EDU Research & ESG
'ออสซีโอแล็บส์'บริษัท Spin-off มจธ. เตรียมขึ้นแท่น Innovative SMEs
กรุงเทพฯ-“ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง เริ่มมีการใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ผนวกกับศาสตร์ด้านวิศวกรรม เพื่อประดิษฐ์สิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน คือ มุมมองที่ผมคิดว่าเป็นการเรียนวิศวกรรมยุคใหม่ โดยเฉพาะวิศวกรรมเครื่องกล ที่เราอยากเปลี่ยน mindset ของเด็กที่มักคิดว่า วิศวกรรมเรียนแล้วไปทำอะไร เรียนไปทำไมยาก ๆ เรียนไปไม่ได้ใช้ประโยชน์ จนกลายเป็นสิ่งที่ฝังใจคนเรียนวิศวฯ”
“ออสซีโอแล็บส์” จัดตั้งขึ้น ณ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เป็นบริษัท Spin-off ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ซึ่งเกิดจากแนวคิดของ ผศ. ดร.พชรพิชญ์ พรหมอุปถัมภ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่มองเห็นโอกาสในการนำศาสตร์ความรู้ด้านวิศวกรรมมาพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยเทคโนโลยีหลักที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมา คือ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีรูพรุนพิเศษแบบ Triply Periodic Minimal Surface (TPMS) ในการออกแบบอุปกรณ์การแพทย์หรือวัสดุปลูกถ่ายประเภทโลหะที่น้ำหนักเบา ความแข็งแรงสูง และมีลักษณะภายในที่ช่วยเร่งการเจริญเติบโตของกระดูก โดยโครงสร้าง TPMS เป็นโครงสร้างรูพรุนที่ขึ้นรูปด้วยสมการคณิตศาสตร์รูปแบบต่างๆ
จากผลงานวิจัยวัสดุทดแทนกระดูกประเภทมีรูพรุนเฉพาะที่ใช้องค์ความรู้ทางด้านเครื่องกลและเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติในการออกแบบและขึ้นรูป มีแนวโน้มความต้องการและขยายตัวมากขึ้น สามารถนำไปสู่การทำธุรกิจได้ในอนาคต จึงได้จับมือกับ ดร.วิกรม อาฮูยา อดีตผู้ร่วมงานและผู้คร่ำหวอดในธุรกิจสตาร์ทอัพ จัดตั้งออสซีโอแล็บส์ขึ้นในปี พ.ศ. 2565 เพื่อผลักดันงานวิจัยไทยที่มีศักยภาพระดับสากลต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งนอกจากการเป็นบริษัทเพื่อดำเนินการด้านธุรกิจอย่างเต็มตัวแล้ว “ออสซีโอแล็บส์” ยังเป็นแพลตฟอร์มเพื่อการเติบโตของนักศึกษาด้านวัสดุศาสตร์ ของภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล ใช้เป็นพื้นที่ที่นักศึกษาได้ใช้ความรู้ที่เรียนมา เพื่อลงมือทำในฐานะนักปฏิบัติ ผู้ช่วยหรือนักวิจัยของบริษัท นอกเหนือจากประสบการณ์ในห้องเรียน ออสซีโอแล็บส์ยังส่งเสริมและสนับสนุนในการหาประสบการณ์และโอกาสจากแหล่งอื่นๆ เปรียบเสมือนเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับนักศึกษา หรืออาจเรียกได้ว่า “ออสซีโอแล็บส์ คือ พื้นที่สร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่” ที่มีประสิทธิภาพสู่สังคม เศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมของประเทศ
ผศ. ดร.พชรพิชญ์ กล่าวถึงสาเหตุที่จัดตั้งออสซีโอแล็บส์ว่า ทุกภาคอุตสาหกรรม หรือแม้แต่อุตสาหกรรมทางการแพทย์ส่วนใหญ่ และอุปกรณ์ที่แพทย์ใช้ในห้องผ่าตัดเป็นศาสตร์ของเครื่องกล โดยอุปกรณ์ทางการแพทย์ราคาสูงที่ใช้กันอยู่ในประเทศส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ คำถาม คือ ถ้าเราสามารถผลิตได้เองในประเทศจะสามารถประหยัดเงินได้มากกว่าไหม และเราสามารถคิดต่อไปอีกว่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้ในปัจจุบันสามารถพัฒนาต่อได้หรือไม่ หรือไม่ใช่แค่เราผลิตเองให้หน้าตารูปแบบเหมือนบริษัทอื่น แต่สามารถทำการต่อยอดให้มีรูปแบบของเราเอง ได้ใช้เองและมีประสิทธิภาพที่ดีกว่าของที่นำเข้า ก็มองว่าเราเองมีองค์ความรู้เพียงพอที่จะสามารถทำตรงนี้ได้ ส่วนคำถามที่ว่า เรียนแล้วไม่ได้ใช้ประโยชน์นั้น หากนักศึกษาได้ลงพื้นที่ เช่น การผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ เราก็ต้องไปคุยกับคุณหมอ เข้าห้องผ่าตัดให้เขาเห็นว่าสิ่งที่เขากำลังทำมันเกิดประโยชน์อย่างไร และการทำเรื่องหนึ่งให้สำเร็จเราไม่ได้มีเพียงศาสตร์ด้านวิศวกรรมเท่านั้น แต่ต้องใช้ความรู้หลายแขนงร่วมกัน
“ที่สำคัญที่นี่ยังสอนให้รู้ว่าเรื่องที่เขาทำสามารถสร้างได้ทั้งคุณและโทษ เพราะถ้าทำงานไม่เรียบร้อยหมอและคนไข้ คือ คนที่จะได้รับความเดือดร้อนส่งผลกระทบกับชีวิตคนจริงๆ ดังนั้น นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลที่ได้เข้ามาทำในออสซีโอแล็บส์ จะถูกสอนให้มีความรับผิดชอบและให้เห็นว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้นมีผลกระทบต่อผู้ใช้งานอย่างไร ถ้าเราทำไม่ดีคนที่รับผลกระทบไปจะเป็นอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้สอนกันในห้องเรียนไม่ได้ ปัจจุบันไม่มีนักศึกษาที่แล็บคนไหนตั้งคำถามว่าเรียนแล้วไปทำอะไรอีกเลย หรือเรียนไปแล้วไม่ได้ใช้ประโยชน์ เพราะทุกคนได้ลงมือทำ และการได้เห็นสิ่งที่ทำไปเกิดประโยชน์ทั้งกับคนอื่นและตนเอง ต่อไปเขาก็สามารถนำความรู้และประสบการณ์ไปทำเรื่องอื่นๆ เช่น ไปเป็นผู้ประกอบการ หรือ ออกไปทำ Startup ได้ ซึ่งปัจจุบันแล็บแห่งนี้สามารถสร้างผู้ที่มีความสามารถเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ออกไปแล้วกว่า 25 คน”
จุดเด่นของออสซีโอแล็บส์ คือ 1. องค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก 2. ทรัพยากร (resources) ทั้งบุคลากร เครื่องมือ อุปกรณ์ และทักษะที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัย และ 3. แม้ มจธ. ไม่มีคณะแพทย์ แต่ความโดดเด่นทางด้านวิศวกรรมทำให้ได้รับความไว้วางใจจากผู้ร่วมงานด้วย และมีหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศติดต่อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
“ทั้งนี้จุดเริ่มต้นของการวิจัยพัฒนาจากที่ได้มีโอกาสพัฒนาโครงการวิจัยด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ร่วมกับสถาบันต่างๆ เช่น คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า มีเป้าหมายหลักเพื่อยกระดับคุณภาพของการรักษาผ่านนวัตกรรมทางด้านการออกแบบและเทคโนโลยีการขึ้นรูปวัสดุที่ทันสมัย ซึ่งได้รับการสนับสนุนการพัฒนางานวิจัยจากหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ปัจจุบันมีผลงานตีพิมพ์ใน Scopus ทั้งหมด 40 เรื่องและมีการอ้างอิงมากกว่า 1,000 ครั้ง นอกจากนี้เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นในกลุ่มอุปกรณ์การแพทย์สมัยใหม่ได้จดสิทธิบัตร จำนวน 16 ชิ้น ในหลายประเทศ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา” ผศ. ดร.พชรพิชญ์ กล่าว
ล่าสุด บริษัท ออสซีโอแล็บส์ จำกัด ยังได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ด้านเศรษฐกิจ ประเภทวิสาหกิจขนาดย่อมและวิสาหกิจรายย่อย จากเวทีรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2567 จัดขึ้นโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จากผลงาน“อุปกรณ์ช่วยผ่าตัดเฉพาะบุคคลด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และกระบวนการพิมพ์สามมิติ” เมื่อต้นเดือนตุลาคม และยังได้รับเลือกเป็น 1 ใน 5 บริษัทจาก NIA ในโครงการ Unicorn Factory Thailand ให้เข้าร่วมงาน TechCrunch Disrupt 2024 ที่เมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อเปิดตัวบริษัทของไทยที่มีศักยภาพในต่างประเทศ ส่งเสริมการขยายตัวและสร้างเครือข่ายการทำธุรกิจของบริษัทของไทยช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
ด้าน นายคณิต มงคลพันธุ์ นักศึกษาปริญญาโท ชั้นปีที่ 2 ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล หนึ่งในนักวิจัยออสซีโอแล็บส์ กล่าวถึงผลงานอุปกรณ์ช่วยผ่าตัดเฉพาะบุคคลด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และกระบวนการพิมพ์สามมิติว่า เป็นอีกผลงานวิจัยที่บริษัทสามารถต่อยอดไปสู่การเป็นธุรกิจ และสามารถขยายผลไปสู่การผลิตได้จริง อีกทั้งออสซีโอแล็บส์ไม่เป็นเพียงแค่แล็บวิจัยเพื่อขายของ แต่เป็นบริษัทที่เกิดขึ้นได้ด้วยการเป็น Research based เพราะฉะนั้นการที่บริษัทอยู่ได้และขยายต่อไปเรื่อยๆ ก็เป็นเพราะเรามีการพัฒนางานวิจัยอย่างต่อเนื่อง และสามารถชูงานวิจัยในประเทศให้สามารถขยายได้ในระดับโลก ส่วนตัวคิดว่างานวิจัยในประเทศไทยสามารถที่จะยกระดับขึ้นไปถึงระดับสากลได้ แม้จะติดปัญหาหลายอย่าง เช่น เรื่องเงินทุน ทำให้บางงานไม่สามารถยกระดับขึ้นไปได้ แต่ความสามารถของออสซีโอแล็บส์ที่นี่คิดว่าเป็นงานวิจัยที่เราสามารถจะขอทุนมาสนับสนุนให้งานวิจัยสามารถพัฒนาให้ออกมาจับต้องเป็นรูปธรรมได้
“จากงานวิจัยเราสามารถที่จะทำให้ผู้ป่วยทั่วประเทศและต่างประเทศ สามารถเข้าถึงการรักษาแบบนี้ได้เมื่อเราทำสเกลให้ใหญ่ขึ้นเพื่อลดต้นทุนลง ก็จะทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีนี้ได้ ซึ่งการทำงานที่นี่ยังเป็นการตอบโจทย์เราในฐานะวิศวฯ กับคำถามที่ว่าเรียนมาแล้วไปทำประโยชน์อะไร เพราะเห็นอยู่แล้วว่าสิ่งที่เรียนมาทำประโยชน์อะไรได้ และจากเดิมที่เคยคิดว่าเรื่องแพทย์กับวิศวกรรมเป็นคนละศาสตร์กัน แต่ปัจจุบันมันคือพหุศาสตร์ที่เรานำความรู้ด้านวิศวกรรมร่วมกับศาสตร์อื่นๆ มาพัฒนาเครื่องมือทางการแพทย์ในการรักษาคนไข้ได้มากขึ้น”