In Global

เมืองหนานผิงเล็งใช้นวัตกรรมหนุน ‘อุตสาหกรรมไผ่’โตทะลุแสนล้านหยวน



ปักกิ่ง, 26 พ.ย. (ซินหัว) – อุตสาหกรรมไม้ไผ่ในเมืองหนานผิง มณฑลฝูเจี้ยนทางตะวันออกของจีน มีความเป็นมายาวนานกว่า 30 ปี และมีห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่ครบสมบูรณ์ สร้างมูลค่าผลผลิตเกือบ 5 หมื่นล้านหยวน (ราว 2.5 แสนล้านบาท) ในปี 2023 และคาดว่าจะทะลุ 1 แสนล้านหยวน (ราว 5 แสนล้านบาท) ผ่านการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรม

หนานผิง เป็นเมืองผลิตไม้ไผ่ที่สำคัญ มีพื้นที่ป่าไผ่มากกว่า 6.5 ล้านหมู่ (ราว 2.7 ล้านไร่) คิดเป็นร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั้งหมดในมณฑลฝูเจี้ยน และคิดเป็นร้อยละ 10 ของพื้นที่ทั้งหมดในประเทศ ทั้งยังครองสัดส่วนร้อยละ 10 ของผลผลิตไม้ไผ่ทั่วประเทศจีน

จ้าวเซิงอวิ๋น ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยอู่อี้ ให้ข้อมูลว่าไม้ไผ่หนานผิงมีคุณภาพสูง ก้านไผ่ใหญ่ ท่อนไผ่ยาว และเนื้อไผ่หนา เนื่องจากมีสภาพทางธรณีวิทยาที่เอื้ออำนวย ราคาไม้ไผ่หนานผิงจึงสูงกว่าไม้ไผ่ในภูมิภาคอื่นๆ เฉลี่ยอยู่ที่ตันละ 600 หยวน (ราว 3,000 บาท)

รัฐบาลท้องถิ่นได้จัดทำแผนปฏิบัติเพื่อการเปลี่ยนทรัพยากรให้กลายเป็นความได้เปรียบทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม โดยหนังสือเวียนที่เผยแพร่ในเดือนกันยายน ปี 2023 ระบุว่าหนานผิงวางแผนตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าผลผลิตทะลุ 1 แสนล้านหยวน (ราว 5 แสนล้านหยวน) ภายในปี 2030 ผ่านการสร้างระบบพัฒนาคุณภาพขั้นสูงด้วยนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ที่มีประสิทธิภาพสูงและปกป้องระบบนิเวศ

ปัจจุบัน หนานผิงเป็นแหล่งรวมโรงงานแปรรูปไม้ไผ่ 1,162 แห่ง และสร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมไม้ไผ่ที่ครบสมบูรณ์ ซึ่งประกอบด้วยบริษัทด้านเทคโนโลยีขั้นสูงระดับชาติ 42 แห่ง บริษัททางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นนำระดับมณฑล 42 แห่ง ศูนย์เทคโนโลยีระดับมณฑล 5 แห่ง ศูนย์ออกแบบอุตสาหกรรมระดับมณฑล 4 แห่ง สถาบันวิจัยและออกแบบอุตสาหกรรมระดับมณฑล 1 แห่ง และถือครองสิทธิบัตรเกี่ยวกับไม้ไผ่ถึง 2,517 รายการ

(เรียบเรียงโดย Li Shimeng, Xinhua Silk Road, https://www.xinhuathai.com/silkroad/479686_20241126 , https://en.imsilkroad.com/p/343179.html) 

ภาพประกอบข่าว
(ป่าไผ่เขียวขจีในเมืองหนานผิง มณฑลฝูเจี้ยน)