 2567)  ณ อาคาร 60 ปี ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีประยุกต์สู่ SMEs วว. เทคโนธานี นางสาวศุภมาส  อิศรภักดีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  มอบหมาย นางสาวสุชาดา  แทนทรัพย์  เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอว.  เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคเกี่ยวกับ"การสร้างศักยภาพชุมชน" สำหรับชุมชนจากประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ภายใต้การดำเนินโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การแปรรูปผลผลิตการเกษตรให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เพื่อช่วยส่งเสริมและสนับสนุนพี่น้องประชาชนในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงของประเทศไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ให้มีความเข้มแข็ง ส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าเกษตร สร้างรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ดีขึ้น ซึ่งดำเนินงานโดยพันธมิตรเครือข่าย ได้แก่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)  สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission  Secretariat  : MRCS) และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)  โอกาสนี้ ดร.ชุติมา   เอี่ยมโชติชวลิต  ผู้ว่าการ วว. ดร.อนุรักษ์  กิตติคุณ  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารMRCSดร.วินัย วังพิมูล ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สทนช. พร้อมด้วยกลุ่มเป้าหมายโครงการฯ เข้าร่วมการประชุม

การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-6 พฤศจิกายน 2567  เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับชุมชนลุ่มน้ำโขง พัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ชุมชน สร้างความแตกต่างและการเข้าถึงช่องทางส่งเสริมการขายในตลาดระดับประเทศ ภูมิภาค และทั่วโลก ประกอบด้วยกิจกรรมถ่ายทอดความรู้จากวิทยากรที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมสำหรับภูมิภาคแม่น้ำโขง พร้อมทั้งกิจกรรม workshop และการศึกษาดูงานโครงสร้างพื้นฐาน วว. และการดำเนินงานของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน/เกษตรกร ณ จังหวัดปทุมธานี ซึ่ง วว. เข้าไปส่งเสริมสนับสนุนได้สำเร็จเป็นรูปธรรมอาทิเช่น1) การใช้ประโยชน์จากสาหร่ายทะเลในการเกษตร อาหารและเครื่องสำอาง  2) การใช้สารชีวภาพในการผลิตข้าวและฟางการเพาะเห็ด โรคและการจัดการศัตรูพืช  3) การพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าและเพิ่มผลิตภัณฑ์  4) แนวทางการพัฒนาสมุนไพรเพื่อเพิ่มมูลค่า  5) การแปรรูปอาหารจากทรัพยากรลุ่มน้ำโขง   6) การเขียนแผนธุรกิจด้วยกลยุทธ์การดำเนินการ  7) นวัตกรรมการผลิตกล้วยหอมเพื่อลดความเสียหายจากพายุและการประยุกต์ใช้ตัวควบคุมการเจริญเติบโตของพืช  8) การจัดการทรัพยากรน้ำด้วยการปลูกกล้วยหอมทองใหญ่และ 9) การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเพื่อสร้างคุณค่าและผลิตภัณฑ์การอัพเกรด  เป็นต้น