Digitel Tech & Innovation

สกสว.หารือปท.สมาชิกร่วมวางโรดแมป นำแพลตฟอร์มดิจิทัล-AIในเวทีGRC



กรุงเทพฯ 14 พฤศจิกายน 2567 – สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)เข้าร่วมขับเคลื่อนประเด็นการวิจัยบูรณาการข้ามศาสตร์ (Transdisciplinary research, TDR) และการบริหารงานวิจัย (Research Management) ด้วยแพลตฟอร์มดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence, AI) ในการประชุม 2024 Global Research Council (GRC) Asia Pacific Regional Meeting เพื่อเตรียมรับมือกับความท้าทายระดับโลก ความเท่าเทียมทางเพศ ความหลากหลาย และการรวมกลุ่ม ตลอดจนการประเมินงานวิจัยอย่างมีความรับผิดชอบ และการมีส่วนร่วมแบบพหุภาคี ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน

รองศาสตราจารย์ ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบ ววน. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า สกสว. ได้ขับเคลื่อนประเด็น “Transdisciplinary Research (TDR)” รวมถึงการบริหารงานวิจัยด้วย AI มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในการประชุมระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และการประชุมประจำปีที่ผ่านมา ซึ่งประเทศไทยมีกลไกและงบประมาณในการสนับสนุนความร่วมมือในการวิจัยระหว่างนักวิจัยและชุมชนมานานแล้ว ทั้งงานวิจัยเชิงพื้นที่ (Area-Based Collaborative Research-ABC) และงานวิจัยเชิงชุมชน (Community-Based Research-CBR) ที่ได้รับการสนับสนุนมาตั้งแต่สมัยยังเป็นสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ต่อเนื่องมาถึง สกสว. และหน่วยบริหารและจัดการทุน (Program Management Units, PMUs) ในปัจจุบัน อีกทั้งยังมีกลไกใหม่อย่าง CIGUS Model (C-Community, I-Industry, G-Government-U- University-S-Civil Society) ที่เชื่อมโยงการทำงานระหว่างชุมชนภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ และมหาวิทยาลัย ก่อให้เกิดองค์ความรู้ และแนวทางในการแก้ไขปัญหาในชุมชนโดยชาวบ้าน

“ระบบข้อมูลสารสนเทศการวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (National Research and Innovation Information System : NRIIS) ของประเทศไทย ที่มีส่วนช่วยในการบริหารจัดการงานวิจัย สามารถนำข้อมูลไปใช้ในการวิเคราะห์แนวโน้มและทิศทางงานวิจัยของประเทศ ตลอดจนผลลัพธ์ผลกระทบที่เกิดจากงานวิจัย เพื่อประเมินศักยภาพในการบริหารจัดการงานวิจัยของหน่วยรับงบประมาณได้ อีกทั้งประเทศไทยยังมีฐานข้อมูล ThaiRAP ที่สามารถวิเคราะห์สมรรถนะการวิจัยได้ทั้งในระดับประเทศ ระดับหน่วยงาน/มหาวิทยาลัย และระดับบุคคล โดยมีดัชนีชี้วัด (Metric) ที่หลากหลาย มีความใกล้เคียงกับการใช้ SciVal ในการวิเคราะห์ด้วย”

ขณะที่ ดร.อรกนก พรรณรักษา รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบ ววน. ด้านพัฒนาความสัมพันธ์และเครือข่าย ววน. ในต่างประเทศ สกสว. ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความร่วมมือพหุภาคีของประเทศไทยกับเป็นการทำงานร่วมกับกลุ่ม Multilateral Engagement Working Group ซึ่งเป็นหนึ่งใน Working Group ภายใต้ GRC ที่ สกสว. เป็นสมาชิก โดยได้ยกตัวอย่างกลไกการสร้างความร่วมมือแบบ multilateral ภายใต้ Belmont Forum อาทิ โครงการ Advancing Leadership ซึ่งเป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อรับฟัง รวบรวมความเห็นและความต้องการของนักวิจัยนักนโยบายและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ โดยเฉพาะบุคลากรรุ่นใหม่ ในทวีปต่างๆ ทั่วโลก เพื่อนำมาสังเคราะห์ในการนำมาออกแบบเป็นหลักสูตรการพัฒนาบุคลากรที่จะเป็นผู้นำในอนาคตต่อไป สำหรับการหารือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของหน่วยงานต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจในบริบทของแต่ละประเทศ  แต่ยังจุดประกายให้เกิดความสนใจร่วม และก่อเป็นความร่วมมือในด้านต่างๆ ของหน่วยงานสมาชิก ที่จะนำไปสู่การร่วมออกแบบแนวปฏิบัติที่ดีในด้านต่างๆ ทั้งการใช้ AI ในการทำวิจัย การสร้างความร่วมมือพหุภาคี กลไกการบริหารจัดการทุนที่ยั่งยืน และความเท่าเทียม เพื่อให้ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีความเข้มแข็งในทุกมิติ พร้อมตอบสนองต่อความท้าทายโลกได้    

ขณะที่ ข้อคิดเห็นจากการประชุมในครั้งนี้ จะถูกนำไปใช้เป็นฐานในการออกแบบทิศทางการหารือในที่ประชุม 2025 GRC Annual Meeting ซึ่งจะจัดขึ้นที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดิอาระเบียในปีหน้า โดยมี Research, Development, and Innovation Authority (RDIA), King Abdulaziz City for Science and Technology (KACST) ประเทศซาอุดิอาระเบีย และ Scientific and Technological Research Council of Türkiye (TÜBITAK) ประเทศตรุกี เป็นเจ้าภาพร่วม โดย สกสว.อยู่ระหว่างการวางแผนจัดทำข้อเสนอโครงการร่วมกับ The Dutch Research Council (NWO) ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในการจัด Side event ที่จะนำเสนอในที่ประชุม 2025 GRC Annual Meeting เพื่อขับเคลื่อนประเด็น TDR อย่างต่อเนื่องต่อไป

ทั้งนี้ GRC เป็นองค์กรเสมือนจริง (Virtual Organization) ที่มีหน่วยงานให้ทุนด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมทั่วโลกเป็นสมาชิก มีการจัดการประชุมประจำปีอย่างต่อเนื่อง โดยภายหลังจากการประชุมประจำปีแล้ว จะมีการแบ่งเป็นการประชุมระดับภูมิภาค จำนวน 5 ภูมิภาค ซึ่งการประชุมระดับภูมิภาคนั้น จัดขึ้นเพื่อรวบรวมประเด็นวิจัยสำคัญของภูมิภาคไปเสนอในการประชุมประจำปี เพื่อหาแนวทางและข้อตกลงในการทำงานร่วมกันของสมาชิกเครือข่าย การประชุมระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ครั้งนี้มี National Natural Science Foundation of China (NSFC) ประเทศจีน และ National Science Foundation (NRF) ประเทศศรีลังกา เป็นเจ้าภาพร่วม และมีหน่วยงานสมาชิกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจำนวน 18 หน่วยงาน จาก 9 ประเทศ เข้าร่วมการประชุมเพื่อหารือในประเด็นการวิจัยอย่างยั่งยืน (Sustainable Research) การจัดการงานวิจัยในยุคของ AI การทำงานร่วมกันเพื่อรับมือกับความท้าทายระดับโลก ความเท่าเทียมทางเพศ ความหลากหลาย และการรวมกลุ่ม ตลอดจนการประเมินงานวิจัยอย่างมีความรับผิดชอบ และการมีส่วนร่วมแบบพหุภาคี