In Thailand

'ครอบครัวเปรมประเสริฐ'พร้อมผู้ศรัทธา ทอดกฐินฯหาทุนสร้างมหาเจดีย์ศรีสุรินทร์



สุรินทร์-พลเรือตรีสุชาติ และคุณศุกลิน เปรมประเสริฐ พร้อมด้วยพุทธศาสนิกชนผู้มีจิตศรัทธา ร่วมทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาทอดกฐินสามัคคีสมบททุนสร้างมหาเจดีย์ศรีเมืองสุรินทร์

 เวลา 9.00 น. พลเรือตรีสุชาติ เปรมประเสริฐ พร้อมด้วย คุณศุกลิน เปรมประเสริฐ เดินทางไปร่วมทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ในฐานะประธานฝ่ายฆราวาส ในพิธีทอดกฐินสามัคคีสมบททุนสร้างมหาเจดีย์ศรีเมืองสุรินทร์ ณ วัดตำปูง หมู่ที่ ๙ ต.นาดี อ.เมือง จ.สุรินทร์ โดยมี พระครูโสภณธรรมรังสี เจ้าคณะอำเภอเมืองสุรินทร์-ลำดวน ธรรรมยุต เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วย พระครูสุนทรปุญญาภินันท์ เจ้าคณะตำบล นาดี (ธ), เจ้าอาวาสตำปูง เป็นรองประธานฝ่ายสงฆ์ และมีพุทธศาสนิกชนผู้มีจิตศรัทธาเข้าร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก

วัดตำปูง ตั้งอยู่บ้านเลขที่ ๑๕๑ หมู่ที่ ๙ ตำบลนาดี อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ สังกัดคณะสงฆ์ ธรรมยุตนิกาย เริ่มก่อตั้งเมื่อปลายปี พ.ศ.๒๕๓๒ ปัจจุบันมีเนื้อที่ ๙ ไร่ ๑ งาน ๓๗ ตารางวา ที่มาของชื่อตำปูง เป็นชื่อหมู่บ้านโดยประวัติความเป็นมาเริ่มแรกมีคนเข้ามาตั้งรกรากสร้างบ้านเรือนเป็นคนแรก คือ นายแป๊ะ บุญทิสุข มาจากบ้านโพธิ์ ตำบลเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ และได้ชักชวนญาติมาอยู่ด้วยก็สร้างเป็นหมู่บ้าน และได้ตั้งชื่อหมู่บ้านตามชื่อต้นไม้ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในบริเวณ คือ ต้นตำปูง  เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๒ มีพระสงฆ์สายธรรมยุตนิกาย จากสำนักสงฆ์ป่าบ้านแร่ นามว่า หลวงปู่คำนึง สีลเตโช ต่อมาชาวบ้านเรียก หลวงพ่อหนึ่ง ท่านได้เดินธุดงค์ เพื่อหาที่สงบในการปฏิบัติกรรมฐาน จนมาถึงยังบริเวณป่าช้าบ้านตำปูง ซึ่งมีต้นป่าไผ่ขึ้นรกอยู่ และเงียบสงบ เหมาะแก่การปฏิบัติ เพราะป่าช้าแห่งนี้เป็นที่ร่ำลือกันว่าเจ้าที่นั้นแรง ผีดุ แม้แต่เวลากลางวันก็ไม่มีใครอยากจะผ่านมายังบริเวณป่าช้าแห่งนี้ เมื่อชาวบ้าน ได้ทราบข่าวว่ามีพระมาทำวัตรในป่าช้า ก็ได้พากันมาทำบุญ ตักบาตร เนื่องด้วยการทำบุญ ตักบาตร หรือ ทำกิจกรรมทางด้านศาสนานั้นต้องเดินทางไปยังวัดที่อยู่ห่างไกลอกไปจากหมู่บ้านหลายกิโล เมื่อท่านมาทำวัตรชาวบ้านจึงได้ปรึกษาหารือ และรวมตัวกัน และนิมนต์ท่านมาจำพรรษาและร่วมกันสร้างสำนักสงฆ์ขึ้น โดยมี พ่อแก้ว ซึ่งมีที่ดินติดกับป่าช้าได้ศรัทธาเลื่อมใส บริจาคที่ดิน จำนวน ๑ งาน และร่วมกันตั้งชื่อวัดว่า วัดป่าสามัคคีธรรม

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ชาวบ้าน ร่วมกับ คุณวิภาวรรณ ได้ระดมทุนปัจจัยชื่อที่ดินถวายวัด จำนวน ๔ ไร่ ได้มีการถมที่ดิน สร้างกุฏิสงฆ์ขึ้นหลายหลัง และห้องน้ำอีกจำนวนหนึ่ง ปี พ.ศ. ๒๕๓๘ ได้สร้างศาลาขึ้นหนึ่งหลัง ขนาดความกว้าง ๑๘ เมตร ยาว ๓๒ เมตร ซึ่งต่อมา ได้ดัดแปลงเป็นพระอุโบสถ และได้ซื้อที่ดินเพิ่มเติมอีก ๒ ไร่ รวมเป็นที่ดิน ๖ ไร่ ก็ขออนุญาต สร้างวัด ให้เป็นวัดที่ถูกต้องตามกฎหมายขึ้น  เมื่อวันที่ ๒ เดือนมีนาคม ปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ปี พ.ศ.๒๕๔๔ ได้รับอนุญาตให้ตั้งวัดชื่อ วัดตำปูง และวันที่ ๒๑ เดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๘ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา โดยที่ผ่านมานั้นวัดตำปูง มีแต่ประธานสงฆ์ และรักษาการณ์ พระครูปราโมทย์ ธรรมวงศ์ เจ้าคณะอำเภอ จอมพระ – ท่าตูม ธรรมยุต ได้ชักชวน พระครูใบฎีกาบุญพิภัทร ปริบุญฺโญ จากวัดป่าอำปึล มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดตำปูง และได้แต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๐ ซึ่งตั้งแต่ท่านเข้ามารับตำแหน่ง ได้ดำเนินการ ทั้งอบรมคฤหัสถ์ ญาติโยม จนเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น พระครูใบฎีกาพิภัทร ได้ให้การสนับสนุนทุกๆอย่าง ที่เข้ามาขอความช่วยเหลือ หรือ ขาดแคลน ด้านการพัฒนาวัดนั้นได้สร้างถาวรวัตถุไว้มาก ได้แก่ ศาลา กุฏิ ห้องน้ำ  รวมถึงการซื้อที่ดิน เพื่อขยายบริบทของวัด ท่านได้รับพระราชทานสัญลักษณ์บัตรพัดยศ จากสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในราชทินนาม พระครูสุนทร ปุญญาภินันท์ ในตำแหน่ง เจ้าคณะตำบลชั้นเอกธรรมยุต เมื่อวันที่ ๕ เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ เป็นปีที่ ๑ ในรัชกาลปัจจุบัน

สำหรับมูลเหตุของการสร้างมหาเจดีย์ศรีเมืองสุรินทร์ มีจุดเริ่มต้นมาจากท่านได้รับมอบพระบรมสารีริกธาตุ จากประเทศศรีลังกา ท่านเห็นว่า ในจังหวัดสุรินทร์นั้น การสร้างมหาธาตุเจดีย์ เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุมีน้อย ส่วนมากจะบรรจุอัฏฐิธาตุของครูบาอาจารย์ อีกทั้งการสร้างเจดีย์นั้น เป็นการสร้างถาวรวัตถุ สร้างแล้วจะคงอยู่ได้นาน ด้วยเหตุนี้ คณะสงฆ์ วัดตำปูง จึงมีดำริสร้างองค์มหาเจดีย์ศรีเมืองสุรินทร์ เพื่อจะประดิษฐ์สถานพระบรมสารีริกธาตุ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา จึงได้บอกบุญแก่ผู้มีจิตศรัทธาสมทบทุนสร้างมหาเจดีย์ศรีเมืองสุรินทร์ เพื่อให้เป็นที่สักการะกราบไหว้ แก่บรรดาพุทธศาสนิกชน และเป็นสิ่งศักสิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองสุรินทร์จนชั่วลูกชั่วหลานต่อไป